คืบหน้ารถไฟฟ้าสายสีเขียว ชัชชาติ ผู้ว่าฯ กทม. แจงเปิดหมด สัญญา-ภาระหนี้

ชัชชาติสายสีเขียว

 ผู้ว่าฯ กทม.แจงทุกขั้นตอนการเดินหน้ารถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยาย ยันค่าแรกเข้าต้องเริ่มต้น 14 บาท ขอรัฐบาลร่วมรับภาระหนี้ค่าก่อสร้าง

วันที่ 1 สิงหาคม 2565 ภายหลังการประชุมผู้บริหารกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 15/2565 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เปิดเผยถึงความคืบหน้ารถไฟฟ้าสายสีเขียว

“ประชาชาติธุรกิจ” นำเสนอการแถลงข่าวของ ผู้ว่าฯ กทม.แบบคำต่อคำ ทุกประเด็นที่มีความคืบหน้า

นายชัชชาติเริ่มต้นว่า “เรื่อง BTS ก็ต้องเรียนว่า ถ้าเรามีหนี้ที่ถูกต้องและโปร่งใสทุกอย่างเราก็ต้องจ่ายอยู่แล้ว ไม่มีบิดไม่มีอะไรทั้งสิ้น ปัจจุบัน กทม. เป็นหนี้คือของกรุงเทพธนาคม คือเราทำสัญญากับกรุงเทพธนาคม (KT) ไม่ได้ทำสัญญากับเอกชน ซึ่งต่อมากรุงเทพธนาคมก็ไปจ้างเอกชนในการเดินรถ”

เปิดปูม 3 ส่วนของรถไฟฟ้าสายสีเขียว

นายชัชชาติได้อธิบายถึงรายละเอียดของรถไฟฟ้าสายสีเขียว 3 ส่วนดังต่อไปนี้

ส่วนที่ 1 ส่วนไข่แดง กทม.ทำสัญญาสัมปทานกับเอกชน เอกชนก็เอารายได้ไปขายต่อให้กองทุนถึงปี 2572 แล้วก็ 2572-2585 ธนาคมก็ไปจ้างเอกชนให้เดินรถต่อ

ส่วนที่ 2 ส่วนต่อขยายที่ 1 ก็คืออ่อนนุช แบริ่งกับตากสินถึงบางหว้า อันนี้ กทม.ก็ว่าจ้าง KT แล้ว KT ก็ว่าจ้าง บีทีเอส ต่อ

ส่วนที่ 3 ส่วนต่อขยายที่ 2 จากแบริ่งไปสมุทรปราการ กับหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต อันนี้ก็ กทม. มอบหมายให้กรุงเทพธนาคมบริหารจัดการรวมทั้ง E&M ด้วย แล้ว KT ก็ไปจ้างเอกชนต่อ ดังนั้น หนี้ที่ กทม. มี จะเป็นหนี้ระหว่าง กทม. กับ KT แล้ว KT มีภาระกับเอกชนก็เป็นอีก 1 ขั้นตอน

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์
ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

ส่วนต่อขยายที่ 1 มีมานานแล้วตั้งแต่ปี 2555 ไทม์ไลน์ความสัมพันธ์ระหว่าง กทม. กับ กรุงเทพธนาคม ตั้งแต่ 13 มีนาคม 2555 มีการบรรจุโครงการนี้ลงในข้อบัญญัติของ กทม. ว่าจะใช้เงินจ้างเท่าไหร่ ระยะเวลาเท่าไหร่ ค่าใช้จ่ายต่อปีเท่าไหร่ ้เมื่อข้อบัญญัติผ่านชัดเจนครบ ต่อมา 2 พฤษภาคม 2555 กทม.ก็ไปว่าจ้าง KT วันถัดมาคือวันที่ 3 พฤษภาคม 2555 KT ก็ไปว่าจ้าง เอกชนต่อเลย ส่วนต่อขยายที่ 1 มีการทำสัญญากัน แล้วจึงไปจ้างรับช่วงต่อ

“อันนี้คือไทม์ไลน์ส่วนต่อขยาย 1 มีการเข้าทำสัญญากัน มีการทำสัญญากับ KT วันที่ 2 พ.ค. 55 ทำสัญญากับ BTS วันที่ 3 พ.ค. 55  มีรายละเอียดชัดเจนเลยคือตัวเลขระหว่าง กมม.ทำกับ KT แล้วก็ KT ทำกับ BTS ก็สอดคล้องกัน มีรายละเอียดสัญญาครบเลยว่าทำสัญญากี่ปี แต่ละปีเป็นเท่าไหร่ เงื่อนไขเป็นอย่างไร” นายชัชชาติกล่าว

เตรียมเปิดสัญญา กรุงเทพธนาคม-BTS

นายชัชชาติกล่าวด้วยว่า จะเปิดสัญญาระหว่าง KT กับ กทม. วันนี้ (1 ส.ค.) จะเปิดสัญญาเลย คือ KT เขาอนุญาต กทม. มาแล้ว แต่ว่าสัญญาระหว่าง KT กับ บีทีเอส ยังไม่สามารถเปิดได้เพราะต้องรอเอกชนคือ บีทีเอส ให้ความยินยอม

นายชัชชาติยังได้เปิดเผยถึงความกังวลในการชำระหนี้แก่กรุงเทพธนาคม ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายส่วนที่ 2 ปรากฏว่า มีการไปทำสัญญาซื้อขายเครื่องกลเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2559 มีการลงนามสัญญาซื้อระหว่าง KT กับ BTS มีการลงนามสัญญาซื้อระบบการเดินรถ ราคาประมาณ 1.9 หมื่นล้าน

KT ลงนามกับเอกชนโดยอ้างว่า สำนักการจราจรและการขนส่ง (สจส.) ได้มอบหมายให้ KT ไปดำเนินการ โดยไม่มีการผ่านสภา กทม.

28 กรกฏาคม 2559 มีการลงนามระหว่าง กทม. กับ KT มอบหมายให้ KT ไปเดินรถแล้วก็ติดตั้งระบบการเดินรถ นี่คือข้อแตกต่างที่สำคัญแล้วว่า ระหว่างส่วนต่อขยายที่ 1 เป็นสัญญาจ้างบริหารโครงการ ส่วนต่อขยายที่ 2 เป็น บันทึกมอบหมายให้เดินรถ ในบันทึกมอบหมายไม่มีรายละเอียดเรื่องการเดินรถ เป็นรายละเอียดคร่าว ๆ

จากนั้น 1 สิงหาคม 2559 ทาง KT ก็เลยลงนามกับเอกชนจ้างเดินรถ ความแตกต่างจากส่วนต่อขยายอันที่ 1 คือค่าเดินรถส่วนที่ 2 ไม่มีการลงในข้อบัญญัติงบประมาณของ กทม. ดังนั้น สภา กทม.ไม่ได้เห็นรายละเอียด เพราะว่าเวลาเราเอาเงินไปจ่าย ต้องอยู่ในงบประมาณรายจ่ายของ กทม. ใช่หรือไม่ แต่อันนี้มันไม่ได้อยู่ในงบประมาณ

“ส่วนต่อขยายที่ 2 ไม่ได้บรรจุโครงการลงในงบประมาณรายจ่าย ดังนั้น เราต้องระมัดระวังว่า เราจะจ่ายหนี้ให้ KT ได้อย่างไร เราไม่ได้เป็นหนี้กับเอกชนนะ เราเป็นหนี้กับ KT เราเลยต้องระมัดระวังว่าจะต้องขออนุมัติผ่านสภาหรือไม่ เพราะว่าส่วนต่อขยายที่ 2 ไม่ได้ผ่านสภา กทม.” นายชัชชาติกล่าว

ผู้ว่าฯ กทม.กล่าวด้วยว่า “ส่วนต่อขยายที่ 1 มีสัญญาชัดเจน ว่าจ้างเท่าไหร่ มีกรอบวงเงินชัดเจน ส่วนต่อขยายที่ 2 ไม่มีรายละเอียด มีแค่ประมาณการคร่าว ๆ ระหว่าง กทม.กับ KT ว่าจะต้องจ่ายเท่าไหร่ แต่ไม่มีรายละเอียดเรื่องเงื่อนไขหรืออะไรเลย ในหนังสือมอบหมายงาน ในส่วนต่อขยายที่ 2 ก็มีระบุด้วยว่า KT ไม่ได้เป็นตัวแทนของ กทม. คำพูดนี้ทางกฎหมายก็มีความหมายเหมือนกัน”

ปัจจุบันที่ KT เรียกเก็บหนี้จาก กทม.ส่วนต่อขยาย 1 ตั้งแต่ปี 2562-2565 ประมาณ 3.8 พันล้านบาท ส่วนต่อขยายที่ 2 ตั้งแต่ 2560-2565 ประมาณ 1.7 หมื่นล้าน อันนี้ KT เรียกเก็บจาก กทม. แล้วก็งาน E&M อีกประมาณ 1.7 หมื่นล้านบาท

ติดกระบวนการมาตรา 44 จ่ายหนี้ไม่ได้

นายชัชชาติกล่าวอีกว่า ส่วนต่อขยายที่ 1 ที่ กทม.ยังไม่ได้จ่ายหนี้ เพราะว่าเป็นไปตามคำสั่ง ม.44 ที่ให้เจรจาขยายสัมปทานไปถึงปี 2572-2602  ซึ่งเข้าใจว่าในที่ประชุมกรรมการตามมาตรา 44 ตกลงกันแล้วว่าเป็นการดำเนินการเรื่องสัมปทานที่เป็นวาระพิจารณา รออยู่ใน ครม. แล้วยังไม่ได้ข้อยุติ ดังนั้น ค่าจ้างส่วนนี้เป็นส่วนหนึ่งในการเจรจา เลยยังไม่ได้จ่ายเงิน

เช่นเดียวกับส่วนต่อขยายที่ 2 จริง ๆ แล้วก็อยู่ในการเจรจาเช่นเดียวกับส่วนต่อขยายที่ 1 ค้างการพิจารณาอยู่ที่ ครม. ยังไม่ได้ข้อยุติ ขณะเดียวกันก็มีปัญหาด้วยว่าหนี้ระหว่าง กม.กับ KT ตรงนี้ก็มีปัญหาว่าจะต้องทำอะไรเพิ่มเติมหรือไม่ ให้เกิดความสัมพันธ์กันระหว่างส่วนต่อขยายที่ 1 และที่ 2 เช่นเดียวกับหนี้ในการติดตั้งระบบเดินรถ

“จริง ๆ แล้วเราไม่เจตนาจะไป ยืดภาระหนี้นะ จริง ๆ แล้วทุกอย่างมันต้องรอบคอบ สุดท้ายแล้วตัวเลขหนี้เท่าไหร่ ต้องผ่านกระบวนการไหนก่อนหรือไม่ เพราะว่าเป็นเงินของประชาชน อันนี้คือตัวเลขที่อยู่แนบท้ายการมอบหมายการบริหารจัดการส่วนต่อขยายที่ 2”

นายชัชชาติระบุด้วยว่า เอกสารรายละเอียดเกี่ยวกับภาระงาน และการมอบหมายงาน รวมทั้งหนี้ เข้าใจว่าสภาก็ยังไม่เคยเห็นเอกสารเหล่านี้ เพราะสภาก็ยังไม่อนุมัติค่าใช้จ่ายก้อนนี้

“ความเป็นจริงมันเดินรถช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ตั้งแต่ปี 2560 ก็เริ่มมีค่าใช้จ่ายที่ KT เรียกเก็บจาก กทม. เช่นเดียวกับปี 2562 คาดว่าจะมีรายได้ 1,125 ล้านบาท แต่ว่าที่จริงเราไม่มีรายได้ ประมาณการค่าเดินรถในปี 2562 หนังสือมอบหมายระบุประมาณ 1,107 ล้านบาท แต่ที่ KT เรียกเก็บจากเราเนี่ย ประมาณ 2,138 ล้านบาท งั้นส่วนต่างค่าเดินรถเพิ่มอีก ประมาณ 1,000 กว่าล้านบาท จากประมาณการที่เรามีกำไรนิดหน่อย เราต้องจ่ายไป 2,138 กว่าล้าน ดังนั้นตัวเลขแบบนี้เราต้องรอบคอบไง ไม่ใช่ว่าจ่ายเท่าไหร่เท่ากัน”

ประเด็นนี้เป็นตัวเลขหนี้ระหว่าง กทม. กับ KT ไม่ใช่กับบีทีเอส ส่วนค่าติดตั้งระบบเดินรถ ในเอกสารแนบท้ายต้องจ่ายเป็นรายปี ปีละ 1,000 ล้านบาท แต่ในใบเรียกเก็บที่ KT ส่งให้ กทม. เรียกจำนวนประมาณ 17,000 ล้านบาท ก็มีข้อไม่ตรงกันอยู่

นายชัชชาติย้ำว่า “ทุกอย่างต้องรอบคอบเพราะว่าอำนาจจ่ายชำระหนี้ มีหรือไม่ สำคัญคือสภา กทม. ก็ต้องเห็นชอบ กทม.ไม่สามารถนำเงินไปจ่ายได้โดยไม่ผ่านการเห็นชอบงบประมาณ จากสภา กทม. นี่คือสิ่งที่เราต้องละเอียด ถามว่าเราไม่ได้ดึงเวลา เราไม่ได้ไปเตะลูกอะไรทั้งสิ้น เราก็เห็นว่าตัวเลขมันเยอะ มีขั้นตอนการอนุมัติ กระบวนการทางกฎหมายก็ต้องให้รอบคอบ”

เก็บเงินค่าแรกเข้าส่วนต่อขยายที่ 2

นายชัชชาติกล่าวเรื่องการเก็บค่าโดยสารส่วนต่อขยาย ในส่วนที่ 2 ต้องจ่ายค่าแรกเข้าเริ่มต้นที่ 14 บาท วิ่งเข้าเส้นทางหลัก หรือส่วนไข่แดง

ซึ่งกระบวนการทำงานที่ผ่านมา 2 เดือน ผ่านการเจรจาอย่างรอบคอบ ขณะนี้มีหนังสือจาก ครม. ขอความเห็นเรื่องการขยายเวลาสัมปทาน จากปี 2572 ถึง 2602 ซึ่งต้องหารือร่วมกับ สภา กทม. เสียก่อน

ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้กล่าวยืนยันว่า ค่าใช้จ่ายสำหรับงานโยธาในรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนต่อขยายส่วนที่ 2 ว่าต้องขอรับงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาล กทม.คงไม่รับทั้งหมด