ศบค.ยันไม่ยกเลิก Thailand Pass เปิดด่าน 17 จังหวัดรับเพื่อนบ้าน 1 พ.ค.นี้

แพทย์หญิงสุมนี วัชรสินธุ์
แพทย์หญิงสุมนี วัชรสินธุ์

ศบค.ยันยังไม่ยกเลิก Thailand Pass เดินทางเข้าประเทศ แต่ปรับมาตรการ-ขั้นตอนให้เร็วขึ้น เปิดรายชื่อ 17 จังหวัดเตรียมเปิดด่านถาวรรับนักท่องเที่ยวจากประเทศเพื่อนบ้าน 1 พ.ค.นี้ สั่งสถานศึกษาเปิดเรียนออนไซต์ให้ได้มากที่สุด แนะผู้ปกครองรีบนำบุตรหลานมาฉีดวัคซีนก่อนเปิดเทอม หลีกเลี่ยงเกิดภาวะ MIS-C (มิสซี) ชี้ตัวเลขผู้ป่วยใหม่ลดลง คาดทยอยผ่อนคลายมาตรการลงเรื่อย ๆ ขณะที่ตัวเลขผู้เสียชีวิต-ยอดฉีดวัคซีน ยังห่างเป้าปลดเป็นโรคประจำถิ่น

วันที่ 28 เมษายน 2565 แพทย์หญิงสุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงสถานการณ์ประจำวัน โดยช่วงแรกแพทย์หญิงสุมนี กล่าวสรุปถึงมติจากที่ประชุมของศบค.ชุดใหญ่ เมื่อวันที่ 22 เมษายน ซึ่งมีประมาณ 3-4 เรื่องว่า

แจงมาตรการ ศบค.มีผลบังคับใช้ 1 พ.ค.นี้

เรื่องแรก คือการปรับระดับพื้นที่ของสถานการณ์ตามมาตรการควบคุมโรคตามพื้นที่สี โดยกำหนดพื้นที่สีใหม่เป็นพื้นที่เฝ้าระวังสูงจาก 47 จังหวัดเพิ่มเป็น 65 จังหวัด และพื้นที่สีฟ้านำร่องท่องเที่ยวจาก 10 จังหวัดเพิ่มเป็น 12 จังหวัด(รวม 77 จังหวัด) โดยยุบพื้นที่ควบคุมสีส้มออกไป มีผลวันที่ 1 พ.ค. 2565

การปรับระดับพื้นที่สีใหม่

ปรับมาตรการเดินทางเข้าประเทศ

สำหรับมาตรการในพื้นที่สีเหลืองที่เพิ่มเข้ามา คือ 1.อนุญาตให้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านจากไม่เกิน 23.00 น. เพิ่มเป็นไม่เกิน 24.00 น.หรือเที่ยงคืน แต่มีเงื่อนไขต้องเป็นร้านอาหารที่ผ่านมาการประเมินมาตรฐาน SHA+ หรือ Thai Stop COVID 2 Plus หรือตามมาตรการ COVID Free Setting

เรื่องที่สองคือการปรับมาตรการป้องกันโรคในการการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ทั้งทางอากาศและทางบก โดยทางอากาศแบ่งเป็น 2 กลุ่มคือกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ได้รับวัคซีนครบตามเกณฑ์ ต้องดำเนินการ 3 ข้อ คือ1.การลงทะเบียนผ่าน Thailand Pass เพื่อยื่นหลักฐานการได้รับวัคซีนครบ

2.ทำประกันภัยที่ไม่น้อยกว่า 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ 3.เมื่อเดินทางมาถึงไม่ต้องตรวจโควิดแบบ RT-PCR แล้ว หากมีอาการให้คัดกรองและตรวจ ATK ด้วยตนเองได้เลย และหากพบเชื้อให้เข้าสู่ระบบการรักษาตามกระบวนการตามประกันภัยหรือตามความรับผิดชอบส่วนบุคคล

มาตรการการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร

แจงเกณฑ์ 2 กลุ่มเข้าประเทศ ฉีดวัคซีนครบ/ไม่ครบ

ส่วนกลุ่มที่สอง เป็นกลุ่มนักเดินทางที่ไม่ได้รับวัคซีนหรือด้รับวัคซีนไม่ครบตามเกณฑ์ กลุ่มนี้เมื่อเข้ามาจะต้องกักตัวใน AQ 5วัน ถ้าหากไม่ต้องการถูกกักตัวก็จะต้องตรวจโควิดแบบ RT-PCR จากประเทศต้นทาง หากผลตรวจเป็นลบก็จะทำเหมือนกับกลุ่มที่ได้รับวัคซีน แต่ทั้งนี้ยังจะต้องผ่านระบบการลงทะเบียนผ่าน Thailand Pass อยู่ และต้องมีการทำประกันภัยอย่างน้อย 10,000 ดอลลาร์สหรัฐเช่นกัน

สำหรับผู้สัมผัสเสี่ยงสูงมีการปรับเปลี่ยนเล็กน้อย จากเดิมผู้สัมผัสเสี่ยงเสี่ยงจะต้องกักตัว 7 วัน และสังเกตอาการ 3 วัน ปรับมาเป็นกักตัวเหลือ 5 วันและสังเกตอาการอีก 5 วัน โดยจะต้องมีการตรวจ ATK ในวันที่ 5 และในวันที่ 10

เปิดด่านถาวร 17 จังหวัดรับเพื่อนบ้าน

ส่วนมาตรการผ่านทางบกหรือผ่านจุดผ่านแดนถาวรจะมี 2 กรณี

กรณีแรก ถ้าเป็นคนไทย เดินทางผ่านทางบกไม่ต้องทำประกันภัย แต่มีเงื่อนไขเช่นเดียวกับการเดินทางผ่านเข้ามาทางอากาศ กล่าวคือ ถ้าได้รับวัคซีน ไม่ต้องกักตัว แต่ถ้าวัคซีนไม่ครบและผลตรวจ RT-PCR เป็นลบ ภายใน 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทางก็ไม่ต้องกักตัวเช่นเดียวกัน แต่ถ้าได้รับวัคซีนไม่ครบก็จะต้องกักตัวในสถานที่กักกัน และต้องทำตามเงื่อนใขในเรื่องของการตรวจแบบ RT-PCR

สำหรับจังหวัดที่ดำเนินการตามมาตรการป้องกันโรคสำหรับผู้เดินทางผ่านแดนทางบก เฉพาะจุดผ่านแดนถาวร 17 จังหวัด ที่มีชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ประกอบด้วย 1.เลย 2.นครพนม 3.หนองคาย 4.มุกดาหาร 5.บึงกาฬ 6.ศรีสะเกษ 7.สุรินทร์ 8.สระแก้ว 9.จันทบุรี 10.ตราด 11.ตาก 12.กาญจนบุรี 13.ระนอง 14.สงขลา 15.นราธิวาส 16.ยะลา 17.สตูล ซึ่งเป็นจุดผ่านแดนถาวรที่เป็นมติของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดได้พิจารณาแล้วก็จะมีผลวันที่ 1 พ.ค. 2565 นี้ และยังมีรออีก 2 ด่านคือจังหวัดน่านกับอุบลราชธานี

“จากภาพจะเห็นว่าบางจังหวัดมีจำนวนด่านมากกว่า 1จุด อย่างเลยมี 4 ด่าน นราธิวาสมี 3 ด่าน” แพทย์หญิงสุมนีกล่าว

แนวทางฉีดวัคซีนกลุ่มเด็ก

สั่งสถานศึกษาเปิดเรียนออนไซต์ให้มากที่สุด

สำหรับเรื่องที่สาม เป็นเรื่องการเตรียมความพร้อมสำหรับสถานศึกษาที่จะเปิดเรียนในช่วงเดือนพฤษภาคมมี 2 เรื่องคือ

เรื่องแรกคือ เน้นให้สถานศึกษาเปิดเรียนออนไซต์ให้ได้มากที่สุด ถ้ามีผู้ติดเชื้อทั้งครู นักเรียน บุคลากรในโรงเรียนให้ปฏิบัติตามแผนเผชิญเหตุที่ได้มีรายละเอียดที่เตรียมการไว้แล้ว

“ขอเน้นย้ำว่าถ้ามีหรือพบว่ามีผู้ติดเชื้อที่อยู่ในโรงเรียน ไม่ว่าจะเป็นครู นักเรียน หรือบุคลากรในโรงเรียนก็ตาม ไม่จำเป็นต้องปิดทั้งโรงเรียน” แพทย์หญิงสุมนีกล่าวย้ำ

เรื่องที่สองคือเรื่องที่มีมติให้ศึกษาธิการจังหวัด และสาธารณสุขจังหวัดได้มีการเตรียมการวางแผนฉีดวัคซีนให้กับนักเรียนให้ครบตามเกณฑ์ภายใน 1 เดือนนี้ ก่อนที่จะเปิดเทอม โดยกลุ่มอายุ 12-17 ปีที่จะต้องไปรับเข็มกระตุ้นต้องรับให้ครบ ซึ่งก็ขอเชิญชวนผู้ปกครองให้พาเด็กมารับวัคซีนให้ครบก่อนเปิดเรียน โดยจะฉีดครึ่งโดสหรือเต็มโดสก็ได้

มาตรการเร่งฉีดวัคซีนในเด็กก่อนเปิดเทอม

แนะพาเด็กเร่งฉีดวัคซีน เลี่ยงภาวะ MIS-C (มิสซี)

“มีพ่อแม่หรือผู้ปกครองหลายท่านที่กังวลเรื่องอาการข้างเคียง หรืออาการไม่พึงประสงค์ ซึ่งการที่เราลดการฉีดลงหรือครึ่งหนึ่งก็จะลดอาการไม่พึงประสงค์ลงได้ สำหรับเข็มกระตุ้นต้องห่างจากเข็มที่สองประมาณ 4-6 เดือน” แพทย์หญิงสุมนีกล่าวและว่า

จะเห็นว่ายังมีจำนวนเด็กนักเรียนที่ไปรับวัคซีนและครบโดสยังมีจำนวนน้อย ขณะที่ในเดือนพฤษภาคมนี้ก็จะเปิดเทอมแล้ว ขอให้พ่อแม่ ผู้ปกครองพาบุตรหลานไปรับวัคซีนก่อนไปเรียนเพื่อที่จะเพิ่มความปลอดภัยและไม่เกิดภาวะ MIS-C (มิสซี) ซึ่งย่อมาจาก Multisystem Inflammatory Syndrome in Children คือถ้าติดเชื้อก็มีโอกาสที่จะเกิดการอักเสบในอวัยวะทั่วร่างกายได้ ซึ่งก็จะทำให้เกิดอุปสรรคต่อการดำเนินชีวิต หรือต่อการเรียนหนังสือได้

อาการของโรค MIS-C

  • มีไข้สูง เกิน 38 องศาเซลเซียส นานเกิน 24 ชั่วโมง
  • ตาแดง
  • ริมฝีปากแห้ง แดง ลิ้นแดงเป็นตุ่ม
  • ผื่นขึ้นตามตัว
  • มีอาการช็อก ความดันต่ำ
  • ปวดท้อง อาเจียน ท้องเสีย
  • หายใจหอบ
  • ปวดศีรษะ ซึม

“เหล่านี้คือ 3-4 เรื่องสำคัญจากมติของที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่เมื่อ 22 เมษายน 2565” แพทย์หญิงสุมนีกล่าว

ยอดป่วยใหม่บวก ATK 28 เมษายน 2565

ยอดป่วยใหม่ลดเยอะ แต่ตายยังเกิน 100 ราย

แพทย์หญิงสุมนีกล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์โควิดในบ้านเรา ตอนนี้ตัวเลขลดลง วันนี้จากการรายงานด้วย RT-PCR มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 14,437 ราย จาก ATK มีจำนวน 11,396 ราย รวมกันแล้วมีจำนวน 25,833 ราย มีผู้รักษาหายแล้ว 18,509 คน อยู่ระหว่างการรักษา 158,768 ราย อยู่ใน รพ. 40,193 ราย อยู่ รพ.สนาม HI CI จำนวน 118,575 ราย มีอาการหนัก 1,827 ราย และใส่ท่อช่วยหายใจ 850 ราย อัตราครองเตียงสีเหลืองสีแดงอยู่ที่ 24.1%

รวมสะสม 4,224,008 ราย หายป่วย 18,509 ราย สะสม 4,036,969 ราย เสียชีวิต 127 ราย สะสม 28,271 ราย

ตัเลขป่วยใหม่ ป่วยหนัก เสียชีวิตจากโควิด 28 เมษายน 2565

สำหรับแนวโน้มจำนวนผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยอาการหนัก ผู้ป่วยอาการหนักและใส่ท่อช่วยหายใจ จากกราฟจะเห็นทิศทางลดลงเรื่อย ๆ โดยภาพรวมแนวดน้มลดลงอย่างช้า ๆ ซึ่งก็ต้องขอบคุณพี่น้องประชาชน หน่วยงานในทุกภาคส่วนที่ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติการตามมาตรการต่าง ๆ เป็นอย่างดี ทำให้ช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมาแม้ว่าเราจะมีการคาดการณ์ว่าผู้ติดเชื้อน่าจะเพิ่มขึ้น ทำให้ตอนนี้จำนวนผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยอาการหนักน้อยลงเรื่อย ๆ

ทั้งนี้หากสถานการณ์ดีขึ้นก็มีแนวโน้มว่าจะมีการผ่อนคลายทั้งกิจการและกิจกรรมต่าง ๆ ให้เป็นไปตามแผนที่เราได้วางไว้ เพื่อเข้าสู่การให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น

ยอดผุ้เสียชีวิตจากโควิด-โรคประจำตัว

แยกข้อมูลตายจากโควิด-ตายจากโรคประจำตัวร่วม

สำหรับรายละเอียดผู้เสียชีวิต 127 คนวันนี้ โดยผู้เสียชีวิตระลอกนี้อยู่ที่ 0.33% ซึ่งแนวโน้มของผู้เสียชีวิตยังทรง ๆ ตัวอยู่ โดยตัวเลขเกิน 100 กว่ารายต่อเนื่องมา 19 วันแล้ว โดยศูนย์ EOC ของกระทรวงสาธารณสุขได้มีการพูดคุยรายละเอียดของผู้เสียชีวิตจากหลายหน่วยงาน ทั้งผู้เชี่ยวชาญ โรงเรียนแพทย์ จากการรายงานของประเทศต่าง ๆ อาจะจะต้องมีการวิเคราะห์หรือแยกผู้เสียชีวิตที่รายงานเป็นกลุ่มที่เสียชีวิตจากการติดโควิด หรือเสียชีวิตจากโรคที่เขามีอยู่เอง คือมาจากโรคหลัก ติดโควิดแล้วเสียชีวิต

ทั้งจากจากตัวเลขการรายงานทุกวันมักจะเป็นกลุ่มที่เป็นผู้สูงอายุและมีโรคประจำตัว ซึ่งกลุ่มนี้ด้วยวัยและตัวโรคก็มีความเสี่ยงที่จะเสียชีวิตอยู่แล้ว จึงควรแยกแยะให้ชัดเจน ซึ่งกรมควบคุมโรคได้แยกแยะออกมาพบว่า ผู้เสียชีวิต 127 รายในวันนี้ พบว่าเสียชีวิตจากโควิด 66 ราย คิดเป็น 52% และเสียชีวิตจากโรคร่วมและพบเชื้อโควิด 61 ราย หรือคิดเป็น 48%

อัตราการครองเตียงผู้ป่วยหนักจากโควิด 10 จังหวัด

สำหรับอัตราการครองเตียงในภาพรวมทั้งประเทศอยู่ที่ 24.1% โดย 10 จังหวัดที่มีผู้ป่วยปอดอักเสบรักษาตัวมากที่สุด อันดับ 1 ยังเป็นกรุงเทพมหานคร มีผู้ป่วยอักเสบรักษาตัวใน รพ. 160 ราย อัตราการครองเตียงอยู่ที่ 23.80% รองลงมาเป็น นครราชสีมา ขอนแก่น กาญจนบุรี สมุทรปราการ สุพรรณบุรี อุบลราชธานี นนทบุรี อุดรธานี และพิษณุโลก (ตามตาราง)

“อัตราการครองเตียงเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 30% ซึ่งขึ้นอยู่กับจำนวนเตียงและศักยภาพของแต่ละจังหวัด แต่โดยภาพรวมอยู่ในเกณฑ์ที่ระบบสาธารณสุขยังรองรับได้”

10 จังหวัดติดโควิดสูงสุด ณ 28 เมษายน 2565

ชี้ยอดตาย-ฉีดวัคซีนน้อย กระทบปลดโรคประจำถิ่น

ส่วน 10 จังหวัดที่มีรายงานติดเชื้อรายใหม่สูงสุดคือ 1.กรุงเทพมหานครจำนวน 3,056 ราย 2.ขอนแก่น 499 ราย 3.ชลบุรี 499 ราย 4.สมุทรปราการ 454 ราย 5.ศรีสะเกษ 421 ราย 6.บุรีรัมย์ 409 ราย 7.ร้อยเอ็ด 389 ราย 8.อุบลราชธานี 299 ราย 9.นครศรีธรรมราช 298 ราย และ 10.นครปฐม 297 ราย

ส่วนผลการฉีดวัคซีนรวม เมื่อวันที่ 27 เม.ย. 2565 จำนวน 150,767 โดส สะสม 132,976,433 โดส เป็นเข็มแรกสะสม 56,207,917 ราย คิดเป็น 80.8% เข็มสอง 51,124,100 ราย คิดเป็น 73.5% และเข็ม 3 ขึ้นไป 25,644,416 ราย คิดเป็น 36.9%

ยอดการฉีดวัคซีนรวม 28 เมษายน 2565

การที่เราจะให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่นยังคงต้องขอความร่วมมือจากพี่น้องประชาชนไปฉีดวัคซีนกันให้เพิ่มขึ้น และยังต้องทำตามมาตรการป้องกันโรคเพื่อลดการแพร่ระบาด ไม่ให้โรคกลายพันธุ์เพิ่มขึ้น และการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น

โดยเป้าหมายในการเป็นโรคประจำถิ่น จะต้องฉีดให้ได้เกิน 60% แต่ตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 37% ขณะที่ตามเกณฑ์การเข้าสู่โรคประจำถิ่นจำนวนผู้เสียชีวิตจะต้องไม่เกิน 0.1% แต่ตอนนี้อัตราการการเสียชีวิตจากโควิดอยู่ที่ 0.33% ฉนั้นต้องขอความร่วมมือให้ช่วยกัน เพื่อจะได้เข้าสู่ระยะการเป็นโรคประจำถิ่นได้เร็วขึ้น

ยันยังไม่ยกเลิก Thailand Pass

ต่อข้อถามถึงกระแสข่าวที่จะมีการยกเลิก Thailand Pass แพทย์หญิงสุมนี กล่าวชี้แจงว่ายังคงมีการลงทะเบียนผ่านระบบ Thailand Pass เหมือนเดิม แต่มีปรับระบบให้อำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวมากขึ้น

ทั้งนี้ จากมาตรการล่าสุดที่ทางศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ผ่อนคลายในวันที่ 1 พ.ค. 2565 คือ ยกเลิกระบบ Test & Go ซึ่งจะไม่มีขั้นตอนการจองโรงแรมและไม่มีขั้นตอนการตรวจ RT-PCR ทำให้การลงทะเบียนผ่าน Thailand Pass ก็จะไวขึ้น เนื่องจากการตรวจใบรับรองวัคซีน ใช้เวลาสั้นกว่าการตรวจการจองโรงแรม

หลังจากเรายกเลิก Test & Go แล้ว และใช้ระบบ Thailand Pass ติดตามคนที่ได้วัคซีนครบ ยิ่งจะทำให้ระบบยิ่งดำเนินการได้เร็วขึ้น ทำให้สามารถอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวหรือนักเดินทางเข้ามาได้มากขึ้น และช่วยให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนได้ไวขึ้น

“เพราะฉะนั้นเรื่องการลงทะเบียนผ่าน Thailand Pass ยังมีอยู่ ตอนนี้ไม่น่าจะมีปัญหาหรือติดขัดใดๆ หลังวันที่ 1 พ.ค. แต่ทั้งนี้ทาง ศบค.จะมีการติดตามสถานการณ์ของหน้างานเป็นระยะๆ ถ้าสถานการณ์ดีขึ้นจะทำให้เราสามารถดำเนินการไปตามแผนในการผ่อนคลายได้มากขึ้นอีก” พญ.สุมนี กล่าวในตอนท้าย


ปรับมาตรการเดินทางเข้าประเทศไทยทางอากาศ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 65 เป็นต้นไป มีดังนี้

กลุ่ม 1 – ผู้ได้รับวัคซีนครบตามข้อกำหนด
– ลงทะเบียนในระบบ Thailand Pass
– แนบเอกสารประกอบ ได้แก่ หนังสือเดินทาง เอกสารรับรองการได้รับวัคซีน หลักฐานการมีประกันที่ครอบคลุมการรักษาพยาบาลในไทย วงเงินขั้นต่ำ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ (สำหรับชาวต่างชาติ) และวีซ่า (หากจำเป็น)

(ไม่ต้องตรวจหาเชื้อโควิด-19 ทั้งก่อนเดินทางและเมื่อเดินทางถึงประเทศไทย)

กลุ่ม 2 – ผู้ไม่ได้รับวัคซีน/ได้รับวัคซีนไม่ครบตามข้อกำหนด
กรณี (1) หากมีผลตรวจ RT-PCR เป็นลบ ที่ออกภายใน 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง
– ลงทะเบียนในระบบ Thailand Pass
– แนบเอกสารประกอบ ได้แก่ หนังสือเดินทาง ผลตรวจ RT-PCR ที่ออกภายใน 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง (ต้องแนบบน Thailand Pass เท่านั้น)
– แนบหลักฐานการมีประกันที่ครอบคลุมการรักษาพยาบาลในไทย วงเงินขั้นต่ำ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ (สำหรับชาวต่างชาติ)
– วีซ่า (หากจำเป็น)
(ไม่ต้องเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทย)

ทั้งนี้ ผู้เดินทางที่ได้รับอนุมัติให้เดินทางเข้าไทยในรูปแบบ AQ เดิม จะต้องลงทะเบียนบน Thailand Pass อีกครั้ง หากประสงค์เดินทางเข้าไทยโดยยกเว้นการกักตัว

  • กรณี (2) เข้ากักกัน 5 วัน
    – ลงทะเบียนในระบบ Thailand Pass
    – แนบเอกสารประกอบ ได้แก่ หนังสือเดินทาง หลักฐานการชำระเงินค่าโรงแรมสำหรับกักกัน (Alternative Quarantine) จำนวน 5 วัน (พร้อมค่าตรวจ RT-PCR 1 ครั้ง)
    – แนบหลักฐานการมีประกันที่ครอบคลุมการรักษาพยาบาลในไทย วงเงินขั้นต่ำ 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ (สำหรับชาวต่างชาติ)
    – วีซ่า (หากจำเป็น)
    * รับการตรวจ RT-PCR ในวันที่ 4-5 (ไม่ต้องตรวจก่อนเดินทางมาไทย)

ทั้งนี้ สำหรับผู้เดินทางที่ได้รับอนุมัติ Thailand Pass ก่อนหน้านี้แล้ว สามารถใช้ QR Code ที่ได้รับแล้วในการเดินทางได้ โดยไม่ต้องลงทะเบียนใหม่