กรมวิทย์เผยโควิดโอมิครอน BA.4-BA.5 ระบาดเพิ่ม กรุงเทพฯติดเชื้อสูงสุด

กรมวิทย์ฯ เผยโอมิครอนสายพันธุ์ “BA.4 – BA.5” มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น คาดอีกไม่นานครองตลาดในไทย วอนให้สวมหน้ากากอนามัย-ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น พร้อมเฝ้าระวังสายพันธุ์ BA.2.75

วันที่ 4 กรกฎาคม 2565  นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยถึงการเฝ้าระวังโควิด-19 สายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 ว่า จากการติดตามเฝ้าระวังระบาดของสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 รอบสัปดาห์ที่ผ่านมาพบว่า ปัจจุบันโควิดเป็นโอมิครอน 100% ทั้งนี้ สัปดาห์ที่ผ่านมามีการตรวจด้วย SNP ทั้งหมด 948 ราย พบว่า เป็นสายพันธุ์ย่อย BA.2 จำนวน 447 ราย ส่วน BA.4 และ BA.5 ยังไม่ได้แยกเพราะเป็นการตรวจชั้นต้น มีการกลายพันธุ์ในตำแหน่งเดียวกัน

สำหรับการตรวจโดยรวมพบว่ามี 489 ราย แบ่งกลุ่มผู้เดินทางจากต่างประเทศ จำนวน 46 ตัวอย่าง พบว่า เป็น BA.4 และ BA.5 ประมาณ 78.3% ส่วนกลุ่มในประเทศมี 900 ตัวอย่าง เป็น BA.4 และ BA.5 กว่า 50.3% ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และหากเป็นแบบนี้คาดการณ์ว่า อีกไม่นานสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 จะครองตลาดของการติดเชื้อในประเทศไทย

“จากการสุ่มตรวจในประเทศขณะนี้ พบผู้ติดเชื้อ BA.4 และ BA.5 ทุกเขตสุขภาพ เว้นเขต 3, 8 และ 10 พบมากที่สุด คือ กรุงเทพมหานคร ซึ่งจะส่งผลต่อเปอร์เซ็นต์ภาพรวมประเทศด้วย”

นอกจากนี้ การตรวจชั้นต้นได้ผล 1 วันแล้ว ยังนำจำนวนตัวอย่างบางส่วนมาถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว ซึ่งต้องใช้เวลา 1 สัปดาห์ บางส่วนอาจซ้ำกัน ดังนั้น BA.4 และ BA.5 ในไทยมีประมาณ 1,000 ราย แต่ตัวเลขนี้ไม่ได้มีความหมาย เพราะต้องดูสัดส่วนคนติดเชื้อทั้งหมด หากสัดส่วนเยอะกว่าอีกสายพันธุ์หนึ่งก็แสดงว่าแพร่เร็วกว่า

เมื่อวิเคราะห์ตามกลุ่มต่าง ๆ ช่วงวันที่ 25 มิถุนายน-1 กรกฎาคม 2565 เป็นข้อมูลที่ต้องติดตามต่อ โดยพบว่า 173 รายในภาพรวมมี BA.4 และ BA.5 กว่า 35.8% ส่วนบุคลากรทางการแพทย์ มี 44 รายพบ BA.4 และ BA.5 ประมาณ 29.5% แสดงว่าสายพันธุ์กลุ่มนี้ไม่ได้เกิดในกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์มากกว่ากลุ่มอื่น

ส่วนกลุ่มที่มีค่า ct น้อย ๆ คือ เชื้อเยอะ ๆ มี 19 ราย พบเป็นสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 กว่า 36.8% ส่วนกลุ่มที่มีอาการรุนแรง หรือเสียชีวิต ได้ตัวอย่างมาเพียง 11 ราย พบสัดส่วนสายพันธุ์นี้ 36.4% ไม่ได้แตกต่างกันมาก

อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นข้อมูล ณ วันนี้ ยังไม่พบความรุนแรงจากสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 เมื่อเทียบกับ BA.1 และ BA.2 เดิมอย่างเห็นได้ชัด จึงขอความร่วมมือโรงพยาบาลที่มีคนไข้ใส่ท่อช่วยหายใจ ปอดอักเสบส่งตัวอย่างมาเพิ่มขึ้น เพื่อให้ได้ข้อมูลสถิติที่แม่นยำขึ้น

สรุปคือ สายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 ในไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นกว่า 50% และจะค่อย ๆเบียดโอมิครอน ขณะที่ความรุนแรงข้อมูลยังไม่มากพอ ต้องติดตามคนใส่ท่อช่วยหายใจ ปอดอักเสบเพิ่มเติม

ดังนั้น ยังต้องเข้มงวดมาตรการ ทั้งสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด แม้ภาครัฐไม่ได้บังคับแล้ว แต่ขอให้ป้องกันตัวเอง รวมถึงการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อให้ภูมิคุ้มกันสูงมากพอ และยังจำเป็นโดยเฉพาะกลุ่ม 608 และผู้ที่ได้รับเข็มสุดท้ายนานเกิน 4 เดือน แม้ยังไม่มีวัคซีนรุ่นใหม่ๆ แต่เชื่อว่าการฉีดเข็มกระตุ้นจะช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้

ผู้สื่อข่าวถามต่อไปว่า นอกจากสายพันธุ์ BA.4 และ BA.5 ยังมีกรณีสายพันธุ์ เพราะ BA.2.75 ที่พบในอินเดีย สหรัฐ และอังกฤษ เป็นสายพันธุ์น่ากังวลหรือไม่

นพ.ศุภกิจ ระบุว่า หาก BA.2.75 มีปัญหามาก ทางองค์การอนามัยโลกจะจัดให้เป็น VOC-LUM แต่ตอนนี้ยังไม่จัด และการรายงานข้อมูลไปที่จีเสสยังถือว่ายังน้อยเกินไป จึงไม่ต้องกังวลกรมวิทย์ฯ มีการเฝ้าระวังตลอด และประเทศไทยยังไม่มีสายพันธุ์  BA.2.75