ราชกิจจาฯ ประกาศแล้ว “เปิดประเทศ-ฟื้นฟูเศรษฐกิจ” 5 ด้านหลัก 1 พ.ค.นี้

ราชกิจจานุเบกษาฯ-ประกาศราชกิจจาฯ

ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ ข้อกำหนดตามความในมาตรา 9 พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ศบค.ประกาศมาตรการปลดล็อกเปิดประเทศ ฟื้นฟูเศรษฐกิจ ควบคู่มาตรการทางด้านสาธารณสุข  5 ด้านหลัก เริ่มวันที่ 1 พ.ค. 2565 นี้

วันที่ 30 เมษายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 44) ลงนามโดยพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

สำหรับสาระสำคัญของประกาศฉบับดังกล่าวระบุว่า ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ. 2563 และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไปอย่างต่อเนื่องเป็นระยะนั้น

ฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19
เครดิตภาพ : CVC กลางบางซื่อ

โดยที่สถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในปัจจุบันมีแนวโน้มที่คลี่คลายลง จากการตรวจพบผู้ติดเชื้อ และจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลในจำนวนที่ลดลง อีกทั้งประชาชนกลุ่มเป้าหมายที่เข้ารับวัคซึนเข็มกระตุ้น (Booster Dose) ได้เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง ปริมาณยาและเวชภัณฑ์ บุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงจำนวนเตียงรองรับผู้ป่วยหนักและผู้ป่วยวิกฤตอยู่ในระดับเพียงพอ

อันเป็นผลมาจากการบริหารจัดการและควบคุมการระบาดของฝ่ายสาธารณสุขและพนักงานเจ้าหน้าที่ ภาครัฐและเอกชน รวมทั้งประชาชนทุกภาคส่วนที่ร่วมมือร่วมใจปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรค ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ยกย่องให้ประเทศไทยเป็นประเทศต้นแบบที่มีการบริหารจัดการและรับมือกับการระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นักท่องเที่ยวต่างชาติ
Photo by Lillian SUWANRUMPHA / AFP

ประกอบกับข้อมูลที่ฝ่ายสาธารณสุขได้รายงานว่า ผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจหรือเดินทางเข้ามาในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว แม้จะตรวจพบผู้ติดเชื้ออยู่บ้างแต่ก็มีจำนวนน้อยและสามารถควบคุมได้ จึงมิได้เป็นปัจจัยที่มีผลให้การติดเชื้อในประเทศเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์ทั่วโลกที่หลายประเทศได้เริ่มมีการผ่อนคลายมาตรการป้องกันและควบคุมโรค และเปิดประเทศควบคู่ไปกับการส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

ดังนั้น เพื่อฟื้นฟูความเป็นอยู่ของประชาชนให้ใกล้เคียงกับภาวะปกติ และเพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องควบคู่ไปกับการบริหารจัดการด้านสาธารณสุขอย่างมีประสิทธิภาพ รัฐบาลโดยข้อเสนอของฝ่ายสาธารณสุข จึงได้พิจารณาผ่อนคลายมาตรการควบคุมและป้องกันโรคให้สอดคล้องกับสถานการณ์

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลายตามคำแนะนำของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) (ศบค.) ดังต่อไปนี้

ร้านอาหาร

ข้อ 1 การปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัดตามพื้นที่สถานการณ์และการกำหนดพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวเพิ่มเติม 

  • สาระสำคัญ คำสั่งปรับปรุงเขตพื้นที่จังหวัดจำแนกตำมเขตพื้นที่สถานการณ์และกำหนดพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว ตามบัญชีรายชื่อจังหวัดแนบท้ายคำสั่ง เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดที่เกิดขึ้นในปัจจุบันและเป็นไปตำมแผนกการเปิดประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐบาล

ข้อ 2 การขยายเวลาการบังคับใช้มาตรการควบคุมและป้องกันโรค

  • สาระสำคัญ ยังห้ามการจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค

ข้อ 3 การปรับปรุงมาตรการควบคุมแบบบูรณาการในพื้นที่เฝ้าระวังสูง และพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว

  • สาระสำคัญ อนุญาตให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านจากไม่เกิน 23.00 น. เพิ่มเป็นไม่เกิน 24.00 น.หรือเที่ยงคืน แต่มีเงื่อนไขต้องเป็นร้านอาหารที่ผ่านมาการประเมินมาตรฐาน SHA+ หรือ Thai Stop COVID 2 Plus หรือตามมาตรการ COVID Free Setting

ข้อ 4 การปรับปรุงการกำหนดผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร

สาระสำคัญ

  • 1.ผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งแสดงหลักฐานการรับรองการได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ครบตามเกณฑ์ที่ผู้ผลิตวัคซีนหรือที่ทางราชการกำหนด(Vaccinated Persons)
  • 2.ผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งมิได้แสดงหลักฐานรับรองกำรได้รับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ครบตามเกณฑ์ที่ผู้ผลิตวัคซีนหรือที่ทางราชการกำหนด (Unvaccinated/ Not FullyVaccinated Persons)
  • 3.ผู้มีเหตุยกเว้นที่นายกรัฐมนตรีหรือหัวหน้ำผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินกำหนดอนุญาต หรือเชิญเข้ามาในราชอาณาจักรตามความจำเป็น

ข้อ 5 การเตรียมความพร้อมรองรับการเปิดภาคเรียนที่ 1/2565

  • สาระสำคัญ ให้กระทรวงสาธารณสุขโดยกรมอนามัยร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินมาตรการเพื่อความพร้อมรองรับการเปิดภาคเรียนที่ 1/2565 โดยให้กำกับ ติดตาม เฝ้าระวังตามความเหมาะสมกับสถานการณ์ เพื่อมุ่งสร้างความปลอดภัยในสถานศึกษา ทั้งนักเรียน ผู้ปกครอง ครูและบุคลากรทางการศึกษา

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษาคม พ.ศ. 2565 เป็นต้นไป

คลิกดูประกาศฉบับเต็มที่นี่