BA.4-BA.5 สายพันธุ์ย่อยโอมิครอน อาการเป็นอย่างไร อัพเดตสถานการณ์

โควิด
FILE PHOTO : Philip FONG / AFP

โควิด-19 โอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ทำให้เกิดการระบาดระลอกใหม่ทั้งในไทยและทั่วโลก สร้างความกังวลว่าจะทำให้ผู้ติดเชื้อมีอาการรุนแรงมากขึ้นหรือไม่ 

มาตรการผ่อนคลายการควบคุมโควิด-19 อาจต้องนำกลับมาพิจารณาใหม่ ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ที่ขณะนี้พบการระบาดแล้วในหลายประเทศทั่วโลก และกำลังลุกลามเข้ามาในไทย ล่าสุด กระทรวงสาธารณสุขอยู่ในช่วงเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ของทั้ง 2 สายพันธุ์ย่อย อย่างใกล้ชิด

“ประชาชาติธุรกิจ” รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยทั้ง 2 สายพันธุ์ รวมถึงอัพเดตข้อมูลความรุนแรงและสถานการณ์ล่าสุด

BA.4-BA.5 คืออะไร

เชื้อโควิดกลายพันธุ์โอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.4-BA.5 เป็นเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ พบการระบาดอย่างรวดเร็วตลอดช่วงที่ผ่านมา และทำให้ยอดผู้ติดเชื้อโรคโควิด-19 พุ่งสูงขึ้นทั่วโลก ตรวจพบครั้งแรกในประเทศแอฟริกาใต้ จากนั้นได้กลายเป็นสายพันธุ์หลักที่แพร่ระบาดในสหรัฐอเมริกาและประเทศแถบยุโรป อีกทั้งยังติดอยู่ในลิสต์ที่องค์การอนามัยโลก (WHO) เฝ้าระวัง ตั้งแต่เดือนมีนาคมที่ผ่านมา

BA.4-BA.5 อันตรายแค่ไหน

ทั้ง 2 สายพันธุ์เป็นเชื้อโควิดที่สามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันได้ดี อีกทั้งยังดื้อต่อยารักษาโรคมากขึ้น โดยข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ให้ข้อมูลผลการวิจัยทางห้องปฏิบัติการว่า เชื้อ BA.4 และ BA.5 สามารถทำลายปอดและมีอาการปอดอักเสบได้ง่ายขึ้น แต่ข้อมูลทางคลินิกยังไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะบอกความรุนแรงของโรคได้ชัดเจน

ด้าน นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2565 ว่า ข้อมูลเบื้องต้น ยังไม่พบความรุนแรงจากทั้ง 2 สายพันธุ์ เมื่อเทียบกับสายพันธุ์ย่อย BA.1 และ BA.2 และยังได้ขอความร่วมมือให้โรงพยาบาลที่มีคนไข้ใส่ท่อช่วยหายใจ ปอดอักเสบส่งตัวอย่างมาเพิ่มขึ้น เพื่อให้ได้ข้อมูลสถิติที่แม่นยำมากขึ้น

เตือนกลุ่มเสี่ยงอาจล้มป่วยหนัก

ขณะเดียวกัน บีบีซีไทย เผยแพร่รายงานของ มิเชลล์ โรเบิร์ตส์ บรรณาธิการข่าวสุขภาพ บีบีซี นิวส์ ออนไลน์ ระบุถึงกลุ่มบุคคลที่มีความเสี่ยงอาการรุนแรงมากที่สุดจากเชื้อไวรัส BA.4 และ BA.5 คือ ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัวร้ายแรง

อาการ BA.4-BA.5 เป็นอย่างไร

ผู้ที่สงสัยว่าตนเองติดโควิดสายพันธุ์ย่อย BA.4-BA.5 ให้สังเกตได้จากอาการที่เด่นชัดของสายพันธุ์ดังกล่าว ประกอบด้วย

  • อ่อนเพลีย
  • เหนื่อย
  • ไอแห้ง
  • เจ็บคอ
  • ไข้
  • มีน้ำมูก
  • ปวดศีรษะ
  • เวียนศีรษะ
  • คลื่นไส้
  • ปวดเมื่อยตามร่างกาย
  • ถ่ายเหลว

วัคซีนต้าน BA.4-BA.5 ได้แค่ไหน

แล้วถ้าถามว่า คนที่เคยติดเชื้อโควิดโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1 มาแล้วก่อนหน้านี้ จะสามารถติดสายพันธุ์ย่อย BA.4 และ BA.5 ได้หรือไม่ ทางศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เคยให้ข้อมูลไว้ว่า แอนติบอดีที่ร่างกายมนุษย์ได้สร้างขึ้นจากการติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ดั้งเดิม BA.1 ตามธรรมชาติ (natural infection) ไม่สามารถปกป้องการติดเชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ใหม่ อย่าง BA.4 และ BA.5 ได้ดี

คนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนแต่เพิ่งหายขาดจากการติดเชื้อ BA.1 นั้น ความสามารถที่ร่างกายจะต่อต้านไวรัส BA.4 และ BA.5 ลดลงมากกว่า 7 เท่า ส่วนผู้ที่เคยฉีดวัคซีนและเพิ่งหายขาดจากการติดเชื้อ BA.1 ร่างกายจะต่อต้านไวรัส BA.4 และ BA.5 ลดลงไปเพียง 3 เท่า

ผลลัพธ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า หากมีการฉีดวัคซีนก่อนและมีการติดเชื้อ BA.1 ร่วมด้วย แอนติบอดีที่ร่างกายสร้างขึ้นจะสามารถยับยั้งไวรัส BA.4 และ BA.5 ได้ในระดับหนึ่ง ทำให้ไม่ป่วย ไม่เสียชีวิต เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนแต่มีการติดเชื้อ BA.1 ตามธรรมชาติแต่เพียงอย่างเดียว

ไทยทดสอบระดับภูมิคุ้มกันต่อวัคซีน

ส่วนการทดสอบระดับภูมิคุ้มกันต่อวัคซีน นพ.บัลลังค์ อุปพงษ์ รองอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์ฯอัพเดตว่า ขณะนี้ได้เพาะเชื้อโควิด BA.5 จำนวน 21 ตัวอย่าง ในวัคซีนสูตรซิโนแวค 2 เข็ม ตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้าเป็นเข็มที่ 3 จำนวน 10 ตัวอย่าง สูตรซิโนแวค 2 เข็ม ตามด้วยไฟเซอร์เป็นเข็มที่ 3 จำนวน 11 ตัวอย่าง โดยผลจะออกภายในวันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคมนี้ ส่วนการทดสอบฉีดเข็มกระตุ้นด้วยไฟเซอร์ขนาด 1 ใน 6 โดส ผลจะออกในสัปดาห์หน้า ส่วน BA.4 เชื้อยังเพาะได้ไม่แข็งแรงพอต่อการทดสอบ

BA.4-BA.5 ระบาด กทม. มากสุด

สำหรับสถานการณ์การระบาด BA.4-BA.5 ในไทยล่าสุด เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม 2565 จากการรายงานของกระทรวงสาธารณสุข พบว่า จากการตรวจรวม 489 ตัวอย่าง แบ่งเป็นกลุ่มผู้เดินทางจากต่างประเทศจำนวน 46 ตัวอย่าง พบว่า เป็น BA.4 และ BA.5 ประมาณ 78.3% ส่วนกลุ่มในประเทศมี 900 ตัวอย่าง ตรวจพบ BA.4 และ BA.5 ราว 50.3%

ที่น่าสังเกตคือ การเพิ่มขึ้นของจำนวนการติดเชื้อในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา เริ่มจาก 6% ขยับมาเป็น 44.3% และมาถึง 51.7% ทางกระทรวงสาธารณสุขจึงคาดการณ์ว่า อีกไม่นานทั้ง 2 สายพันธุ์จะสามารถครองการระบาดในประเทศไทยได้อย่างแน่นอน โดยตอนนี้พบการระบาดมากที่สุดในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร