ชัชชาติโพสต์กรณี “หมอกระต่าย” สะท้อนทางม้าลายไม่ได้รับความสำคัญ

ชัชชาติโพสต์กรณีหมอต่าย
ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

“ชัชชาติ” แสดงความเห็นกรณี “หมอกระต่าย” ถูกบิ๊กไบค์ชนเสียชีวิตขณะข้ามทางม้าลาย สะท้อนทางม้าลายไม่ได้รับความสำคัญ พร้อมเสนอสิ่งที่ต้องเร่งปรับปรุง

วันที่ 23 มกราคม 2565 กรณี พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล หรือหมอกระต่าย เสียชีวิตหลังถูกรถจักรยานยนต์บิ๊กไบค์ชน บริเวณทางม้าลาย หน้าสถาบันไตภูมิราชนครินทร์ ถนนพญาไท โดยผู้ขับขี่บิ๊กไบค์คือ สิบตำรวจตรี นรวิชญ์ บัวดก ผบ.หมู่ กองร้อยที่ 2 กก.อารักขา บก.อคฝ. ซึ่งต่อมาถูกแจ้งข้อหา ขับรถประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิต ตามที่ได้รายงานข่าวไปแล้วนั้น

ล่าสุด นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ว่าที่ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) โพสต์เฟซบุ๊กแสดงความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า ผมขอแสดงความเสียใจต่อการจากไปของ พญ.วราลัคน์ สุภวัตรจริยากุล ที่โดนบิ๊กไบค์ชนเสียชีวิต ขณะเดินข้ามทางม้าลาย หน้าสถาบันไตภูมิราชนครินทร์ ถนนพญาไท เมื่อวันที่ 21 มกราคม ที่ผ่านมา

ความสูญเสียดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาที่สำคัญของความปลอดภัยของการเดิน โดยเฉพาะการข้ามถนน ที่ทางม้าลายไม่ได้รับความสำคัญ หลายครั้งที่เราเห็นคนข้ามถนนบนทางม้าลาย ต้องขอบคุณรถที่หยุดรถให้ ทั้ง ๆ ที่มันเป็นสิทธิของคนข้ามถนนที่ทางข้าม

ได้ดูคลิปเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เห็นชัดเจนว่าคุณหมอข้ามทางม้าลาย รถตู้ที่มาเลนกลางชะลอให้แล้ว ส่วนบิ๊กไบค์ที่มาเลนขวาสุด มาด้วยความเร็ว ไม่มีการชะลอ แล่นแซงรถตู้และชนคุณหมอ

ปัญหาที่สำคัญที่สุดคือเรื่องวินัยจราจร ตามพรบ.จราจร พ.ศ.2522 ให้สิทธิคนข้ามถนนที่ทางม้าลายอย่างชัดเจน เช่น มาตรา 70 เมื่อเห็นทางม้าลาย ให้ชะลอความเร็วก่อนทุกครั้ง (บิ๊กไบค์ไม่ชะลอความเร็ว)

สำหรับป้ายสัญญาณทางข้าม ที่ติดตั้งอยู่ด้านบนทางข้ามนั้น หมายความว่า ทางข้างหน้ามีทางสำหรับคนข้ามถนน ถ้ามีคนกำลังเดินข้ามถนนให้หยุดรถให้คนเดินข้ามถนนไปได้โดยปลอดภัย (บิ๊กไบค์ไม่หยุดรถให้คนเดินข้าม)

ต้องมีการกวดขันวินัย จราจรกันอย่างจริงจัง ลงโทษสถานหนัก จับ ปรับ จำ ยึดใบขับขี่ ในปัจจุบัน เราจะเห็นวินัยจราจรที่หย่อนยานทั่วไปหมด พอไฟแดง แต่รถว่าง ก็ฝ่าไฟแดงกันจนเป็นเรื่องปกติ เราเห็นรถมอเตอร์ไซค์ขับย้อนศร ขับบนทางเท้า รถจอดซ้อนคัน พอมีคนไปตักเตือน ยังโดนด่ากลับมาอีก

นอกจากนี้ ลักษณะทางกายภาพของทางข้ามที่ต้องเร่งดำเนินการปรับปรุง

  • ทาสีแถบทางข้ามมีความชัดเจน ไม่กระดำกระด่าง มีความกว้างมากขึ้น เหมือนในประเทศญี่ปุ่น เพื่อให้คนที่ขับขี่รถยนต์สามารถเห็นได้ในระยะไกล
  • มีการติดตั้งไฟแสงสว่างให้เพียงพอ และสัญญาณไฟกระพริบเตือน
  • มีการติดตั้งป้ายเตือนทางข้ามไว้ล่วงหน้าก่อนถึงมีการติดตั้งกล้อง CCTV เพื่อลงโทษผู้กระทำผิดที่ไม่หยุดให้คนข้าม
  • ในจุดที่มีคนข้ามจำนวนมาก ติดตั้งสัญญาณไฟเขียวไฟแดง เพื่อให้ข้ามได้อย่างปลอดภัย

เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเร่งดำเนินการ อย่าให้ทางม้าลาย เป็นแค่สิ่งที่ช่วยให้เราบาดเจ็บหรือตายได้อย่างถูกกฎหมายเท่านั้นครับ