สธ.ร่อนหนังสือสถานพยาบาลเตรียมพร้อมรับโควิด หมอโอภาสแจงแล้ว

หมอโอภาสแจงแล้ว หลังกระทรวงสาธารณสุขร่อนหนังสือแจ้งสถานพยาบาลเตรียมความพร้อมรับโควิด เผย รอ ศบค. 8 ก.ค. เคาะโควิด โรคประจำถิ่นหรือไม่ 

วันที่ 5 กรกฎาคม 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวถึงการกักตัวของผู้ป่วยโควิด-19 ว่าเดิมกำหนดให้มีการกักตัว 7+3 วัน คือกักตัว 7 วัน สังเกตอาการอีก 3 วัน แต่ล่าสุดคณะกรรมการวิชาการได้ลดเหลือ 5+5 จะรอนำเข้าที่ประชุม ศบค.วันที่ 8 กรกฎาคมนี้

ส่วน นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ติดเชื้อโควิด-19 ก่อนหน้านี้ ถือว่าเกิน 10 วันแล้ว โดยการนับจะนับตั้งแต่วันที่มีอาการ เพราะการแพร่เชื้อจะมีการแพร่เชื้อ 2 วันก่อนมีอาการ และ 3 วันหลังมีอาการ ดังนั้น จึงต้องนับจากวันที่เริ่มมีอาการ เพราะฉะนั้นกรณีของนายอนุทินจึงไม่น่าจะมีอะไร และช่วงที่ออกงานเมื่อวันที่ 4 กรกฎาคมที่ผ่านมาก็ยืนห่างจากคนอื่น

เมื่อถามว่าที่เคยบอกว่าวันที่ 1 กรกฎาคม จะให้โควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ยังคงเป็นไปตามนั้นหรือไม่ นพ.โอภาสกล่าวว่า รอที่ประชุม ศบค.ว่าจะมีมติออกมาอย่างไร เพราะต้องมีการพิจารณาทั้งมาตรการทางด้านการแพทย์และสาธารณสุข สังคม และกฎหมาย อย่างไรก็ตาม วันที่ 1 กรกฎาคมที่จะให้เป็นโรคประจำถิ่น ถือเป็นกรอบกว้าง ๆ แต่สุดท้ายต้องให้ ศบค.เป็นผู้พิจารณา แต่เชื่อว่าการดำรงชีวิตของเราคงไม่ได้เปลี่ยนไปมากกว่านี้

เมื่อถามว่าการเป็นโรคประจำถิ่นต้องมีประกาศออกมาชัดเจนหรือไม่ นพ.โอภาสกล่าวว่า ความจริงในนิยามกฎหมายไม่มีคำว่าโรคประจำถิ่น มีแต่โรคติดต่อ โรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง หรือโรคติดต่ออันตราย มี 3 ระดับ ตอนนี้เราอยู่ในระดับสูงสุด คือโรคติดต่ออันตราย เพราะฉะนั้นหากจะลดระดับ จะเหลือโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวัง แต่ทั้งนี้ต้องรอ ศบค.พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

ผู้สื่อข่าวถามว่า ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อสูงขึ้น สถานการณ์มีการรองรับเตียงอย่างไรบ้าง นพ.โอภาสกล่าวว่า ทราบดีว่าสถานการณ์การติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นตั้งแต่ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ต้องมีการแจ้งเตือน การติดเชื้อมากขึ้นมาจาก 2 ปัจจัยคือ 1.ตอนนี้กิจกรรมเราเยอะมาก ส่วนใหญ่จะเจอในงานเลี้ยง งานปาร์ตี้ และ 2.มาจากเชื้อ BA.4 BA.5 ที่ติดเชื้อเร็วขึ้น แต่พบว่าความรุนแรงของโรคไม่ได้มากขึ้นตามไปด้วย

นพ.โอภาสกล่าวว่า ที่กำลังตามดูขณะนี้คือภาวะการรองรับด้านการรักษาผู้ป่วยหนักมากขึ้นหรือไม่ เตียงรองรับพอหรือไม่ แต่ภาพรวมของประเทศผู้ป่วยหนักไม่ได้มากขึ้น แต่เป็นสัดส่วนจำนวนเคสที่เพิ่มมากขึ้นเท่านั้น ส่วนใหญ่ตอนนี้ติดเชื้อก็รักษาตัวอยู่บ้าน กินยาก็หายเองได้ ดังนั้น เตียงตามโรงพยาบาลยังเพียงพอ เหลือแต่ที่ กทม.เท่านั้น เนื่องจาก กทม.มีระบบที่ซับซ้อน บางคนอาการเบาแต่จำเป็นต้องอยู่โรงพยาบาลเนื่องจากมีเรื่องของประกันสุขภาพที่ระบุว่าต้องนอนโรงพยาบาล ทำให้เสียเตียงไปจำนวนหนึ่ง

เมื่อถามถึงกรณีที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุขทำหนังสือแจ้งเตือนไปถึงทั่วประเทศ จำเป็นต้องหวั่นวิตกหรือไม่ นพ.โอภาสกล่าวว่า ไม่ใช่เฉพาะปลัดกระทรวงสาธารณสุข แต่ปลัดกระทรวงมหาดไทยก็ทำเหมือนกัน เป็นการเตือนหน่วยราชการให้ระมัดระวัง เข้มงวด เตรียมพร้อม ทั้งนี้ ถือเป็นมาตรการเตรียมความพร้อมตามปกติ แต่เตรียมพร้อมดีกว่าไม่เตรียมพร้อม พวกเราก็ต้องเตรียมพร้อมด้วย