ฝีดาษลิงมีอาการอย่างไร หากเป็น “กลุ่มเสี่ยง” เข้าไทยต้องทำอะไรบ้าง

ฝีดาษลิง ฝีดาษวานร

เปิดแนวทางคัดกรอง-ป้องกันโรคฝีดาษลิง หากเดินทางเข้าไทย ตรวจพบอาการเสี่ยง ต้องทำอย่างไร 

วันที่ 26 เมษายน 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลายประเทศทั่วโลกรวมถึงไทย เริ่มจับตาและเฝ้าระวังโรคฝีดาษลิง หลังพบองค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานการตรวจพบผู้ป่วยในหลายประเทศ โดยข้อมูลล่าสุด (24 พ.ค.) พบระบาดในประเทศกลุ่มแอฟริกากลางและตะวันตก รวมทั้งประเทศนอกทวีปแอฟริกาใต้ เช่น สหราชอาณาจักร สเปน และโปรตุเกส

สำหรับมาตรการป้องกันโรคของไทยนั้น ทางกระทรวงสาธารณสุขได้เริ่มคัดกรองผู้ที่เดินทางเข้าไทย ตั้งแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยได้ร่างแนวทางการเฝ้าระวังโรคฝีดาษลิง ไว้ดังนี้

ผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคฝีดาษลิง

กองด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศและกักกันโรค ได้เผยแพร่นิยามผู้ป่วยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรคฝีดาษลิง (Patient Under Investigation) โดยแบ่งเป็นประเทศผู้เดินทางที่มีอาการ ดังต่อไปนี้

1. ผู้เดินทางที่มีไข้ (ตั้งแต่ 38 องศาเซลเซียส) หรือ ประวัติมีไข้ ร่วมกับมีอาการหนึ่งอาการ ดังต่อไปนี้ ได้แก่ เจ็บคอ ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง และต่อมน้ำเหลืองโต

2. มีผื่นกระจายลำตัว มีลักษณะเป็นตุ่มนูน ตุ่มน้ำใส ตุ่มหนอง หรือตุ่มตกสะเก็ด

ผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่ม ยังต้องเป็นผู้ที่เดินทางมาจาก หรืออาศัยอยู่ในประเทศที่มีการรายงาน การระบาดของโรคฝีดาษวานรในประเทศ (local transmission) ภายใน 21 วัน

ฝีดาษลิง

ฝีดาษลิง

กลุ่มเสี่ยงต้องทำอย่างไร

ผู้ที่เข้าเกณฑ์สอบสวนโรคฝีดาษลิง จะได้รับบัตรเตือนสุขภาพ (Health beware card) เป็น QR code ให้ผู้ที่มีอาการดังกล่าวสแกนเข้าระบบเพื่อรายงานอาการป่วย ซึ่งหลัก ๆ ในบัตรจะระบุว่าหากมีอาการ เช่น ไข้ มีตุ่มให้รายงานเข้าระบบและรีบไปพบแพทย์ในโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุด รวมถึงแจ้งประวัติการเดินทางจากประเทศกลุ่มเสี่ยงให้เจ้าหน้าที่ทราบด้วย

วิธีป้องกันฝีดาษลิง

สำหรับการป้องกันโรคฝีดาษลิงให้ปฏิบัติ ดังนี้

1. กรณีมีการเดินทางกลับจากประเทศที่เป็นเขตติดโรค ต้องทำการคัดกรองและเฝ้าระวังอาการจนครบ 21 วัน หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบไปพบแพทย์ทันที

2. ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยงหรือนำเข้าสัตว์จากต่างประเทศโดยไม่มีการคัดกรอง และทำการแยกกักเพื่อมิให้ผู้ป่วยมีการแพร่กระจายเชื้อ

3. หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อหรือสัตว์ป่า

4. หลีกเลี่ยงการกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ

5. หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์เมื่อสัมผัสกับสัตว์หรือคนที่ติดเชื้อ

ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422