รู้จัก พราหมณ์-โยคี หลังหลวงพี่อุเทนปลงผม ปอ-โรเบิร์ต

โยคีปอ-โรเบิร์ต ภาพจากข่าวสด

เข้าใจความแตกต่างระหว่าง พราหมณ์ กับ โยคี หลังพระอุเทนปลงผม “ปอ-โรเบิร์ต” บวชพราหมณ์โยคี อุทิศบุญให้ “แตงโม นิดา”

วันที่ 18 มีนาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากพระญาณวิกรม หรือพระอุเทน สิริสาโร เจ้าอาวาสวัดท่าไม้ นำนายตนุภัทร เลิศทวีวิทย์ หรือ ไฮโซปอ และ นายไพบูลย์ ตรีกาญจนานันท์ หรือโรเบิร์ต ทำพิธีบวชเป็นโยคีเมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา

โดยการบวชครั้งนี้ พระอุเทนให้สัมภาษณ์ว่า เป็นการบวชแบบพราหมณ์ หรือโยคี ถือศีล 8 นอกจากเป็นการนำบุคคลทั้ง 2 เข้าสู่บวรแห่งพระพุทธศาสนาแล้ว ยังเป็นกุศโลบายอย่างหนึ่งที่จะดึงทั้งสองคนไม่ให้หลบลี้หนีไปไหน สามารถที่จะติดตามตัวได้ตลอดด้วย

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ช่วงที่เกิดประเด็นการเสียชีวิตของนางสาวนิดา พัชระวีรพงษ์ ใหม่ ๆ ทางปอ-โรเบิร์ต ต้องการบวชพระ เพื่อุทิศส่วนกุศลให้ แต่วัดท่าไม้ปฏิเสธเนื่องจากมีคดีความติดตัวอยู่ เป็นข้อต้องห้ามของคณะสงฆ์ ไม่สามารถบวชได้

ดังนั้น การบวชแบบพราหมณ์หรือโยคี จึงมาเป็นทางเลือกแทน แต่การบวช “พราหมณ์” และ “โยคี” เป็นสิ่งเดียวกันหรือไม่ และมีข้อแตกต่างอย่างไรในสังคมไทยที่นำ “พุทธ-พราหมณ์-ผี” ผสมรวมกัน “ประชาชาติธุรกิจ” พาไปหาคำตอบกัน

บวชพราหมณ์-ถือโยคี สิ่งเดียวกัน?

หากว่ากันตามหลักศาสนาพราหมณ์-ฮินดู การบวชเป็นพราหมณ์ถือเป็นสิ่งที่ต้องว่ากันตามชาติกำเนิด เพราะวรรณะพราหมณ์ถือเป็นวรรณะที่สูงที่สุดในบรรดาวรรณะทั้ง 4 ของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู  เนื่องจากมีหน้าที่ในการสอนและรักษาความรู้อันศักดิ์สิทธิ์ ดังนั้น การบวชพราหมณ์จึงเป็นเรื่องสงวนสำหรับผู้ที่มีชาติกำเนิดเท่านั้น

ส่วน โยคี ที่เข้าใจกันว่า เป็นการเรียกบุคคลที่เป็นนักบวชและมีความหมายเหมือนกับคำว่า “ฤาษี” “นั้น เว็บไซต์ศิลปวัฒนธรรมเปิดเผยว่า แท้จริงแล้ว โยคี เป็นลัทธิความเชื่อหนึ่งที่แตกแขนงออกมาจากศาสนาพราหมณ์-ฮินดู โดยโยคีจะถือเอาการฝึกโยคะ ซึ่งเป็นหนึ่งในษัฆทรรศนะ หรือ ทรรศนะ 6 ประการตามความเชื่อมาถือปฏิบัติ เพื่อให้ถึง “โมกษะ” เป็นเป้าหมายสูงสุดในการไม่กลับมาเวียนว่ายตายเกิดอีก

อย่างไรก็ตาม บทประพันธ์ “พุทธศาสนากับสังคมไทย” ของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ก็ได้เผยอีกแง่มุมว่า เมื่อสิทธัตถะกุมารออกบรรพชาก่อนตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ก็ทรงบำเพ็ญโยคะอยู่ระยะหนึ่ง จากนั้นจึงได้ทรงบำเพ็ญตบะอันเป็นทุกรกิริยา แล้วเปลี่ยนมาทรงดำเนินตามมัชฌิมาปฏิปทา จึงได้ตรัสรู้

ดังนั้น จึงสรุปว่า พราหมณ์ กับ โยคี ถือเป็นสิ่งที่เกี่ยวเนื่องกัน แต่หากยกหลักการมาว่าจริง ๆ ถือว่าทั้งสองอย่างไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนาโดยตรง

ชาวอินเดียผู้ร่วมกิจกรรมโยคะในกรุงนิวเดลี วันที่ 21 มิถุนายน 2016 (AFP PHOTO / CHANDAN KHANNA)

การบวชในศาสนาพุทธ

รายงานวิจัย เรื่อง พฤติกรรมการบวชของคนไทย โดย รศ.ดร.จำนงค์ อดิวัฒนสิทธิ์ เมื่อปี 2538 ฉายภาพว่า การบวชในศาสนาพุทธมี 2 แบบ คือ บวชเป็นภิกษุ กับ บวชเณร เท่านั้น แต่ขณะเดียวกัน ก็มีการพูดถึง “การบวชจิตใจ” ซึ่งไม่ต้องยึดรูปแบบว่าต้องเป็นพระสงฆ์ หรือ สามเณร

การบวชจิตใจ ตามหลักแล้ว จะให้ผู้ที่ต้องการบวชถือ “พรหมจรรย์ 10” ประกอบด้วย 1.การทำทาน 2.ทำความเห็นให้ตรง 3.การรักษาศีลห้า 4.แผ่เมตตาเป็นประจำทุกค่ำเช้า 5.การงดเว้นเมถุนธรรม คือไม่ยินดีในกาม 6.ยินดีเฉพาะในคู่ครองของตนเอง 7.เพียรในการเจริญสมาธิภาวนา 8.รักษาศีลแปด 9.บำเพ็ญอริยมรรคมีองค์แปด และ 10.ปฏิบัติอยู่ในไตรสิกขาได้แก่ ศีล สมาธิ ปัญญา

ภาพจากเพจเฟซบุ๊ก ยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (ย.พ.ส.)

เหล่านี้ เป็นเพียงหลักการเบื้องต้นในการทำความเข้าใจ “การบวช” ในปัจจุบันที่มีการผสมเอาหลักการของศาสนาต่าง ๆ มารวมกัน แต่ในกระแสธารความเป็นเมืองที่รับทุกความศรัทธามาใช้ได้กับทุกจังหวะชีวิต จึงถือเป็นเรื่องดีเช่นกันที่ได้เรียนรู้ไว้