ไล่ออก ให้ออก ปลดออกจากราชการ ต่างกันอย่างไร ได้เงินชดเชยอะไรบ้าง

ข้าราชการ ตำรวจ

การออกจากงานราชการ ไม่ได้ใช้คำว่า “ลาออก” แบบชัดเจน เพราะยังมีเงื่อนไขของอายุงานและสิทธิหรือเงินที่จะได้รับหากพ้นสภาพ

กรณีของ นายเนตร นาคสุข อดีตรองอัยการสูงสุด ที่ประชุมคณะกรรมการอัยการ (ก.อ.) มีมติผลสอบคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรง ปลดออกจากราชการ กรณีใช้ดุลพินิจไม่รอบคอบ สั่งไม่ฟ้อง “บอส อยู่วิทยา” ขับรถชนตำรวจเสียชีวิต แต่เนื่องจากนายเนตร รับราชการมานานและไม่เคยประพฤติตัวเสื่อมเสียมาก่อนจึงลดโทษเหลือ ให้ออกจากราชการ

ผู้อ่านจะเห็นคำว่า “ปลดออก” และ “ให้ออก” จากราชการ ซึ่งจริง ๆ แล้วมันมีความแตกต่างกันอยู่ในเชิงความหมาย เพราะในกรณีที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นพนักงานของรัฐหรือทำงานในหน่วยงานราชการหากพนักงานออกจากตำแหน่ง จะใช้คำว่า ไล่ออก, ให้ออก และปลดออกจากราชการ

“ประชาชาติธุรกิจ” สรุปความแตกต่างของการใช้และสิทธิหรือเงินที่จะได้รับจาก 3 คำสั่งดังกล่าว

ไล่ออกจากราชการ

ผู้ที่ถูกไล่ออกจากราชการ คือ การที่ส่วนราชการต้นสังกัด ได้ไล่สมาชิกออกจากราชการ เนื่องจากมีความผิดทางวินัยร้ายแรง

ไล่ออก ได้รับเงินชดเชยอะไรบ้าง

ผู้ที่ถูกไล่ออกจาก ยังคงได้รับเงินสะสม + สมทบ + ผลประโยชน์ จาก กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)

ให้ออกจากราชการ

การถูกให้ออกจากราชการ คือ การที่ส่วนราชการต้นสังกัดได้ให้สมาชิกออกจากราชการด้วยเหตุผล ดังนี้

  1. ตาย
  2. พ้นจากราชการด้วยบำเหน็จบำนาญ
  3. ลาออกจากราชการ และได้รับอนุญาตให้ลาออก
  4. ถูกสั่งให้ออกจากราชการ ในกรณีใดกรณีหนึ่ง

ปลดออกจากราชการ

ผู้ที่ถูกปลดออกจากราชการ คือ การที่ส่วนราชการต้นสังกัดได้ให้สมาชิกออกจากราชการ ซึ่งเป็นโทษทางวินัยอย่างหนึ่ง หากพบว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรง

ให้ออก-ปลดออก ได้รับเงินชดเชยอะไรบ้าง

ในกรณีที่ถูกให้ออก หรือปลดออก ผู้ที่ได้รับคำสั่งดังกล่าว จะยังได้รับสิทธิและเงิน โดยมีเงื่อนไขแบ่งตามอายุการรับราชการ ดังนี้

หากอายุราชการไม่ถึง 10 ปี : จะไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จบำนาญ แต่จะได้รับเงินสะสม + สมทบ + ผลประโยชน์ จาก กบข

หากอายุราชการ 10 ปีขึ้นไป แต่ไม่ถึง 25 ปี : จะได้รับเงินบำเหน็จ, เงินสะสม + สมทบ + ผลประโยชน์จาก กบข. และจะได้รับเงินบำเหน็จจากกระทรวงการคลัง

หากอายุราชการ 25 ปีขึ้นไป : สามารถเลือกได้ว่า จะรับเงินบำเหน็จหรือบำนาญ โดยแบ่งเป็นเงื่อนไขย่อย ดังนี้

  • เลือกเงินบำนาญ : จะได้รับเงินประเดิม (ถ้ามี) + ชดเชย + สะสม + สมทบ + ผลประโยชน์ จาก กบข. และเงินบำนาญจากกระทรวงการคลัง
  • เลือกเงินบำเหน็จ : จะได้รับเงินสะสม + สมทบ + ผลประโยชน์ จาก กบข. และเงินบำเหน็จจากกระทรวงการคลัง