กรมควบคุมโรคตั้งศูนย์ EOC เฝ้าระวัง “ฝีดาษลิง”

กรมควบคุมโรคตั้งศูนย์ EOC เฝ้าระวังป้องกัน “ฝีดาษลิง” เน้นคัดกรองผู้เดินทางประเทศเสี่ยงสูง แอฟริกากลาง-ยุโรป

วันที่ 24 พฤษภาคม 2565 นายแพทย์จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรคกล่าวว่า การจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข กรณีโรคฝีดาษลิง (monkey pox) หลังพบการแพร่ระบาดในหลายประเทศ และสามารถติดต่อจากคนสู่คน กรมจึงได้ดำเนินการจัดตั้งศูนย์ EOC เพื่อเฝ้าระวัง คัดกรองผู้เดินทางจากประเทศที่มีการระบาด เพื่อช่วยให้ตรวจจับกลุ่มเสี่ยงได้รวดเร็วขึ้น และป้องกันการแพร่ระบาดในประเทศ

อีกทั้งต้องรีบยกระดับศูนย์ขึ้นมาเพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถรับมือได้ทัน เพราะโรคนี้ยังไม่มียาเฉพาะรักษา ต้องรักษาประคับประคองแม้ว่าในประเทศยังไม่มีผู้ติดเชื้อนี้และไทยยังไม่เคยเจอโรคนี้มาก่อน และต้องติดตามสถานการณ์ในต่างประเทศมีการแพร่ระบาดถึงระดับไหน ซึ่งข้อมูลคงจะทยอยเข้ามา

สำหรับการเฝ้าระวังโรคภายในประเทศ คือ คนที่เดินทางเข้าประเทศ ระยะเริ่มต้นอาการอาจจะน้อยหรือไม่มีอาการ ซึ่งจะเน้นเฝ้าระวังในประเทศที่มีความเสี่ยงสูง ทั้งประเทศแอฟริกากลาง เช่น ไนจีเรีย และคองโก และประเทศในยุโรปที่มีการแพร่ระบาดภายในประเทศแล้ว คือ อังกฤษ สเปน โปรตุเกส

โดยสนามบินจะคัดกรองอาการในผู้เดินทางมากับไฟลต์บินจากประเทศดังกล่าว เช็กว่ามีแผลหรือไม่ และแจกบัตรเตือนสุขภาพ (Health beware card) เป็นคิวอาร์โค้ดให้สแกนทุกคนที่เดินทางมาจากประเทศดังกล่าว ซึ่งหลัก ๆ จะระบุว่าหากมีอาการ เช่น ไข้ มีตุ่มให้รายงานเข้าระบบและรีบไปพบแพทย์ใน รพ.ที่ใกล้ที่สุด รวมถึง แจ้งประวัติการเดินทางจากประเทศกลุ่มเสี่ยงให้เจ้าหน้าที่ทราบ

นอกจากนี้ จะมีการเฝ้าระวังที่สถานพยาบาล โดยหากพบผู้ป่วยที่เข้าข่ายสงสัย คือ มีอาการเข้าได้กับโรคและมีประวัติเดินทางจากประเทศเสี่ยงที่กำลังมีโรคนี้ระบาดข้างต้น ให้สถานพยาบาลเก็บตัวอย่างเพื่อส่งตรวจหาเชื้อ ซึ่งประเทศไทยสามารถตรวจเชื้อนี้ได้ แต่ยังทำได้ที่ส่วนกลาง คือ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และรายงานเข้าระบบการเฝ้าระวัง  โดยหากมีผู้ติดเชื้อเข้าในประเทศไทย อาจจะต้องมีการกระจายให้ศูนย์ในต่างจังหวัดช่วยตรวจ

ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาสตร์การแพทย์ ระบุว่า กรมวิทยาศาสตร์ฯ ได้ตั้งห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจหาเชื้อโรคฝีดาษลิงในผู้ที่สงสัยว่าจะติดเชื้อแล้ว หากผู้ที่มีผื่น ตุ่มหนองตามร่างกาย ทางสถานพยาบาลก็สามารถสวอบ (Swab) เชื้อบริเวณแผล ส่งตรวจ RT-PCR ได้ที่แล็บซึ่งมีน้ำยาตรวจเฉพาะ และใช้เวลารอผลเหมือนกับการตรวจโควิด-19