“ชัชชาติ” ตั้งธง 1 เดือน สางปัญหาหลุมดำสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอส

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
FILE PHOTO : Lillian SUWANRUMPHA / AFP

ชัชชาติตั้งเป้าภายใน 1 เดือน สัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอส สายสีเขียว จะมีคำตอบเชิงนโยบาย ย้ำทุกอย่างต้องยืนอยู่บนความยุติธรรม

วันที่ 26 พฤษภาคม 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ว่าที่ผู้ว่าราชการกรุงทพมหานคร (กทม.) ตอบคำถามเกี่ยวกับประเด็นสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว หรือรถไฟฟ้าบีทีเอส ในรายการเจาะลึกทั่วไทย อินไซด์ไทยแลนด์ ทางช่อง 9 ว่า หลังจากเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม. อย่างเป็นทางการ นโยบายที่จะเข้าไปบริหารจัดการกับสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าบีทีเอส เราใช้เหตุผลเป็นหลัก เราไม่ได้ใช้อารมณ์ความรู้สึก โดยยึดผลประโยน์ประชาชนเป็นที่ตั้ง และต้องให้ความยุติธรรมกับเอกชนทุกฝ่ายด้วย

ปัญหามี 3 ส่วนหลัก ๆ เรื่องแรก ปัญหาหนี้สินที่บีบคอให้เรา (ผู้ว่าฯ กทม.ในขณะนั้น) ไปต่อสัมปทานกับเขา ซึ่งหนี้มี 2 ส่วนหลักคือ “หนี้ตัวโครงสร้าง” คือหนี้ที่รัฐบาลสร้างไว้แล้วโอนมาให้ กทม. คำถามแรกคือหนี้ส่วนนี้ กทม.รับมาถูกต้องหรือยัง มีการผ่านสภา กทม. เรียบร้อยหรือไม่

เพราะเป็นการเอาหนี้มา ให้ กทม. จึงต้องดูตัวกระบวนการว่าการเอาหนี้มาให้ กทม. มันมีกระบวนการรับถูกต้องไหม กับ “หนี้ในส่วนที่กรุงเทพธนาคม (วิสาหกิจที่ กทม.ถือหุ้น 100%) ไปจ้างบริษัทเอกชนเดินรถ” เข้าใจว่าสภากรุงเทพมหานครก็ยังไม่ได้ยอมรับเพราะไปสร้างก่อนสภาจะอนุมัติ

ดังนั้น ต้องเคลียร์ตรงนี้ก่อนว่าหนี้โครงสร้างเราจะรับได้ไหม ตัวโครงสร้างรัฐบาลออกให้ ได้ไหม ถ้าได้ (รัฐบาลรับผิดชอบให้) ตัวหนี้โครงสร้างที่มีมูลหนี้ 40,000 – 50,000 ล้านบาท จะทำให้ กทม.เบาลงไปเยอะ

ทั้งนี้ สัญญาจ้างบริหารการเดินรถไฟฟ้าบีทีเอส กทม.ไม่ได้จ้างตรงกับบีทีเอส แต่จ้างผ่านบริษัทกรุงเทพธนาคม ซึ่งเป็นคล้าย ๆ รัฐวิสาหกิจของ กทม. โดย กทม.ถือหุ้น 99.98% ที่น่าสนใจคือกรุงเทพธนาคมมีทุนจดทะเบียนแค่ 50 ล้านบาท แต่ทำสัญญาเป็นแสน ๆ ล้านบาท ทำให้เป็นหลุมดำ

นายชัชชาติกล่าวว่า การทำสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ถ้าทำในนาม กทม.เราก็จะเห็นสัญญาในระดับ หนึ่ง แต่พอคู่สัญญาเป็นกรุงเทพธนาคมทำให้เราไม่ค่อยเห็นหรอกครับสัญญาจ้างเอกชนเดินรถมีรายละเอียดเป็นยังไง ทั้งสัญญาสัมปทาน, สัญญาโฆษณาเป็นยังไง ฯลฯ

“สำหรับสัญญาจ้างโฆษณาบนรถไฟฟ้าสายสีเขียว มีประเด็นอยู่ว่า หลังปี 2572 ไปแล้วมันจะมีรายได้จากโฆษณาเข้ามา ซึ่งเป็นรายได้สำคัญตกปีละ 2,000-3,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นรายได้ที่สำคัญส่วนหนึ่งที่จะเอามาช่วยลดค่าใช้จ่ายได้ พวกนี้ครับที่บอกว่าหลุมดำเพราะว่า มันไม่มีแสงสว่างลงไปครับ”

เมื่อถามว่า ถ้าทำสัญญาในนาม กทม. ถ้าทำอะไรลงไปมันส่องกล้องง่าย เพราะว่าต้องเปิดเผยสัญญา แต่ถ้าทำในนามของกรุงเทพธนาคมสามารถที่จะไม่เปิดเผยสัญญาได้ด้วย ใช่ไหม นายชัชชาติกล่าวว่า ใช่ ผมว่าคงเป็นเรื่องการตัดสินใจของผู้บริหาร กทม. หลายครั้งที่กรุงเทพธนาคมไปทำสัญญา เช่นไปจ้างเดินรถถึงปี 2585 เรื่องก็ไม่ผ่าน พ.ร.บ.ร่วมทุน (กฎหมายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน ปี 2562) ทั้งที่จริง ๆ แล้วการลงทุนตรงนี้มูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาทแน่นอน

“ทำไมไม่ผ่าน พ.ร.บ.ร่วมทุน ซึ่งมันก็ผิดหลักการในภาพรวมแล้ว เพราะว่าเราก็อยากให้มีความโปร่งใส จุดนี้ก็เข้าใจว่ามีเรื่องที่ค้าง อยู่ใน ป.ป.ช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) บางส่วนด้วย เรื่องที่ไปจ้างเดินรถโดยที่ไม่ได้ผ่าน พ.ร.บ.ร่วมทุน อันนี้ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องไปดูในรายละเอียดว่าจริง ๆ สัญญาจ้างเดินรถนี่เป็นเช่นไร”

นอกจากนี้ ประเด็นการต่อสัญญาสัมปทานเดินรถไฟถึงปี 2582 จริง ๆ แล้วไม่ใช่เรื่องที่ กทม. เอาไปเสนอ แต่เป็นผลตามคำสั่ง คสช. ม.44 ที่สั่งให้มีการพิจารณาต่อสัญญา เพราะอย่างนั้นจึงเป็นกระบวนการที่ไม่ได้ใช้ พ.ร.บ.ร่วมทุน มันเลยไม่มีการแข่งขันกันด้านราคา เราเลยมีการถกเถียงกันว่าค่าโดยสารตลอดสาย 65 บาท มันถูกหรือแพง ค่าโดยสารควรมีราคาเท่าไหร่ ฯลฯ

เรื่องค่าโดยสารมันไม่ได้มีหน่วยงานภายนอกมาช่วยตรวจสอบ เพราะว่ามีการตั้งคณะกรรมการมาตรวจสอบ รัฐบาลก็ตั้งคณะกรรมการชุดหนึ่งมา 4-5 คนแล้วก็ดู ทำให้เราไม่แน่ใจว่าตัวเลขเป็นธรรมกับประชาชนผู้โดยสารหรือเปล่า

เพราะฉะนั้นทางออกที่ผมว่าง่ายที่สุด ถ้า (กลุ่มบริษัทบีทีเอส) อยากจะต่อสัญญาจริง ๆ ก็เข้า พ.ร.บ.ร่วมทุน ก็มีเวลาเพราะว่า (สัญญาสัมปทานปัจจุบัน) มีอายุถึงปี 2572 เพราะว่ามีคนนอกทั้งตัวแทนอัยการ ทั้งคนจากสภาพัฒน์มาช่วยดู และมันมีการแข่งขันด้วย

ส่วนเรื่องหนี้สิน ถ้าบอกว่าให้เอกชนที่มาประกวดราคา (แข่งขันประมูลสัมปทานหลังปี 2572) รับไปด้วย ผมว่า ทุกคนก็อาจจะยินดีนะ ผมว่าไม่ใช่เงื่อนไขนะครับเรื่องหนี้ที่เอกชนรายเดียวจะรับไปได้ ต้องให้เอกชนมาแข่งขันกัน มองว่าค่าโดยสารตลอดสาย 65 บาทเป็นราคาที่รับได้แน่นอนเพราะเขาเสนอมา 65 บาทใช่ไหม

“ถ้าเกิดมีการแข่งขันกัน ผมว่าจะแข่งขันราคาให้มันลงกว่านี้ได้อีกไง หลักการก็ง่าย ๆ ไม่มีอะไรซับซ้อนครับ แล้วก็เป็นธรรมกับทุกฝ่ายนะ ไม่ได้ไปเอาเปรียบเอกชนอะไรเขา แต่ว่าถ้ามีการแข่งขันราคา ผมว่ามันจะอธิบายสังคมได้ง่ายขึ้น”

นายชัชชาติตอบคำถามซ้ำเกี่ยวกับการ Action หลังเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าฯ กทม.เป็นทางการว่า ประการแรกก็จะต้องไปตรวจสอบความจริงใน 3 เรื่องว่า

1.เรื่องหนี้ มีการรับหนี้มาถูกต้องหรือเปล่า ถ้าถูกต้องเราก็ต้องทำต่อเพราะว่าเป็นพันธสัญญาที่ กทม. ไปทำมาแล้ว เรื่องการรับหนี้มา ก็ไปดูว่าสภา กทม. และ กทม.ทำ ถูกต้องหรือยัง เพราะว่ามันไม่ใช่ว่าอยู่ดี ๆ รัฐบาลโยนหนี้มาให้เราแล้วเราต้องรับ เพราะฉะนั้นในอนาคตเขา อยากจะโยนอะไรให้มาเราก็ต้องรับหมด ผมว่าต้องดูขั้นตอนนี้ก่อนครับ

2.แล้วก็ไปดูการจ้างเดินรถว่าถึงปี 2585 มันถูกต้องไหม แล้วก็อาจจะทำหนังสือสอบถามไปอีกที

3.เรื่องต่อสัมปทานก็จะทำหนังสือไปยัง ครม. (คณะรัฐมนตรี) ว่ายังมีเวลา ทำไมเราไม่เข้า พ.ร.บ.ร่วมทุน เพื่อให้คำตอบประชาชนได้ เพราะว่าตอนนี้เรื่องอยู่ที่ ครม. ไม่ใช่อำนาจของ กทม.โดยตรง เราทำได้แค่ให้ความเห็นครับ

คำถามทบทวนคือการเข้าไปดูการรับหนี้จาก รฟม. (การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย) มานั้นกระบวนการรับหนี้มา ถูกต้องหรือไม่ ถ้ากระบวนการรับหนี้ไม่ถูกต้อง เรื่องนี้นายชัชชาติกล่าวว่า คงต้องดูว่าใครจะต้องเป็นคนรับผิดชอบในส่วนหนี้ แต่ในใจอยากให้รัฐบาลช่วยรับผิดชอบตัวโครงสร้าง เพราะว่ามันมีบางส่วนอยู่นอกพื้นที่ กทม. โดยมีบางส่วนอยู่พื้นที่จังหวัดปทุมธานี บางส่วนอยู่จังหวัดสมุทรปราการ

ดังนั้น โดยหลักการ รัฐบาลกลางควรเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะว่าได้ภาษีที่เก็บจากความเจริญของเมือง ในขณะที่ กทม. ได้ภาษีแค่ 1 ใน 9 ของ VAT สัดส่วน 8 ใน 9 เป็นรายได้รัฐบาลรับไป เราก็เลยอยากให้รัฐบาลรับภาระในส่วนนี้ไป จะได้ไม่เป็นภาระของ กทม. ซึ่งมันกดดันตอนที่เราประมูลเรื่องราคาค่าโดยสาร อย่างไรก็ตาม การหยิบยกประเด็นหารือกับรัฐบาลยังเป็นแค่แนวคิด ซึ่งก็ต้องเจรจากัน ก็เหมือนรถไฟฟ้าทุกสายที่รัฐบาลช่วยลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้

เมื่อถามว่า ในส่วนสัญญาจ้างเดินรถถึงปี 2585 ถ้าไม่ถูกต้องเพราะมีความเห็นว่าควรจะต้องผ่าน พ.ร.บ.ร่วมทุน ดังนั้นจะเสนอให้ทบทวนการทำสัญญาว่าจ้างการเดินรถใช่ไหม นายชัชชาติกล่าวตอบว่า ใช่ครับ จริง ๆ แล้วเห็นว่าเรื่องไปค้างอยู่ที่ ป.ป.ช.ด้วย คงไปเร่งรัดดูว่ามันเป็นอย่างไร แต่ถ้าถูกต้องก็ต้องทำตามสัญญา แต่ถ้าไม่ถูกต้องก็คงต้องแก้ไขให้มันถูกต้องครับ

เมื่อถามว่า ถ้าฝ่ายกฎหมายของรัฐบาลวินิจฉัยว่ามันจะต้องเข้าสู่ พ.ร.บ.ร่วมทุน จะยกเลิกสัญญากับบีทีเอสเรื่องของการจ้างเดินรถแล้วก็เปิดประมูล ใช่หรือไม่ นายชัชชาติกล่าวว่า ถ้าอย่างนั้นก็เอาเข้า พรบ.ร่วมทุนแล้วก็เปิดประมูลสัมปทานตั้งแต่ปี 2572 ไปเลยครับ ก็หาผู้ดำเนินการเหมือนที่เราจะทำตามข้อ 3

กล่าวคือตอนนี้มันติดอยู่ 2 เงื่อนไข คือเราจ้างเขา (กลุ่มบีทีเอส) ถึงปี 2585 แล้ว ถึงแม้ว่ากระบวนการต่อสัญญาไม่สำเร็จ ยังไงเรา (กทม.) ก็ต้องจ้างเขา (กลุ่มบีทีเอส) เดินรถถึงปี 2585 ตามสัญญา เพราะว่าเงื่อนไขการจ้างเราไม่รู้ว่า กทม. เสียเงินมากน้อยแค่ไหน มันคุ้มทุนแค่ไหน ซึ่งตอนนี้อย่างที่บอกครับว่ามันเป็นหลุมดำซึ่งเรามอง ไม่เห็นครับ ว่าเขาจ้างเดินรถกันยังไง

คำถามสำคัญคือ มีการทำสัญญากันจบลงไปแล้วในขั้นตอนกรุงเทพธนาคม (ตัวแทน กทม.) กับบีทีเอส (เอกชนคู่สัญญา)ตรงนี้จะยกเลิกได้ไหม

นายชัชชาตกล่าวว่า ก็นี่สิ เราต้องไปดู เข้าใจว่ามีคนเอาไปฟ้อง ป.ป.ช. อยู่เรื่องนี้เพราะว่ามันไม่ได้ผ่าน พ.ร.บ.ร่วมทุน แต่ถ้าหากทำถูกต้อง เราก็ต้องว่าไปตามนั้น เราก็ต้องให้ความเป็นธรรมกับเอกชน (กลุ่มบีทีเอส) เหมือนกัน ถ้ามันถูกต้องเราก็ต้องไปหาเงื่อนไขอื่นในการเจรจาต่อรองเรื่องค่าโดยสารและอื่น ๆ

ทั้งนี้ ปมประเด็นสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวมี 2 เรื่องทับซ้อนกัน คือต่อสัญญาสัมปทานปี 2572 กับสัญญาเดินรถถึงปี 2585

นายชัชชาติกล่าวว่า เรื่องนี้ถ้าว่ากันตามหน้าไพ่ ผมมองว่าบีทีเอสก็เป็นต่อเยอะ สัมปทานในส่วนหลักสิ้นสุดปี 2572 ก็จริง แต่เขามีสัญญาอีกหนึ่งฉบับ เรียกว่าสัญญาจ้างเดินรถหลังปี 2572 แปรสภาพจากสัญญาสัมปทานเป็น สัญญาจ้างเดินรถถึงปี 2585 เราไม่ขยายอายุสัมปทาน แต่เขาก็ยังมีสัญญาจ้างเดินรถอยู่ ดังนั้นไม่ว่าจะมองในมุมไหน บีทีเอสค่อนข้างจะได้เปรียบนะ

เราต้องเอาสัญญามาดูว่าสัญญามันเป็นอย่างไร เราโดนเอาเปรียบไหม นี่ผมเข้าใจนะครับว่าในสัญญามีเงื่อนไข ห้ามเปิดเผยให้บุคคลภายนอกด้วย ผมคุยกับรุ่นน้องที่ทำที่กรุงเทพธนาคม เขาบอกว่ามีเงื่อนไขนี้อยู่ เราถึงไม่เคยเห็นเลย ขนาดคุณวิโรจน์ (ลักขณาอดิศร) ขอในสภาก็ยังไม่เคยเห็น เข้าใจว่าแค่เฉพาะสัญญาจ้างเดินรถนะครับที่มีเงื่อนไขข้อนี้ เราจึงต้องไปดูในรายละเอียดอีกทีหนึ่ง ในเรื่องราคามันถูกแพงอย่างไร เรื่องค่าโฆษณาจะช่วยลดต้นทุนในการเดินรถได้ไหม เรื่องนี้ต้องไปดูให้ละเอียดอีกทีหนึ่งครับ

ในส่วนของหนี้ที่มีต่อบีทีเอส แนวทางการสะสางคือถ้าถูกต้องตามกฎหมาย เราต้องจ่ายครับ หรือถ้าบอกว่าสัญญาถูกต้องทุกอย่าง ถูกต้องเราก็ต้องจ่ายครับ

ผมว่าเราอาจจะมีเงื่อนไข เช่น ยืดหนี้ไป ทยอยจ่าย หรือว่าอย่างอื่น ต้องไปดูอีกทีหนึ่ง อย่างที่บอกว่าการจ้างเดินรถว่าจ้างไปก่อน โดยไม่ผ่านสภา กทม. ทางสภา กทม. เลยไม่อนุมัติงบฯมาจ่าย เพราะเขาถือว่าทำสัญญาไปก่อนที่จะเข้าสภา กทม. นี่คือสภา กทม.เก่านะ

ส่วนสภา กทม.ใหม่ก็ต้องไปดูประเด็นนี้อีกทีหนึ่ง เรื่องนี้มีความซับซ้อนในระดับหนึ่ง ไม่ได้ตรงไปตรงมาร้อยเปอร์เซ็นต์ มันมีเงื่อนเวลา มีเรื่องวิธีอนุมัติ เราต้องไปดูในรายละเอียด เราต้องรอบคอบ

เมื่อถามว่า ในช่วงหาเสียงคือ โดยหลักการน่าจะโอนสายสีเขียวไปให้ รฟม. บริหารจัดการ โดย กทม.จะดูแลในระบบฟีดเดอร์เรื่องบ้านถึงรถไฟฟ้า วินมอเตอร์ไซค์ถึงรถไฟฟ้า

นายชัชชาติกล่าวว่า แนวคิดนี้ยังคิดอยู่ แต่ต้องคุยกับกระทรวงคมนาคมว่าเขามองว่าอย่างไร โดยเฉพาะเรามีรถไฟฟ้าเพิ่มอีก 2 สายที่ดูแลโดย กทม. คือรถไฟฟ้าสายสีเทา (เส้นทางเลียบด่วนเอกมัย-รามอินทรา ทะลุทองหล่อ) กับสายสีเงิน ซึ่งสายสีเทาผมก็ยังมีแนวคิดว่าควรให้ รฟม. เป็นคนสร้างมากกว่าเพราะว่าเส้นทางตัดรถไฟหลาย สายทั้งสายสีส้ม สีเหลือง ซึ่งเป็นรถไฟฟ้าของ รฟม.หมด

เพราะถ้าให้ กทม.ทำ สุดท้ายจะมีปัญหาเรื่องค่าแรกเข้าอีก (กรณีเปลี่ยนการเดินทางข้ามรถไฟฟ้า) และรถไฟฟ้าสายสีเงินที่ไปถึงสนามบินสุวรรณภูมิมันก็ออกนอกเขต กทม. ไปยังสมุทรปราการอีก

จริง ๆ แล้ว กทม.เราไม่มีผู้เชี่ยวชาญเรื่องรถไฟฟ้าเลย เพราะเราใช้เอาต์ซอร์ซหมด กรุงเทพธนาคมก็จ้างเอกชนเดินรถหมด เราไม่ได้มีความเชี่ยวชาญเหมือน รฟม. ดังนั้นการลงทุนรถไฟฟ้าเราต้องไปแบกหนี้อีกหลายหมื่นล้านบาท ในขณะที่ภารกิจ กทม.ต้องดูแลเด็ก นักเรียน ดูแลสาธารณสุข อะไรอีกเยอะแยะ จึงต้องดูให้ดีว่าจะเอาเงินของเราไปทุ่มกับรถไฟฟ้าแล้วเราก็มาจ่ายหนี้ของพวกนี้โดยที่งบประมาณ กทม.ก็มีจำกัด

แต่ก็ขอยืนยันว่าทุกอย่างต้องยืนอยู่บนความยุติธรรม คือยุติธรรมกับเอกชนเขาด้วย เพราะเขาก็ลงทุนมาให้ ทั้งเดินรถให้ ขณะเดียวกันก็เอาผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้งด้วย ไม่ใช่ว่าให้ประชาชนเสียผลประโยชน์ จ่ายค่าโดยสารแพงเกินจริง

นายชัชชาติกล่าวทิ้งท้ายว่า ทั้งหมดนี้ (สัมปทานสายสีเขียว) คาดว่าการแก้ปัญหาใช้เวลา 1 เดือนน่าจะพอเห็นผล น่าจะมีคำตอบเชิงนโยบาย แล้วก็จะได้เปิดเผยให้ประชาชนทราบ ผมว่าคนในกรุงเทพธนาคมเขาก็พร้อมจะให้คำตอบอยู่แล้วแหละครับ