ศบค.จ่อใช้เทคโนโลยีใหม่ LAAB ฉีดปุ๊บภูมิขึ้นทันที กันโควิดได้ 6-12 เดือน

REUTERS/Ajeng Dinar Ulfiana/File Photo

ศบค.เผยเตรียมใช้เทคโนโลยีใหม่ Long-acting antibody(LAAB) หรือภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป ฉีดปุ๊บมีภูมิคุ้มกันขึ้นมาทันที ใช้ฉีดในกลุ่มเสี่ยงที่ไม่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ด้วยวัคซีน ระบุร้อยละ 83 ลดความเสี่ยงติดเชื้อของสายพันธุ์โอมิครอนได้ ป้องกันโควิด-19 ได้ 6-12 เดือน เตรียมขอปรับสัญญากับบริษัท AstraZeneca ใหม่

วันที่ 8 เมษายน 2565 นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยช่วงหนึ่งระหว่างแถลงสถานการณ์ประจำวันว่า มีชุดข้อมูลจากกองระบาดวิทยาถึงเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ภายหลังได้รับวัคซีนป้องกัน covid-19 ที่มีการฉีดไปทั้งหมดกว่า 130 ล้านโดสว่า มีอาการไม่พึงประสงค์ที่พบบ่อยในวัคซีนทุกชนิด ได้แก่ มีไข้ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดเมื่อยตามตัว

นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.)
นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.)

ส่วนเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ร้ายแรงที่เกี่ยวข้องกับวัคซีนมีจำนวน 123 ราย คิดเป็น 0.9 รายต่อล้านโดส ส่วนเหตุการณ์เสียชีวิตที่สรุปได้ว่าเกี่ยวกับวัคซีนมีจำนวน 6 ราย คิดเป็น 0.04 ราย ต่อล้านโดส

“หลายๆคนกลัววัคซีน โดยเฉพาะคนสูงอายุ การบอกตัวเลขเหล่านี้อาจทำให้ท่านมีความสบายใจขึ้นที่จะไปรับวัคซีน โดยเฉพาะคนสูงอายุที่ตอนนี้มีความเชื่อว่าฉีดไปแล้วจะเสียชีวิต นู่น นี่ นั่น จะได้เข้าใจและเห็นตัวเลขนี้จะได้เข้ามาฉีดวัคซีนมากขึ้น สำหรับคนที่ติดเชื้อโควิดมาแล้ว หากเว้นไป 3เดือนแล้วขอให้ไปฉีดวัคซีนได้เลย” นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าว และว่า

เหตุไม่พึงประสงค์จากฉีดวัคซีน

ที่ประชุมศบค.วันนี้ได้รับทราบแผนการจัดหา Long-acting antibody(LAAB) หรือภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป(Passive immunity) สำหรับกลุ่มเสี่ยงสูงที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เป็นยาอย่างหนึ่งเหมือนวัคซีนฉีดภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป กล่าวคือพอฉีดแล้วจากเดิมที่จะมีการค่อยๆสร้างภูมิคุ้มกัน แต่สำหรับเทคโนโลยีใหม่นี้ ฉีดแล้วมีภูมิคุ้มกันขึ้นมาทันที สำหรับฉีดในกลุ่มเสี่ยงสูงที่ไม่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ด้วยวัคซีน เช่นคนที่มีโรคประจำตัว มีภูมิคุ้มกันต่ำ หรือให้ก่อนการสัมผัสโรคก็ได้ เป็นเทคโนโลยีใหม่

“สำหรับกระบวนการจัดหาจะต้องมีการไปปรับสัญญา โดยหารือกับอัยการสูงสุดแล้วแนะนำให้ปรับสัญญากับบริษัท AstraZeneca โดยเปลี่ยนจากวัคซีน AstraZeneca บางส่วน โดยอยู่ในกรอบวงเงินงบประมาณเดิมที่ครม.อนุมัติแล้ว และไม่ต้องเสียงบประมาณเพิ่ม ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบในหลักการและให้กระทรวงสาธารณสุขจัดหามาเพื่อช่วยเหลือพี่น้องประชาชน” นายแพทย์ทวีศิลป์กล่าว

สำหรับรายละเอียดของ Long-acting antibody(LAAB) ผ่านการรับรองการใช้แบบฉุกเฉิน EUA โดย US FDA เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2564 ขึ้นทะเบียนยาโดย บริษัท AstraZeneca ประเทศอังกฤษเมื่อเดือนมิถุนายน 2564 มีข้อบ่งใช้ในกลุ่มเป้าหมายผู้ที่มีความเสี่ยงสูงที่ภูมิคุ้มกันต่ำ โดยให้ก่อนการสัมผัสโรคสำหรับเชื้อไวรัสโควิด มีขนาดการใช้คือฉีดเข้ากล้ามทุก 6เดือน ภูมิต้านทานสามารถป้องกันโควิด 19 ได้ 6-12 เดือนต่อการให้ 1 ครั้ง

ส่วนประสิทธิผล ร้อยละ 83 ในการลดความเสี่ยงของอาการรุนแรงของโควิด 19 สายพันธุ์ Omicron sub variants BA.1 BA.2 และ BA.1.1

ภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป(Passive immunity)