ที่ดินราชพัสดุ คืออะไร ทำความเข้าใจหลังบวช 2 โยคี ส่อรุกที่หลวง

สถานปฏิบัติธรรม ธรรมสถานวิโมกสิวาลัย สวนผึ้ง ราชบุรี ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก วัดท่าไม้ จังหวัดสมุทรสาคร

รู้จัก “ที่ดินราชพัสดุ” หลัง “ศรีสุวรรณ” ตั้งข้อสังเกตสำนักปฏิบัติธรรม “หลวงพี่อุเทน” ปลงผมบวชโยคี “ปอ-โรเบิร์ต” อาจรุกที่หลวง 

วันที่ 21 มีนาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผ่านไปแล้ว 25 วัน กับการเสียชีวิตอย่างมีเงื่อนงำของนาวสาวนิดา พัชรวีระพงษ์ หรือแตงโม ดาราสาว ที่จนถึงวันนี้ ยังสรุปไม่ได้ว่า การตายด้วยการขาดอากาศหายใจของดาราสาวมาจาก “อุบัติเหตุ” หรือ “มีคนทำให้เสียชีวิต”

แถมประเด็นลามเลยไปถึงหลายคนหลายฝ่าย รวมไปถึงวัดสายมูชื่อดัง “วัดท่าไม้” ที่มีพระญาณวิกรม หรือพระอุเทน สิริสาโร เป็นเจ้าอาวาสด้วย

หลังพระชื่อดังทำการปลงผมบวชพราหมณ์โยคี 2 ราย ซึ่งเป็น 2 ใน 5 ผู้อยู่ในเหตุการณ์คือ นายตนุภัทร เลิศทวีวิทย์ หรือไฮโซปอ และนายไพบูลย์ ตรีกาญจนานันท์ หรือโรเบิร์ต เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2565

ปอ-โรเบิร์ต บวชโยคี เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2565 ภาพจากข่าวสด

หลังจากนั้น กระแสวิพากษ์วิจารณ์ทั้งวัดและตัวเจ้าอาวาสหลั่งไหลถาโถม ลูกศิษย์ลูกหาพากันลอกสติ๊กเกอร์ท้ายรถที่ครั้งหนึ่งเคยนิยมแพร่หลายทิ้งแบบไม่ใยดี

ล่าสุด นายศรีสุวรรณ จรรยา ในฐานะเลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ตั้งข้อสังเกตถึงสถานปฏิบัติธรรมของวัดท่าไม้ “ธรรมสถานวิโมกสิวาลัย” ว่าบุกรุกที่ราชพัสดุหรือไม่ ?

เพราะในที่ดินของสถานที่ดังกล่าว อยู่ในพื้นที่ราชพัสดุ ตาม พ.ร.ฎ.หวงห้ามที่ดินเพื่อประโยชน์ในราชการทหาร 2481 ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนเป็นแปลงที่ รบ.553 มีกรมธนารักษ์เป็นเจ้าของที่ดิน

อีกทั้งสภาพโดยรอบเป็นภูเขา ป่าไม้ แหล่งต้นน้ำลำธาร และมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศเมียนมาด้วย ถือเป็นที่หวงห้ามตาม มาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยการหวงห้ามที่ดินรกร้างว่างเปล่าอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน 2474 แนบท้าย พ.ร.ฎ.กำหนดเขตหวงห้ามที่ดินในท้องที่ อ.เมืองกาญจนบุรี อ.วังขนาย อ.วังกะ จ.กาญจนบุรี 2481

กลายเป็นคำถามสำคัญอีกครั้ง เมื่อการใช้ประโยชน์บนที่ดิน คาบเกี่ยวกับการบุกรุกที่ดินหลวง โดยครั้งนี้คือ “ที่ดินราชพัสดุ”

อะไรคือที่ราชพัสดุ

เว็บไซต์กรมธนารักษ์ให้คำนิยามที่ราชพัสดุตามมาตรา 6 พ.ร.บ.ที่ราชพัสดุ 2562 ไว้ว่า อสังหาริมทรัพย์ที่เป็นทรัพย์สินของแผ่นดินทุกชนิด และที่ดินสงวนหรือหวงห้ามที่ใช้ในประโยชน์ของแผ่นดินโดยเฉพาะ และเพื่อประโยชน์ของราชการต่ามกฎหมาย  และมีที่ดิน 2 ประเภทที่ไม่เข้าเกณฑ์ประกอบด้วย

  1. ที่ดินรกร้างว่างเปล่าและที่ดิน ซึ่งมีผู้เวนคืนหรือทอดทิ้ง หรือกลับมาเป็นของแผ่นดินโดยประการอื่นตาม กฎหมายที่ดิน
  2. อสังหาริมทรัพย์สำหรับพลเมืองใช้หรือสงวนไว้เพื่อประโยชน์ของพลเมืองใช้ร่วมกัน เป็นต้นว่า ที่ชายตลิ่ง ทางน้ำ ทางหลวง ทะเลสาบ ส่วนอสังหาริมทรัพย์ของรัฐวิสาหกิจที่เป็นนิติบุคคล และขององค์การปกครองท้องถิ่นไม่ถือว่าเป็นที่ราชพัสดุ

ตามกฎหมายเมื่อปี 2562 มอบหมายให้กระทรวงการคลังเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ราชพัสดุ ส่วนกรมธนารักษ์มีหน้าที่ปกครอง ดูแล และบำรุงรักษาที่ดินดังกล่าว รวมถึงการขึ้นทะเบียนที่ดินเป็นที่ดินราชพัสดุด้วย

การขอใช้ที่ราชพัสดุ

ตามกฎหมายแล้ว ระบุถึงผู้ที่มีสิทธิขอใช้ที่ดินดังกล่าวอยู่ 5 กลุ่ม ได้แก่

  1. กระทรวง ทบวง กรม เช่น กระทรวงกลาโหม สำนักนายกรัฐมนตรี กรมสรรพากร เป็นต้น
  2. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) หมายถึง อบจ. เทศบาล อบต. กรุงเทพมหานคร
    เมืองพัทยา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นที่มีกฎหมายจัดตั้ง
  3. หน่วยงานของรัฐ เช่น สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน เป็นต้น
  4. องค์กรอื่นของรัฐ เช่น สถาบันพระปกเกล้า กองทุนสนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงาน คปภ.เป็นต้น
  5. รัฐวิสาหกิจที่เป็นนิติบุคคลที่มีสิทธิใช้ ที่ราชพัสดุตามกฎหมาย รัฐวิสาหกิจที่ปกครองดูแลหรือใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุก่อนวันที่ 31 พฤษภาคม 2519 และทำความตกลงเกี่ยวกับการใช้ที่ราชพัสดุกับกรมธนารักษ์ตามกฎกระทรวง 2545 แล้ว

โดยทุกแห่งมีสิทธิเข้าไป “ใช้” ยกเว้นองค์กรอื่นของรัฐและรัฐวิสาหกิจที่ไม่เข้าใช้ที่ก่อนปี 2519 เท่านั้น ที่อาจจะมีการมอบหมายนำไป “เช่าหารายได้ได้” ทั้งนี้เป็นไปตามที่คณะกรรมการที่ราชพัสดุกำหนด

ตัวอย่างสัญญาที่เช่าที่ดินราชพัสดุ ภาพจากเว็บไซต์กรมธนารักษ์

ปล่อยเช่า 4 แบบ

อย่างไรก็ตาม ก็มิใช่ว่า ประชาชนจะไม่สามารถเข้าใช้ประโยชน์ในที่ดินราชพัสดุได้เลย ในกฎหมายระบุว่า หากมีที่ราชพัสดุที่สงวนไว้ แต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในทางราชการ สามารถนำมาจัดให้เช่าหรือจัดทำสัญญาต่างตอบแทนอื่นเป็นการชั่วคราวได้ ใน 4 ประเภท ได้แก่

  1. ให้เช่าที่ดินเพื่ออยู่อาศัย
  2. ให้เช่าที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรม
  3. ให้เช่าที่ดินเพื่อประโยชน์อย่างอื่น
  4. ให้เช่าอาคารราชพัสด

ทั้งนี้ ผู้ที่จะเข้าขอทำประโยชน์ ต้องขออนุญาตกรมธนารักษ์ก่อน โดยผู้ใช้ที่ราชพัสดุต้องให้ความยินยอมให้ดำเนินการจัดให้เช่า โดยมีผู้มีอำนาจให้เช่าและยกเลิกสัญญาเช่า คือ อธิบดีกรมธนารักษ์ หรือผู้ว่าราชการจังหวัด, ธนารักษในพื้นที่ หรือตัวผู้ใช้เป็นผู้ดำเนินการแทนก็ได้

นอกจากนี้ หลักเกณฑ์การขอเช่าเข้าทำประโยชน์ก็แยกเป็นหน่วยงานของรัฐ กับเอกชนด้วย โดยหน่วยงานรัฐมีหลักการ ดังนี้

  1. หากเป็นสวัสดิการภายในหน่วย ไม่ทำสัญญาเช่า
  2. หากเป็นสวัสดิการเชิงธุรกิจ ต้องขออนุญาตทำสัญญาเช่ากับกรมธนารักษ์ก่อน

ส่วนหน่วยงานเอกชนต้องขออนุญาตกับหน่วยงานที่ครอบครองที่ดินราชพัสดุก่อน เมื่อหน่วยงานอนุญาตจึงแจ้งความประสงค์ขอเช่าต่อกรมธนารักษ์ พร้อมแนบหนังสือให้ความยินยอมใช้ประโยชน์หน่วยงานราชการผู้ครอบครอง จากนั้น กรมธนารักษ์พิจารณาจัดให้เช่าตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยการจัดหาประโยชน์ในที่ราชพัสดุต่อไป

นี่คือส่วนหนึ่งของคำว่า ที่ราชพัสดุ ส่วนที่ดินสำนักปฏิบัติธรรมดังกล่าวจะอยู่ในข่ายของ “ที่ดินราชพัสดุ” หรือไม่ คงต้องใหเกรมธนารักษ์ตรวจสอบแล้ว