สธ.ส่งสัญญาณ ไทยป่วยโควิดพุ่ง ชี้เป้า กทม. จังหวัดใหญ่ เมืองท่องเที่ยว

นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์
นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์

กระทรวงสาธารณสุขส่งสัญญาณเตือนไทยกลับมาป่วยโควิดเพิ่ม เผยตัวเลขผู้ป่วยเข้ารับการรักษาในรพ.เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เช่นเดียวผู้ป่วยหนักจากปอดอักเสบก็เพิ่มขึ้น คาดตัวเลขพีคสุดเดือนกันยายน 4,000 ราย/วัน จับตาพื้นที่กทม.และปริมณฑล รวมถึงจังหวัดใหญ่ เมืองท่องเที่ยว จังหวัดชายแดนใต้ คาดต้องมีมาตรการเพิ่มเติม แนะพื้นที่เสี่ยงต้องสวมหน้ากากตลอดเวลา

วันที่ 4 กรกฎาคม 2565 เมื่อเวลาประมาณ  12.00 น. ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค สธ. แถลงสถานการณ์โควิดประจำวันว่า  ขณะนี้หลายประเทศทั่วโลกพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้น และมีรายงานผู้เสียชีวิตต่อเนื่อง ซึ่งมีความสัมพันธ์กับเชื้อโอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 แต่เป็นการติดเชื้อระลอกเล็กๆ แต่บางประเทศก็เพิ่มขึ้น บางประเทศลดลง คนที่เสียชีวิตเพราะไม่ได้ฉีดวัคซีน หรือฉีดนานแล้ว หรือบางประเทศที่ถอดหน้ากากแล้ว ต้องประกาศให้กลับมาสวมหน้ากากอีกครั้ง เช่น ประเทศฝรั่งเศส เพราะพบ BA.5 เพิ่มขึ้น

หลายประเทศรวมไทยยอดป่วย BA.4, BA.5 เพิ่ม

“หลายประเทศสถานการณ์เพิ่มขึ้น ทั้งที่ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ มาเลเซีย ตอนนี้สถานการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยเริ่มเพิ่มขึ้น รวมถึงบางประเทศก็ยังมีรายงานผู้เสียชีวิตเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ของไทยเองดูจากสถานการณ์รายวันก็เพิ่มขึ้น”

ทั้งนี้ สถานการณ์ของประเทศอื่น พบว่าสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 ที่เพิ่มขึ้น เช่นแอฟริกาใต้ อังกฤษ และสหรัฐอเมริกาเพิ่มขึ้น และอยู่ในเกณฑ์ที่ค่อนข้างจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ส่วนจำนวนผู้เสียชีวิตถ้าดูจากแอฟริกาใต้มีระลอกเล็กๆเกิดขึ้นมา ที่แอฟริกาใต้จะเป็นระลอกที่ 5 ที่อเมริกาก็เป็นระลอกเล็กๆที่เหมือนติดดอยขึ้นมา นี่คือสายพันธุ์ของโอมิครอนเป็นสายพันธุ์ย่อยที่เพิ่มขึ้นในช่วงนี้

เช่นเดียวกับที่ฝรั่งเศสสถานการณ์ของ BA.5 ก็เพิ่มขึ้น รวมถึงออสเตรเลียด้วยที่ตอนนี้ตัวเลขของ BA.5 เพิ่มขึ้นมา 21% แล้ว

“ส่วนประเทศไทยมี BA.5 เพิ่มขึ้นมา 20% ใกล้เคียงกับทั่วโลก เพราะเรามีการเดินทาง ไม่ได้จำกัดการเดินทาง มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาก็อาจพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น รวมถึงสายพันธุ์ BA.4 BA.5 ด้วย แต่ของไทยเรายังไม่พบพีคใหม่ที่ชัดๆ เหมือนแอฟริกาใต้ อังกฤษ หรืออเมริกา รวมถึงในฝรั่งเศสและออสเตรเลีย เรากำลังจะเข้าสู่ระยะที่อาจจะพบ การระบาดที่อาจเพิ่มเติม หลังโอมิครอนระบาดในส่วนของ BA.1 และ BA.2 มาแล้ว และการระบาดของ BA.4 และ BA.5 ก็อาจจะมีผลตามมาบ้าง

ชี้ผู้ป่วยปอดอักเสบส่งสัญญาณเพิ่ม

ขณะนี้ในไทยผู้ป่วยปอดอักเสบเริ่มเพิ่มขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และเริ่มเพิ่มจำนวนมากขึ้นจาก 630 ราย เป็น 670 ราย สถานการณ์จะสอดคล้องกับผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยรายใหม่ ส่วนผู้ป่วยปอดอักเสบอาจต้องใช้เวลาอีกสักระยะถึงจะมีอาการหนักได้

ส่วนผู้ป่วยเสียชีวิตสถานการณ์อยู่ในเกณฑ์คงตัว ขณะที่ผู้ป่วยอาการที่ไม่รุนแรงมีจำนวนเพิ่มขึ้น จากที่เคยอยู่ในระดับหมื่นราย ตอนนี้เพิ่มขึ้นมาเป็น 14,000-15,000 รายแล้ว ก็แสดงว่า การแพร่กระจายของเชื้ออยู่เป็นวงกว้าง เช่น ในครอบครัว คนใกล้ชิดแล้วก็รักษาตัวที่บ้าน และลงทะเบียนรับยาตามระบบอยู่ ทำให้ระบบ OPSI(ATK) หรือระบบผู้ป่วยนอกที่รับการรักษาที่โรงพยาบาลเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา จาก191,000 ราย เพิ่มเป็น 207,643 ราย ณ วันที่ 3 ก.ค.2565 เพิ่มขึ้นค่อนข้างเยอะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา

เตือนพื้นที่กทม. จังหวัดใหญ่ เมืองท่องเที่ยว

“เป็นสัญญาณเตือนเริ่มต้นว่า กรุงเทพฯ ปริมณฑล, จังหวัดใหญ่ จังหวัดท่องเที่ยว ต้องพิจารณาควบคุมการระบาดบางส่วน อาจจะต้องเพิ่มมาตรการป้องกันโรค เช่น การสวมหน้ากากอนามัย โดยเฉพาะพื้นที่รวมกลุ่มคนมากๆ ขนส่งสาธารณะทุกประเภท ทั้งนี้ สถานที่เสี่ยง พบระบาดกลุ่มก้อนในจังหวัดเหล่านี้ รวมถึง 3 จังหวัดชายแดนใต้ คือ โรงเรียน สถาบันการศึกษาหลายจังหวัด โดยพบเป็นคลัสเตอร์เล็กๆ ซึ่งคุมได้ แต่อาจจะแพร่สู่ครอบครัว กลุ่ม 608 ได้” นพ.จักรรัฐ กล่าว

นพ.จักรรัฐ กล่าวต่อว่า จากการคาดการณ์หลังวันที่ 1 กรกฎาคมเป็นต้นไป จนถึงปี 2566 คาดว่าตั้งแต่สัปดาห์นี้เป็นต้นไป จนถึง 10 สัปดาห์ข้างหน้า(เดือนกันยายน) สถานการณ์ของประเทศไทยจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นและจำนวนป่วยเพิ่มขึ้น และเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล (รพ.) มากขึ้น แต่อาจจะเข้ารับการรักษาใน รพ.ไม่มากเท่าช่วงต้นที่เชื้อโอมิครอนระบาด ซึ่งมีหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องวัคซีนที่ฉีดจำนวนมาก

แต่อีกปัจจัยสำคัญคือ การป้องกันโรคส่วนบุคคล หากยังป้องกันใกล้เคียงก่อนผ่อนคลายมาตรการกราฟจะไม่สูงมาก แต่หากผ่อนคลายหมด คนไม่สวมหน้ากากเลย เส้นกราฟจะแตกต่าง โดยคาดว่าเดือนกันยายนจะมีผู้ป่วยสูงสุดวันละ 4,000 คน

นพ.จักรรัฐ กล่าวอธิบายเพิ่มเติมว่า สถานการณ์ในประเทศไทยขณะนี้ มีผู้ป่วยอาการหนัก 677 ราย ใส่ท่อช่วยหายใจ 293 ราย พบว่า ปอดอักเสบเริ่มเพิ่มขึ้นเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สอดคล้องกับที่มีรายผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น แต่ผู้ป่วยใส่ท่อช่วยหายใจไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก ยังทรงตัว สำหรับผู้ป่วยเสียชีวิตทรงตัว ลดลงเล็กน้อย ขณะที่ผู้ป่วยรายใหม่ที่เข้ารักษาตัวใน รพ.ก็ยังทรงตัว แต่ผู้ป่วยอาการไม่รุนแรงเพิ่มขึ้น

 

ระบุตัวเลขแอตมิตนอนรพ.เพิ่ม

นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า สรุปผู้ป่วยปอดอักเสบเข้า รพ. และครองเตียง ภาพรวมทั้งประเทศประมาณร้อยละ 10.9 บางจังหวัดมีการปรับเตียงไปใช้ดูแลผู้ป่วยโรคอื่นๆ แล้ว เหลือเตียงสำหรับโควิด-19 ไว้บางส่วน จึงทำให้ดูเหมือนว่าสัดส่วนอัตราการครองเตียงสูงขึ้น เช่น กรุงเทพฯ ปริมณฑล จังหวัดท่องเที่ยวอื่นๆ แต่การครองเตียงที่ระดับร้อยละ 20-30 ยังสามารถรองรับได้ เพราะเกณฑ์การรองรับคือ ร้อยละ 50 หากเกินนี้จึงจะมีมาตรการเพิ่มเตียงได้

“สถานการณ์ที่มีการแอตมิตรับการรักษาในโรงพยาบาล ตอนนี้กรุงเทพและปริมณฑลเป็นจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อและเข้ารับการรักษาโดยนอนโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นพอสมควร และยังมีเพิ่มขึ้นในบางจังหวัด เช่นสมุทรปราการ ชลบุรี และจังหวัดปริมณฑลอย่างนนทบุรีและปทุมธานี” นพ.จักรรัฐ กล่าว และว่า

จากการติดตามสถานการณ์ตอนนี้สอดคล้องกัน ทั้งประเทศมีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นในกลุ่มกรุงเทพฯและปริมณฑลและในจังหวัดใหญ่ๆ โดยเฉพาะจังหวัดท่องเที่ยว ในขณะที่จังหวัดเล็กๆที่เคยเพิ่มขึ้นมาเมื่อ 2 เดือนที่แล้วลดลงไปพอสมควร ตอนนี้กลับมาระบาดที่จังหวัดใหญ่ๆแทน

นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ถ้าดูในระบบของสปสช. ในระบบ HI/OPSI ที่เป็นผู้ป่วยนอกและส่วนใหญ่จะตรวจด้วย ATK จะพบว่าตอนนี้เริ่มกลับขึ้นมาแล้ว เป็นสัญญาณเตือน แต่ยังไม่รุนแรงมาก เป็นสัญญาณเตือนที่เริ่มต้นตอนนี้ว่า จังหวัดใหญ่ๆ กรุงเทพและปริมณฑล จังหวัดท่องเที่ยว คงต้องพิจารณาที่จะควบคุมการระบาดในบางส่วน

เช่นอาจจะต้องเพิ่มเติมมาตรการการป้องกันโรค เช่นมาตรการสวมหน้ากากอนามัยที่จำเป็นจะต้องสวมตลอดเวลา โดยเฉพาะการไปใช้พื้นที่ที่มีคนจำนวนมากๆ หรือไปร่วมกิจกรรมที่มีกลุ่มคนจำนวนมากๆ และการใช้ขนส่งสาธารณะทุกประเภทจำเป็นต้องสวมหน้ากากตลอดเวลา