น้ำมันปาล์มแพง แตะขวดละ 60 บาท เปิดสาเหตุขึ้นราคา

ภาพจาก Pixabay

ส่องราคาปาล์มตั้งแต่พฤศจิกายน 2564 ถึงมกราคม 2565 พุ่งแตะ 10 บาท/กิโลกรัม กระทรวงเกษตรฯชี้ แนวโน้มราคาเฉลี่ยนิ่งที่ 10.11 บาท/กิโลกรัม 

วันที่ 19 มกราคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสถานการณ์ราคาน้ำมันปาล์มบรรจุขวดปรับเพิ่มขึ้น โดยจากการสำรวจราคาที่ตลาดยิ่งเจริญ (สะพานใหม่) เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2565 ข่าวสดรายงานว่า น้ำมันปาล์มปรับราคาขึ้นขวด (ลิตร) ละ 5 บาท จากราคา 55 บาท เป็น 60 บาท ตั้งแต่ช่วงปีใหม่เป็นต้นมา ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการร้านอาหาร ที่ต้องแบกรับต้นทุนที่สูงขึ้น แทบไม่เหลือกำไร

สาเหตุที่ปาล์ม-น้ำมันปาล์มแพงขึ้น

เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2564 นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน (คน.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า สาเหตุที่ราคาปาล์ม และน้ำมันปาล์มบรรจุขวด ปรับราคาสูงขึ้น เนื่องจากในปีการผลิต 2564 ผลผลิตปาล์มประเทศผู้ผลิตสำคัญของโลกอย่าง “อินโดนีเซีย” และ “มาเลเซีย” มีปริมาณผลปาล์มออกสู่ตลาดลดลงไม่น้อยกว่า 5% เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อแรงงานและการเก็บเกี่ยวผลปาล์ม จึงทำให้ภาพรวมปริมาณผลปาล์มในตลาดโลกลดลง

ประกอบกับราคาน้ำมันปาล์มในตลาดโลกสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ไทยสามารถส่งออกน้ำมันปาล์มดิบได้มากขึ้น และราคาผลปาล์มในประเทศไทยสูงขึ้นเฉลี่ยในเดือนมกราคมถึงพฤศจิกายน 2564 อยู่ที่ 6.76 บาท/กิโลกรัม

ก่อนหน้านี้ นายทศพล ขวัญรอด ประธานภาคีเครือข่ายชาวสวนยางพาราและสวนปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย (คยปท.) และเจ้าของสวนปาล์มน้ำมัน เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สาเหตุที่ปาล์มน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากปาล์มน้ำมันให้ผลผลิตน้อยจากสภาพปาล์มน้ำมันขาดคอ เพราะสภาพภูมิอากาศ ฝนตกต่อเนื่อง ห้ามนำเข้า และนำไปแปรรูปเป็นพลังงานไบโอดีเซล บี 7 และ บี 10

ราคาผลปาล์มทะลาย พ.ย. 64 – ม.ค. 65

เพื่อให้เห็นที่มาการปรับขึ้นราคาน้ำมันปาล์ม “ประชาชาติธุรกิจ” สำรวจราคาผลปาล์มทะลาย (อัตราน้ำมัน 18%) จากเว็บไซต์กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ตั้งแต่ช่วงพฤศจิกายน 2564 – มกราคม 2565 ดังนี้

พฤศจิกายน 2564 

ราคาผลปาล์มทะลาย (อัตราน้ำมัน 18%) จากแหล่งผลิตสำคัญ ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี กระบี่ และชุมพร เฉลี่ยที่ 8.75 บาท/กิโลกรัม แต่ละจังหวัดมีราคาเฉลี่ยที่แตกต่างกัน ดังนี้

  • สุราษฎร์ธานี 8.77 บาท/กิโลกรัม
  • กระบี่ 8.88 บาท/กิโลกรัม
  • ชุมพร 8.89 บาท/กิโลกรัม

ธันวาคม 2564 

ราคาผลปาล์มทะลาย (อัตราน้ำมัน 18%) จากแหล่งผลิตสำคัญ ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี กระบี่ และชุมพร เฉลี่ยที่ 8.97 บาท/กิโลกรัม แต่ละจังหวัดมีราคาเฉลี่ยที่แตกต่างกัน ดังนี้

  • สุราษฎร์ธานี 9.07 บาท/กิโลกรัม
  • กระบี่ 8.89 บาท/กิโลกรัม
  • ชุมพร 8.96 บาท/กิโลกรัม

มกราคม 2565 

ราคาผลปาล์มทะลาย (อัตราน้ำมัน 18%) จากแหล่งผลิตสำคัญ ได้แก่ จังหวัดสุราษฎร์ธานี กระบี่ และชุมพร เฉลี่ยที่ 10.34 บาท/กิโลกรัม แต่ละจังหวัดมีราคาเฉลี่ยที่แตกต่างกัน ดังนี้

  • สุราษฎร์ธานี 10.42 บาท/กิโลกรัม
  • กระบี่ 10.39 บาท/ กิโลกรัม
  • ชุมพร 10.33 บาท/กิโลกรัม

แนวโน้มสถานการณ์

หลังจากนี้ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คาดการณ์สถานการณ์การผลิตและการตลาดปาล์มน้ำมันรายสัปดาห์ 10-16 มกราคม 2565 ว่า เดือนมกราคมนี้จะมีผลผลิตออกสู่ตลาดประมาณ 0.986 ล้านตัน คิดเป็นน้ำมันปาล์มดิบ 0.177 ล้านตัน สูงขึ้นจากผลผลิตปาล์มทะลายในเดือนธันวาคม 2564 ที่ 0.929 ล้านตัน หรือมากขึ้น 6.14% และมีปริมาณน้ำมันปาล์มดิบมากกว่า  0.167 ล้านตันของเดือนธันวาคม 2564 หรือมากขึ้น 5.99% โดยราคาขายเฉลี่ยน่าจะอยู่ที่ 10.11 บาท/กิโลกรัม

ส่วนสถานการณ์ในต่างประเทศ คาดว่าในปี 2565 อินเดียจะนำเข้าน้ำมันเพื่อการบริโภคลดลง 2% เนื่องจากอินเดียมาเน้นการเพิ่มการผลิตในประเทศและมีมาตรการอนุญาตให้นำเข้าน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ได้จนถึงเดือนธันวาคม 2565 นี้ รวมถึงมีมาตรการลดภาษีนำเข้าจนถึงเดือนมีนาคม ปี 2565 คาดการณ์ว่าอินเดียจะนำเข้าน้ำมันปาล์มลดลงเหลือ 8.10 ล้านตัน จากปี 2564 ที่มีการนำเข้าอยู่ที่ 8.50 ล้านตัน

ขณะที่ราคาในตลาดต่างประเทศตลาดมาเลเซีย ราคาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันปาล์มดิบสัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 5,315.27 ดอลลาร์มาเลเซีย (42.99 บาท/กก.) ลดลงจากตันละ 5,369.46 ดอลลาร์มาเลเซีย (43.28 บาท/กก.) ในสัปดาห์ที่ผ่านมา 1.01%

ส่วนตลาดรอตเตอร์ดัม ราคาซื้อขายล่วงหน้าน้ำมันปาล์มดิบสัปดาห์นี้เฉลี่ยตันละ 1,323.75 ดอลลาร์สหรัฐ (44.44 บาท/กก.) สูงขึ้นจากตันละ 1,317.50 ดอลลาร์สหรัฐ (44.18 บาท/กก.) ในสัปดาห์ที่ผ่านมา 0.47%