เจาะ 3 ปมชุลมุน “รถไฟฟ้าสายสีเขียว” KT ถก BTS นัดแรก

รถไฟฟ้า

กว่า 1 เดือนเศษหลัง นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ เข้าดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร การบ้านข้อใหญ่ที่ถูกจับตาไม่พ้นปัญหารถไฟฟ้าสายสีเขียว ที่มีหลายเงื่อนปมทั้งสัญญาสัมปทาน การแก้ปัญหาส่วนต่อขยายส่วนที่ 1 และส่วนต่อขยายส่วนที่ 2 รวมไปถึงหนี้ที่กรุงเทพมหานครต้องรับผิดชอบจากการรับโอนรถไฟฟ้าสายสีเขียว

ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ ประธานกรรมการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ระบุว่า ภายในเดือน ก.ค.นี้ กรุงเทพธนาคมจะเปิดเจรจาร่วมกับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC นัดแรก เพื่อเจรจาเรื่องค่าจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายส่วนที่ 1 และส่วนต่อขยายส่วนที่ 2

เจาะสัญญาจ้างเดินรถ 1.9 แสนล้าน

กรุงเทพมหานครในยุค หม่อมราชวงศ์สุขุมพันธุ์ บริพัตร ดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า และช่วงอ่อนนุช-แบริ่งแล้วเสร็จ จึงเกิดเมกะโปรเจ็กต์ “โครงการบริหารจัดการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร” หรือจ้างเดินรถไฟฟ้า 30 ปี

จากเอกสารงบประมาณของกรุงเทพมหานคร “โครงการบริหารจัดการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร” ตั้งงบประมาณผูกพันไว้กว่า 31 ปีตั้งแต่ปี 2555-2585 วงเงินงบประมาณผูกพัน 190,054,800,000 บาท

โครงการนี้กรุงเทพมหานครว่าจ้าง “บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด” บริหารจัดการการเดินรถ ก่อนที่กรุงเทพธนาคมจะได้ไปว่าจ้างเอกชนต่อไป

ในรายละเอียดโครงการดังกล่าวได้แบ่งการดำเนินการออกเป็น 2 ระยะ

ระยะที่ 1 ตั้งแต่ปี 2555-2572 รวม 18 ปี ระยะทาง 12.75 โลเมตร มีจำนวนสถานีรวม 11 สถานี

1.ส่วนต่อขยายสายสีลมช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า ระยะทาง 7.5 กิโลเมตร มีสถานี 6 สถานี

2.ส่วนต่อขยายสายสุขุมวิทช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง ระยะทาง 5.25 กิโลเมตร มีสถานี 5 สถานี

ในระยะที่ 1 ของการดำเนินงาน กรุงเทพมหานครตั้งวงเงินงบประมาณไว้ 40,279,470,000 บาท เฉลี่ยงบประมาณต่อปีคือ 2,237 ล้านบาท

ระยะที่ 2 ตั้งแต่ปี 2573-2585 รวม 13 ปี ระยะทางรวม 36.25 กิโลเมตร มีจำนวนสถานีรวม 36 สถานี

1.ส่วนต่อขยายสายสีลม ช่วงสะพานตากสิน-บางหว้า ระยะทาง 7.5 กิโลเมตร มี 6 สถานี

2.ส่วนต่อขยายสายสุขุมวิท ช่วงอ่อนนุช-แบริ่ง ระยะทาง 5.25 กิโลเมตร มี 5 สถานี

3.สายสีลม ช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน มี 8 สถานี

4.สายสุขุมวิท ช่วงหมอชิต-อ่อนนุช มี 17 สถานี

(ข้อ 3 และ 4 มีระยะทางรวม 23.5 กิโลเมตร)

ในระยะที่ 2 ของการดำเนินงาน กรุงเทพมหานครตั้งวงเงินงบประมาณไว้ 149,775,330,000 บาท เฉลี่ยงบประมาณต่อปี 11,521 ล้านบาท

สายสีเขียว

ปมส่วนต่อขยายไม่ผ่านสภา กทม.

ศาสตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างกรุงเทพมหานครกับกรุงเทพธนาคมนั้นสามารถมีได้ 2 รูปแบบ คือ

1.การทำสัญญา ยกตัวอย่าง การจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายส่วนที่ 1 (สะพานตากสิน-บางหว้า, อ่อนนุช-แบริ่ง)

และ 2.การมอบหมายงาน ยกตัวอย่าง การจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 (แบริ่ง-สมุทรปราการ, หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต)

ศาสตราจารย์พิเศษธงทองกล่าวว่า มอบหมายงานนั้น ยกตัวอย่าง การจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 (แบริ่ง-สมุทรปราการ, หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) มีข้อพิจารณาอยู่ว่า จำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากสภากรุงเทพมหานครหรือไม่ หากขาดไปจะเกิดผลอย่างไร ซึ่งในประเด็นนี้ นายชัชชาติกำลังศึกษาอยู่ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

ประเด็นเดียวกันนี้ นายวิรัตน์ มีนชัยนันท์ ประธานสภากรุงเทพมหานคร ระบุว่า ไม่ว่ากรุงเทพมหานครจะมอบหมายงานหรือทำสัญญากับทางกรุงเทพธนาคม ต้องได้รับความเห็นชอบจากสภากรุงเทพมหานคร

“หากเป็นการทำงานตามที่ได้รับมอบหมายหรือจ้างงานจากกรุงเทพมหานคร โดยไม่ผ่านความเห็นชอบจากสภากรุงเทพมหานคร ย่อมต้องเกิดผลทางกฎหมายแน่นอน แต่อย่างไรต้องเป็นไปตามระเบียบหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้อง”

นายวิรัตน์กล่าวและว่า สำหรับการจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 (แบริ่ง-สมุทรปราการ, หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) สภากรุงเทพมหานครกำลังศึกษาอยู่ ซึ่งขณะนี้รวบรวมเอกสารครบถ้วนแล้ว ไม่ว่าจะเป็นบันทึกการประชุมของสภากรุงเทพมานคร หรือบันทึกการประชุมของคณะกรรมการทุกชุดในรอบ 8 ปีที่ผ่านมา

หากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครนำเรื่องดังกล่าวมายังสภากรุงเทพมหานคร เพื่อให้ความเห็นชอบในการจ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายที่ 2 (แบริ่ง-สมุทรปราการ, หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) ซึ่งต้องมีผลย้อนหลังไปตั้งแต่การเดินรถครั้งแรกนั้น ต้องดูว่าสมาชิกสภากรุงเทพมหานครจะให้ความเห็นชอบหรือไม่ แต่โดยปกติแล้วยังไม่เคยพบเหตุการณ์ดังกล่าว

กทม.รับภาระเงินกู้ 5.1 หมื่นล้าน

อีกภาระของกรุงเทพมหานครที่มาจากรถไฟฟ้าสายสีเขียว ไม่พ้นเงินกู้จำนวน 51,785,370,000 บาท ที่ขอยืมมาจากกระทรวงการคลัง เพื่อใช้รับโอนทรัพย์สิน และหนี้สินโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ

โดยดำเนินการผ่าน “ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่องการกู้เงินเพื่อใช้ในการรับโอนทรัพย์สิน และหนี้สินของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ พ.ศ. 2561”

แหล่งข่าวกรุงเทพมหานครกล่าวว่า วงเงินจำนวนนี้กรุงเทพมหานครรับมาเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่ได้จ่ายให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เนื่องจากอยู่ระหว่างดำเนินการเจรจากับ รฟม. เพราะติดขัดเงื่อนไขบางอย่าง

จึงเท่ากับว่าเงินจำนวน 51,785,370,000 บาท ยังไม่ได้ใช้ตามวัตถุประสงค์ที่ขอกู้

สิ่งที่ตามมาคือภาระดอกเบี้ย ที่กรุงเทพมหานครต้องรับผิดชอบมาตลอดหลายปี

ร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายกรุงเทพมหานคร ประจำปี พ.ศ. 2566 ในส่วนของสำนักการจราจรและขนส่ง ตั้งงบประมาณในชื่อรายการ “ค่าใช้จ่ายตามโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ” วงเงินงบประมาณ 473,700,000 บาท

และรายการ “ค่าใช้จ่ายตามโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต” วงเงินงบประมาณ 571,000,000 บาท

วงเงินงบประมาณทั้ง 2 รายการ รวม 1,071,240,000 บาท

งบประมาณรายการดังกล่าวตั้งงบประมาณมาตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน

วงเงินงบประมาณรวมกว่า 3,039,280,000 บาท

นั่นคือภาระดอกเบี้ยที่กรุงเทพมหานคร ต้องจ่ายไปจากวงเงินกู้ 51,785,370,000 บาท ที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ใด ๆ

จ่าย ดบ.ฟรีไปแล้ว 3 พันล้าน

หากเปรียบกับประชาชนทั่วไป ไม่ต่างจากการขอกู้เงินเพื่อซื้อรถยนต์ หรือที่อยู่อาศัย แต่แทนที่จะนำเงินไปชำระหนี้เพื่อได้รถมาใช้ หรือเข้าอยู่ในบ้าน กลับนำเงินกู้ดังกล่าวมากองไว้เฉย ๆ เพราะตัวเองยังไม่พร้อมขับรถ หรือเข้าไปอยู่ในบ้าน แต่ต้องจ่ายดอกเบี้ยต่อเนื่องทุกเดือน ทุกปี

คำถามที่ตามมาคือ เมื่อไม่พร้อมใช้หนี้เพราะติดขัดเงื่อนไขที่ตกลงไม่ได้กับ รฟม. และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง แล้วกรุงเทพมหานครกู้เงินมาเก็บไว้ทำไมตั้งแต่แรก แม้ในทางบัญชีแล้ว ไม่ต่างจากกระเป๋าซ้าย-กระเป๋าขวา เพราะเป็นหน่วยงานรัฐด้วยกัน

แต่สำหรับชาวกรุงเทพมหานครเท่ากับช่วงเวลาที่ผ่านมาหลายปี เสียงบประมาณไปแล้วกว่า 3 พันล้านบาท โดยไม่จำเป็น

ส่วนอีกคำถามคือ เมื่อยังไม่ได้ใช้วงเงินดังกล่าว กรุงเทพมหานครจักสามารถส่งคืนกระทรวงการคลัง เพื่อประหยัดดอกเบี้ยจ่ายได้หรือไม่ แล้วค่อยทำเรื่องขอกู้อีกครั้งเมื่อเจรจากับ รฟม.แล้วเสร็จ

แหล่งข่าวกรุงเทพมหานครกล่าวว่า การนำเงินจำนวน 51,785,370,000 บาท คืนกระทรวงการคลัง ต้องผ่านข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายประจำปีเสียก่อน

แม้นายชัชชาติกล่าวภายหลังการประชุมกรรมการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ว่า กรุงเทพมหานครยืนยันว่าจะจ่ายหนี้ทั้งหมดให้ รฟม. ที่เป็นค่าก่อสร้างโครงสร้าง พร้อมดอกเบี้ยทั้งหมด

แต่เพราะตอนนี้ยังเจรจาไม่ลงตัว จึงเป็นที่น่าจับตาว่าจะมีแผนอย่างไรกับเงินกู้กว่า 5 หมื่นล้านบาท ก้อนนี้

ทั้งปัญหาการต่อสัญญาเดินรถระยะยาว การไม่ผ่านสภากรุงเทพมหานคร รวมถึงเงินกู้กว่า 5 หมื่นล้านบาท

ต้องตามดูกันต่อไปว่า กรุงเทพมหานครในยุค “นายชัชชาติ” จะดำเนินการอย่างไรและใช้เวลาขนาดไหน เพื่อสะสางปัญหาที่อีนุงตุงนังมานานหลายปี