กทม.จับมือกระทรวงดิจิทัลฯ – กสทช. ตั้งเป้าจัดระเบียบสายสื่อสาร 800 กม.

กทม.จับมือกระทรวงดิจิทัลฯ – กสทช. ตั้งเป้าจัดระเบียบสายสื่อสาร 800 กม. ใน 16 เขต เล็งใช้ พ.ร.บ.ความสะอาด มาตรา 39 รื้อสายสื่อสาร

วันที่ 4 กรกฎาคม 2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังการประชุมหารือเรื่อง กรุงเทพมหานครเมืองอัจฉริยะ (Bangkok Smart City) และการบริหารจัดการท่อร้อยสายสื่อสารลงใต้ดิน ร่วมกับ นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT ร่วมหารือกรณีปัญหาเกี่ยวกับสายสื่อสารที่รกรุงรัง เป็นปัญหาที่ได้ยินมานานมากแล้ว รวมถึงเกิดเหตุไฟไหม้ครั้งล่าสุดที่เขตสัมพันธวงศ์ ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 2 ราย รวมถึงข่าวไฟไหม้อย่างต่อเนื่อง

ในเรื่องนี้มีหลายหน่วยงานเกี่ยวข้อง อาทิ กสทช. กทม. การไฟฟ้านครหลวง ผู้ให้บริการระบบสื่อสารโทรคมนาคม และผู้ให้บริการเรื่องท่อร้อยสาย ซึ่งวันนี้ท่านรัฐมนตรี กระทรวงดิจิทัลฯ เป็นเจ้าภาพคนกลางที่จะรับประสานงานทุกหน่วยงานให้

ขณะนี้ได้ความชัดเจนมากขึ้น โดยมี 2 เรื่องที่ต้องดำเนินการ เรื่องแรกคือ การจัดระเบียบสายสื่อสารที่รกรุงรังก่อน แต่ยังไม่ถึงกับต้องเอาสายลงดินทันที อย่างน้อยเอาสายตายหรือสายที่ไม่ใช้งานรื้อออกให้หมดก่อน ซึ่ง กสทช.ก็ได้มีแผนอยู่แล้วและยังมีเงินสนับสนุนให้ทางการไฟฟ้านครหลวงจำนวน 700 ล้านบาทด้วย เนื่องจากต้องใช้แรงงานในการคัดเลือกสายที่ไม่ได้ใช้งานออก

ซึ่งปีแรกจะดำเนินการ 800 กิโลเมตร ในพื้นที่กรุงเทพฯชั้นใน 16 เขต ที่มีประชากรหนาแน่นและมีสายสื่อสารหนาแน่น ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทาย ขณะนี้เดือนกรกฎาคมดำเนินการแล้ว 20 กม. เราต้องเร่งผลักดันทำให้ได้ 800 กม.ตามสัญญา โดยได้ให้นโยบายสำนักงานเขตในการดูพื้นที่ที่เป็นต้นแบบในการดำเนินการซึ่งจะนัดหมายกับ กสทช.ทำการ Mapping จุดต่าง ๆ ต่อไป

นอกจากนี้ รัฐมนตรีจะมีการแต่งตั้งคณะทำงานที่มาจากหน่วยงานต่าง ๆ อาทิ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กสทช. กรุงเทพมหานคร การไฟฟ้านครหลวง Operator ผู้พาดสายสื่อสาร และ operator ผู้ทำเรื่องท่อร้อยสาย เพื่อทำการเร่งรัดกำหนดเป้าหมาย (KPI) ว่าแต่ละเดือนต้องรื้อสายสื่อสารจำนวนเท่าไหร่ เพื่อเป็นตัวชี้วัดที่เป็นรูปธรรม เนื่องจากการดำเนินการมีต้นทุนเท่าเดิมแต่เวลาเดินไปเรื่อย ๆ ซึ่งเวลามีค่าจึงต้องเร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่อง

เรื่องที่ 2 คือเรื่องการนำสายสื่อสารลงดิน ก่อนหน้านี้ กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการโดยบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (KT) แต่ขณะนี้มีผู้ประกอบการอื่น ๆ ซึ่งมีท่อร้อยสายอยู่แล้ว เช่น บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (NT) ซึ่งมีท่อเก่าอยู่ เพราะฉะนั้นปัจจัยสำคัญที่สุดคือประโยชน์ของผู้บริโภค ถ้าเกิดเราคิดค่าเช่าท่อแพงสุดท้ายก็จะเป็นภาระของผู้บริโภคและผู้ใช้สายสื่อสาร

ซึ่งอาจจะต้องแต่งตั้งคณะทำงานอีกชุดหนึ่งโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในเรื่องของการนำสายสื่อสารลงดิน เช่น KT กทม. กสทช. NT ซึ่ง กทม.จะสนับสนุนเต็มที่และคงต้องคุยกับผู้ประกอบการว่าใช้วิธีไหนให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้บริโภค ซึ่งจะเป็นขั้นตอนต่อไป

เนื่องจากการนำสายสื่อสารลงดินต้องใช้ต้นทุนทั้ง 2 ฝ่าย ทั้งผู้ทำท่อร้อยสายและผู้เป็นเจ้าของสายสื่อสาร เนื่องจากสายบนดินจะนำลงสู่ใต้ดินก็ต้องใช้การลงทุนเพิ่มซึ่งต้องทำให้เหมาะสม อย่างน้อยขั้นตอนแรกที่เราจัดระเบียบก็จะทำให้ความรกรุงรังของสายสื่อสารลดลง โดยคาดว่าจะมีผลเป็นรูปธรรมตั้งแต่เดือนหน้าเป็นต้นไป

จากนั้นเวลา 15.30 น. ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเดินทางมาร่วมประชุมหารือการนำสายสื่อสารลงดิน ร่วมกับ นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และผู้บริหาร กสทช. ณ ห้องประชุมชั้น 12 สำนักงาน กสทช. ซอยพหลโยธิน 8 เขตห้วยขวาง

โดยเปิดเผยว่า กสทช.และ กทม.ทำงานร่วมกันมาอย่างต่อเนื่อง โดยวันนี้ได้มารับการยืนยันจาก กสทช.ถึงแผนการดำเนินการในปีนี้ คือ 800 กม.ในพื้นที่ 16 เขต ของกรุงเทพฯ ซึ่ง กสทช.ได้เตรียมงบประมาณไว้แล้ว ประมาณ 700 ล้านบาท โดยในปีนี้จะดำเนินการ 16 เขตแรกก่อนที่มีประชากรหนาแน่นและสายสื่อสารหนาแน่น ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการที่รัฐบาลได้ทำมาก่อนหน้านี้แล้ว กทม.มีหน้าที่อำนวยความสะดวกและสนับสนุนการดำเนินงานตามแผนงานของ กสทช.

โดยให้ กสทช.เป็นหลักในการดำเนินการและประสานงานหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งเป็นความร่วมมือกันเพื่อพี่น้องประชาชนเพื่อให้สำเร็จลุล่วงตามเป้าหมาย 800 กม. เนื่องจากเป็นสิ่งที่ประชาชนต้องการ โดยจะเห็นผลเป็นรูปธรรมภายในปีนี้ สำหรับงบประมาณดำเนินการ ระยะทาง 800 กม. ที่ใช้งบประมาณ 700 ล้านบาทนั้น จะมาจากงบประมาณของ กสทช. ปี 2564-2565 ที่มาจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือกองทุน USO ของสำนักงาน กสทช.

โดยบอร์ด กสทช.ได้อนุมัติให้ดำเนินการมาแล้วก่อนหน้านี้ และตามแผนงานจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ แต่ติดขัดในช่วงที่ผ่านมา อาจยังไม่ได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบการเท่าที่ควร จึงทำให้เกิดความล่าช้าในการดำเนินงาน ซึ่งขณะนี้คืบหน้าเพียง 25-30% เท่านั้น โดยภายในสัปดาห์นี้ กสทช.จะเชิญผู้ประกอบการสายสื่อสาร และ กฟน. มาร่วมหารือ เพื่อเร่งรัดดำเนินการให้เสร็จได้ทันตามที่กำหนดภายในปี 2565

“ต่อไปนี้ กทม.จะใช้ พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ มาตรา 39 เพื่อแก้ปัญหาสายสื่อสารรกรุงรัง และ กทม.จะออกประกาศ เพื่อบังคับใช้ในอนาคต หากใครไม่มีใบอนุญาตติดตั้งสายสื่อสารจาก กสทช.จะไม่สามารถพาดสายได้ หากใครฝ่าฝืนจะต้องถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ส่วนสายสื่อสารที่ไม่มีสัญญาณวิ่งหรือว่าสายตายเราจะต้องตัดทิ้งลงให้หมด เพื่อลดปัญหาของสายสื่อสารผิดกฎหมายและความรกรุงรังของสายสื่อสาร


นอกจากนี้ยังได้หารือกับ กสทช.เรื่องอินเทอร์เน็ตฟรีให้ประชาชนตามที่สาธารณะต่าง ๆ เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล หน่วยงานของกรุงเทพมหานคร ศูนย์บริการสาธารณสุข สวนสาธารณะ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้สะดวกขึ้นในอนาคต” ผู้ว่าฯชัชชาติกล่าว