ชัชชาติ-ธงทอง ประชุมบอร์ดเคที เห็นพ้องเปิดสัญญา สายสีเขียว -พร้อมจ่ายหนี้

ประชุมเคที ชัชชาติ ธงทอง
ภาพจากเฟซบุ๊ก Tongthong Chandransu

ธงทอง-ชัชชาติ เห็นพ้องต้อง “เปิดสัญญา”รถไฟฟ้าสายสีเขียว ก่อนสรุปประเด็นเคลียร์หนี้แสนล้านให้บีทีเอส พร้อมเก็บค่าโดยสารนอกเมือง 2 สายทันทีในเดือนสิงหาคมปีนี้ เพื่อไม่ให้ภาระหนี้ถลำลึก

วันที่ 2 กรกฎาคม 2565 นายธงทอง จันทรางศุ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หรือ เคที เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหาร (บอร์ดเคที) เรื่องสัญญาและข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว จากนั้นจึงเปิดแถลงข่าว พร้อมนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ

บอร์ดเคทีเชิญผู้ว่าฯ ชัชชาติ ในฐานะกทม. ฐานะหุ้นใหญ่ พร้อมนายวิศณุ ทรัพย์สมพล รองผู้ว่าฯกทม. นายต่อศักดิ์ โชติมงคล ประธานที่ปรึกษาผู้ว่าฯกทม. นางเกษรา ธัญลักษณ์ภาคย์ ที่ปรึกษาผู้ว่าฯกทม.เข้าร่วมรับฟังรายงานผลการประชุมครั้งนี้ด้วย

ต่อมาเวลา 15.30 น. นายธงทอง กล่าวภายหลังการประชุมว่า จากการการประชุมมา 1-3 ครั้ง ได้ข้อสรุปว่าสัญญาที่เคที ทำกับ บมจ. ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (BTSC) (บีทีเอสซี) ในเรื่องการจ้างเดินรถส่วนต่อขยาย 1 ช่วงสะพานตากสิน-วงเวียนใหญ่-บางหว้า และช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง และส่วนต่อขยายที่ 2 ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต มีความถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่

รวมทั้งรายละเอียดในส่วนของค่าใช้จ่ายค่าจ้างเดินรถ ซึ่งสัญญาการจ้างเดินรถ ปัจจุบันยังมีการร้องเรียนอยู่ที่สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งเป็นอำนาจของป.ป.ช. ที่จะต้องดำเนินการ ส่วน เคที จะทำหนังสือถึงป.ป.ช. ในการให้ความร่วมมือ ขณะเดียวกันเคที ขอรับทราบข้อมูลขั้นตอนการพิจารณาของป.ป.ช. ด้วย

นายธงทองกล่าวต่อว่า ส่วนต่อขยายที่ 2 จะมีการทบทวนเปรียบเทียบความแตกต่าง ที่มาของสัญญา ที่อนุมัติโดยสภากรุงเทพมหานคร ซึ่งความแตกต่างของส่วนต่อขยายที่ 1 มีการอนุมัติจากสภากทม. แต่ส่วนต่อขยายที่ 2 ไม่มีการผ่านการพิจารณาของสภากทม. ซึ่งเป็นหน้าที่กทม. ที่จะต้องไปติดตามตรวจสอบจากสภากทม.อีกครั้ง

ประชุมเคที ชัชชาติ ธงทอง
ภาพจากเฟซบุ๊ก Tongthong Chandransu

นอกจากนี้ที่ประชุมบอร์ดเคที ได้เห็นชอบให้เคที เจรจาบีทีเอสซี เรื่องค่าใช้จ่ายค่าจ้างเดินรถ และสูตรการคำนวนค่าจ้างเดินรถ ว่าคลาดเคลื่อนหรือไม่ ซึ่งต้องดูตัวแปรอื่น ๆ ด้วย เพราะในสัญญาเปิดช่องให้เคทีกับบีทีเอสซี สามารถเจรจากันได้ คาดว่าจะเจรจากันภายในเดือนก.ค.นี้

ส่วนการเปิดเผยตัวสัญญานั้น ที่ระบุไว้ว่าไม่สามารถเปิดเผยได้นั้น เนื่องจาก กทม. เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ น่าจะเปิดเผยกับกทม. ได้ ส่วนกทม.จะปฏิบัติอย่างไร ก็เป็นภารกิจของกทม.

ด้านนายชัชชาติกล่าวว่า รถไฟฟ้าสายสีเขียว มี 4 หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย 1. กทม. 2.บีทีเอสซี 3. เคทีและ 4. สภากทม. ทั้งนี้กทม.ยืนยันว่าจะจ่ายหนี้ทั้งหมด ทั้งในส่วนการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่เป็นค่าก่อสร้างโครงสร้าง พร้อมดอกเบี้ย

และในส่วนของบีทีเอสซี ที่เป็นค่าจ้างเดินรถ รวมแสนล้านบาท กทม. ต้องพิจารณาว่าการรับโอนหนี้นั้น ทำถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ขณะเดียวกันในการประชุมสภากทม. ที่จะมีขึ้นในวันที่ 6 ก.ค.นี้ จะมีการตั้งกระทู้สดติดตามว่ามีรายงานการประชุมที่อนุมัติรับโอนหนี้ดังกล่าวหรือไม่

ส่วนการเปิดเผยสัญญาเคทีกับบีทีเอสซี ที่ระบุว่าเป็นความลับนั้น ถือเป็นเรื่องแปลก แต่การจะเปิดเผยได้นั้น จะต้องใช้ข้อกฎหมายมาบังคับ ซึ่งกทม. อาจจะพิจารณาใช้ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร เพื่อจะให้สามารถเปิดเผยข้อมูลของสัญญาได้

ขณะเดียวกัน คาดว่าจะเริ่มเก็บค่าโดยสารในส่วนต่อขยายที่ 2 ในเดือนส.ค.นี้ โดยขณะนี้สำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) อยู่ระหว่างวิเคราะห์อัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม

ภาพจากเฟซบุ๊ก Tongthong Chandransu