เปิดสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวซ่อนเงื่อน “ธงทอง” จ่อถก BTS เดือนนี้

ธงทอง จันทรางศุ
ธงทอง จันทรางศุ

“ธงทอง จันทรางศุ” ฉายภาพหมดเปลือก “ปมสายสีเขียว” ยอมรับสัญญาเป็นความลับ บิ๊กโปรเจ็กต์เป็นพงศาวดารของประวัติศาสตร์เมืองไทย ชี้สัมปทานทั้งซับซ้อนและซ่อนเงื่อน ดีเดย์เชิญ BTSC ต่อรองภาระหนี้แสนล้านภายในเดือน ก.ค.นี้ ขีดเส้นหยุดว่าจ้างเดินรถปี 2572 ตามนโยบาย กทม. เผยหนักใจแต่ท้าทาย งานนี้ทำเพื่อชาติ คิวต่อไปเตรียมรื้อโครงการ “บ่อขยะ” หมื่นล้าน-เลิกวิ่งบีอาร์ที พระราม 3 ก.ย.นี้

นายธงทอง จันทรางศุ ประธานกรรมการ บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หรือเคที ให้สัมภาษณ์พิเศษ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงประเด็นร้อนรถไฟฟ้าสายสีเขียว ท่ามกลางการคาดหวังของสาธารณชนว่า จะพยายามทำให้เต็มที่ เรื่องนี้มีพงศาวดารที่ยืดยาว หลายสิ่งหลายอย่างมีข้อผูกมัดตามข้อกฎหมาย เราอาจผ่อนปรนได้ เจรจาได้ แต่ในฐานะนักกฎหมาย เราต้องทำใจไว้เหมือนกัน ว่าถ้ามัดไว้แน่น เราก็ไม่สามารถจะไปแก้ปมได้ทั้งหมด

ซึ่งทั้งหมดเป็นประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจทั้งต่อตนเอง ทั้งต่อสาธารณะ ตั้งแต่ต้นว่าอะไรที่ปรับได้ เปลี่ยนได้ ทบทวนได้ เราจะทำให้ดีที่สุด

“ต้องเรียนกับท่านพี่น้องคนที่ติดตามข่าวสารเรื่องนี้อยู่นะครับว่า ในข้อจำกัดอย่างที่ว่าเนี่ย ขอได้โปรดทำความเข้าใจ แต่เราก็พร้อมรับฟังทุกความคิดเห็น แต่ว่าส่วนไหนทำได้ ทำไม่ได้ ก็จะบอกให้รู้ครับผม จะทำให้เต็มที่ เพราะเป็นอีกครั้งในชีวิตที่มาดูเรื่องเศรษฐกิจ จากครั้งแรกคือที่เคยได้รับมอบหมายให้ดูเรื่องน้ำ มูลค่า 3 แสนล้านบาท หลังเกิดน้ำท่วมใหญ่ในปี 2554”

“กล่าวถึงรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนไหนมีอุปสรรคขัดข้อง จะด้วยข้อจำกัดอะไรก็แล้วแต่ เราก็จะเล่าสู่กันฟัง แต่จะคาดหวังถึงร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ไม่น่าจะสัมฤทธิผลถึงขนาดนั้นได้ เพราะเรื่องมันยาวเหลือเกิน ทั้งเอกสารสัญญา ความผูกพันทั้งหลายมันซับซ้อนซ่อนเงื่อนอยู่มาก” นายธงทองกล่าวเปิดใจ

คุยกันบนโต๊ะไม่ให้ช้าเกินไป

เมื่อถามถึงเป้าหมายของผู้ว่าฯ กทม. ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ จะได้ข้อสรุปเรื่องนี้ในเบื้องต้นภายในเดือนสิงหาคมนี้ นายธงทองย้ำว่า คำว่าเบื้องต้นเวลานี้ แต่ละคนจะตีความต่างกัน แต่อย่างน้อยคือ ถ้าจะมีการทบทวนเจรจาในเรื่องตัวเลขค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างเรากับเอกชนที่เป็นผู้รับจ้างเดินรถให้กับเรา เราอยากจะเจรจา และเริ่มต้นการเจรจา กำหนดวิธีการทำงานไปข้างหน้า สิ่งเหล่านี้คิดว่าจะเป็นสิ่งเบื้องต้นในเดือนกรกฎาคมและเดือนสิงหาคม 2565

“ผมมองโลกในแง่ดี ผมคิดว่าเราเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกันมา 10 ปีแล้วนะครับ ถึงแม้จะมีอะไรหลายอย่างที่ต้องทวงต้องถามกันอยู่ แต่ก็ยังไม่ได้ตัดมิตรไมตรีอย่างสิ้นเชิง การคุยกันบนโต๊ะน่าจะมีประโยชน์มากที่สุด ภายในเดือนกรกฎาฯ สิงหาฯ ถ้าอย่างน้อยเราเริ่มต้นเจรจากันได้ แล้วมีแผน มีประเด็นที่ไม่เนิ่นช้าเกินไป เมื่อมีผลจากที่ปรึกษาทั้งสองฝ่าย เราจะมีตัวเลขมารีวิวทบทวนกัน”

“ผมมีความฝันความหวังว่า ปลายปีนี้ตัวเลขพวกค่าใช้จ่ายจะชัดเจน แต่ตัวเลขเหล่านี้จะเท่าไหร่ ต้องดูในแผนการทำงานอีกทีหนึ่ง ว่าจะเป็นประโยชน์ระยะยาวกับการคำนวณราคาค่าโดยสาร หากช้าไปก็ไม่ดี เพราะมีคนเขาคอยอยู่”

กังขาสัญญาเป็นความลับ

กรณีที่มีข้อกำหนดระบุไม่ให้เปิดสัญญาการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวต่อสาธารณชนนั้น นายธงทองกล่าวว่า ได้ยินเสียงลือเสียงเล่าอ้างที่พูดกันมาแบบไม่ได้เห็นของจริง ว่ามีคำหลักคำสำคัญ คือไม่ให้เปิดเผยต่อสาธารณะ

ซึ่งเหตุผลอาจฟังดูไม่รู้เรื่องสำหรับเรา จึงปรึกษากับกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิทางกฎหมายหลายท่านเหมือนกัน ถามไปทีละเปลาะ เปลาะแรกคือว่า ถ้าไม่เปิดเผยต่อสาธารณะ ถ้าเช่นนั้นเอาให้ กทม.ได้ไหม เพราะ กทม.ถือหุ้นเคทีอยู่ 99.98%

“จะพิสดารมากเลยนะครับ ถ้าผู้ถือหุ้นของกิจการไม่สามารถดูได้ว่า กิจการทำอะไร กับใคร ที่ไหน อย่างไร อันนี้ก็เป็นอำนาจหน้าที่ของผู้ถือหุ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าผู้ถือหุ้นมีสิทธิไถ่ถาม ติดตามในกิจการที่ได้ ทางกรรมการเลยมีความเห็นตรงกันว่า ถ้าผู้ถือหุ้นหรือ กทม.ขอมา เราก็จะให้ และขีดเส้นใต้ 3 เส้น กทม.ไม่ใช่ความหมายของสาธารณะตามสัญญา เพราะ กทม.ในที่นี้คือ ผู้ถือหุ้น ไม่ใช่สาธารณะตามสัญญา และเมื่อ กทม.ได้สัญญาไปแล้ว แน่นอนจะไว้ศึกษาเอง แต่คำถามอีกชั้นหนึ่งคือว่า ถ้าทาง กทม.จะไปเปิดเผยต่อคนอื่นได้หรือไม่ อย่างไร” นายธงทองกล่าว

“ผมเองเคยเป็นประธานคณะกรรมการวินิจฉัยอุทธรณ์การไม่เปิดเผยข่าวสารตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 จึงเห็นว่า ถ้ามีใครก็ตามใช้สิทธิตามกฎหมายนั้นไปขอ กทม. ก็เป็นเรื่องของ กทม. ในการปฏิบัติ กทม.จะเปิดเผย หรือไม่เปิดเผย ก็เป็นเรื่องของ กทม. แต่เท่าที่เห็นจากการสัมภาษณ์และการคุยกันส่วนตัว กทม.มีความชัดเจนอยู่แล้ว ว่าจะเปิดข้อมูลส่วนนี้”

“เคที” คือวิสาหกิจท้องถิ่น

นายธงทองอธิบายสถานะของเคทีว่า เป็นสถานการณ์ที่มีพงศาวดารและมีความเป็นมายาวนาน เคทีถือเป็นวิสาหกิจท้องถิ่น มีฐานะเป็นนิติบุคคลต่างจาก กทม. ไม่ใช่ส่วนราชการของ กทม. วิธีการบังคับบัญชา กทม.จึงสั่งการเคทีได้ไม่เหมือนสำนักการระบายน้ำ หรือสำนักการศึกษา แต่กับเคที กทม.เป็นผู้ถือหุ้น จะสั่งรายวันคงไม่ได้ หรือสั่งอะไรไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะเคทีเป็นนิติบุคคลหนึ่ง มีหน้าที่ต้องทำตามกฎหมายของตนเอง

“ความสัมพันธ์กับ กทม.มีได้ 2 ลักษณะด้วยกัน คือ การทำสัญญาและการมอบหมายงาน” นายธงทองกล่าวและว่า

ประเด็นหลักของรถไฟฟ้าสายสีเขียวต้องแยกเป็น 2 เรื่อง คือ การเดินรถตอนใน ที่เรียกว่า “ไข่แดง” เป็นส่วนที่เอกชนได้รับสัมปทานในปี 2542-2572 โดย บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (บีทีเอสซี) เป็นผู้ลงทุนเอง เดินรถเอง และกำหนดราคาค่าโดยสารเอง

ต่อมาเมื่อเห็นว่าส่วนไข่แดงไม่เพียงพอที่จะให้บริการประชาชน จึงมี “ส่วนต่อขยายส่วนที่ 1” ส่วนนี้ กทม.เป็นฝ่ายลงทุนงานโครงสร้างโยธาทั้งหมด เมื่อเสร็จเรียบร้อยก็มาคุยกันว่า กทม.จะไปหารถมาวิ่งเองหรือไม่ ก็ทำได้ แต่คงประหลาดพิสดารมากที่ผู้โดยสารนั่งแล้วต้องลงมาต่อแล้วไปนั่งขบวนใหม่ จึงสรุปให้ทุกอย่างสะดวกกับประชาชนก็ให้เอกชนเจ้าเดิมคือ บีทีเอสซี เป็นผู้เดินรถต่อไป บนรางของ กทม.

“ตรงนี้มีข้อวิจารณ์ในสาธารณะ ซึ่งผมไม่ได้บอกว่าผิดหรือถูกนะ ว่าควรจะให้วิ่งถึงปี 2572 เพราะเส้นทางวิ่งในทำเลไข่แดง ณ ขณะนั้นเป็นช่วงหมดสัมปทานพอดี กทม.จะไปจ้างเอกชนรายอื่นมาเดินรถก็ได้ โดยต้องเจรจากันใหม่ เริ่มกันใหม่ สุดท้ายสัญญาที่ทำไปกลายเป็นปี 2555-2585 ซึ่งเรื่องนี้อาจมีคำอธิบายว่า ทำสัญญาแบบนั้นอาจได้ราคาถูกกว่า” ประธานเคทีกล่าวถึงปมปัญหา

นัดบีทีเอสซี เจรจา ก.ค.นี้

สำหรับการเจรจากับบีทีเอสซีเป็นทางการนั้น นายธงทองกล่าวว่า ตั้งใจจะเปิดเวทีการเจรจาให้ได้ภายในเดือนกรกฎาคม 2565 โดยตั้งทีมที่ปรึกษาด้านกฎหมายและการเงินมาศึกษาวิเคราะห์อย่างจริงจัง โดยย้อนดูตัวเลขว่า เมื่อ 10 ปีก่อนเป็นอย่างไร แล้ว 10 ปีมานี้มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง นั่นคือสภาพแวดล้อม แล้วเรามีอะไรที่ควรปรับ ควรทบทวนบ้าง ซึ่งที่ปรึกษาต้องใช้เวลา

“เราจะเอาผลลัพธ์ที่กลั่นกรองโดยผู้ชำนาญเฉพาะมาเจรจากับเอกชน ส่วนเอกชนจะมีข้อมูลอะไรก็มาเปรียบมาเทียบกัน”

“แต่ถ้าถามว่าเรื่องนี้จะจบเมื่อไหร่ ไทม์ไลน์แน่ชัด ผมไม่สามารถตอบได้ เพราะไกลเกินกว่าที่เราจะสามารถเข้าใจกับเรื่องที่เรายังไม่รู้ในนาทีนี้ได้”

เมื่อถามถึงหัวข้อที่จะใช้เจรจากับบีทีเอสซี นายธงทองกล่าวว่า ประเด็นหลักคือ ค่าใช้จ่ายและภาระหนี้ที่พูดกันว่าเป็นแสนล้านบาท และอาจมีประเด็นรองคือ เทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เปลี่ยนไป

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดคือ การเปลี่ยนแปลงวิธีส่งเงิน วิธีหักตัวเลข วิธีคำนวณต่าง ๆ ในแต่ละวัน เพราะปัจจุบันมีวิธีทางธุรกรรมทางด้านการเงินที่สะดวกและรวดเร็ว ไม่จำเป็นต้องรอเป็นสัปดาห์ สามารถนับได้ส่งเงินได้ภายใน 24 ชั่วโมง แต่ไม่ใช่เรื่องส่งเงินครบหรือไม่ครบ เราจะขอแค่ปรับวิธีการเท่านั้น

ค่าใช้จ่ายกระทบค่าโดยสาร

สำหรับเรื่องราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้าที่มีประชาชนคาดหวังที่ 30-40 บาท นายธงทองกล่าวว่า “คงจะตอบได้แบบไม่ตอบ”

เพราะการกำหนดราคาค่าโดยสารรถไฟฟ้า กี่ป้ายกี่สถานี เป็นอำนาจหน้าที่ของ กทม. ส่วนเคทีจะดูแลค่าใช้จ่ายของการเดินรถให้เหมาะสมที่สุด สมเหตุสมผลที่สุด ตัวเลขที่เราคุยกันจำกัดอยู่ระหว่างความสัมพันธ์ของเคทีกับเอกชน

ซึ่งจุดนี้โปรดทราบว่า เอกชนไม่ใช่ฝ่ายกำหนดราคาโดยสารทั้งหมด ยกตัวอย่างสมมุติแบบสุดโต่ง ซึ่งคงจะไม่เกิดขึ้น คือถ้า กทม.จะเก็บตลอดสาย 10 บาท คนคงจะขึ้นรถไฟฟ้าแบบยัดทะนาน

แต่ถ้าขาดทุนต้องถามว่า เอาเงินใครมาจ่าย จะเอาเงินของคนขึ้นรถไฟฟ้าและคนที่ไม่ขึ้นมาจ่ายหรือไม่

“การดูแลค่าใช้จ่ายเดินรถเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกระทบไปถึงราคาค่าโดยสาร ซึ่ง กทม.เป็นผู้กำหนด ถ้าเคทีเป็นมือไม้ของ กทม. ไปยอมจ่ายค่าเดินรถแพงมากเกินปกติก็จะกระทบมาถึงการกำหนดราคา ทำให้ค่าโดยสารแพงตามไปด้วย แต่ถ้าค่าใช้จ่ายเดินรถสมเหตุสมผล ค่าโดยสารก็ควรสมเหตุสมผลเหมือนกัน” ประธานกรรมการทีเคกล่าว

สัญญาหลวงกับหลวงไม่น่าห่วง

สำหรับส่วนต่อขยายที่ 2 ทั้งส่วนที่วิ่งในกรุงเทพฯ และล้ำออกไปนอกกรุงเทพฯ มีปมเรื่องค่าก่อสร้าง ครั้งนี้ กทม.ไม่ได้คิดมาแต่ต้น ฝ่ายที่คิดคือ รฟม. ซึ่งทำส่วนต่อทั้งหัวทั้งหางคือไปเคหะ สมุทรปราการ และไปคูคต ปทุมธานี

ส่วนนี้เมื่อ คสช.เข้ามาแล้ว ก็ยกมาให้ กทม.ทำต่อ จึงมีภาระหน้าที่ 2 เรื่อง 1.คือหน้าที่ในการเดินรถ 2.ค่าก่อสร้างที่ใช้ไปแล้วจะดำเนินการอย่างไรบ้าง สำหรับเคที สิ่งที่ทำคือเป็นคู่สัญญาในการเดินรถ เหมือนกับส่วนต่อขยายที่ 1 ขณะที่ส่วนต่อขยายที่ 2 เคทีเป็นคู่สัญญากับเอกชน แต่เรื่องหนี้ค่าก่อสร้าง ไม่ได้เป็นหนี้เคที แต่เป็นหนี้ กทม.

“ในความเห็นของธงทองนะ ไม่ใช่ชัชชาตินะ ส่วนนี้เป็นเรื่องของหลวงกับหลวงด้วยกัน จะหักลบ กลบหนี้ หรือจะแบ่งกันรับผิดชอบ หรือรัฐบาล หรือกระทรวงการคลัง จะเข้ามาดูแลอย่างไร ต้องตามดูท่าทีของ กทม.ต่อไป”

“ถ้าเป็นหลวงกับหลวงนี่นะ ผมดูว่าอาจารย์ชัชชาติไม่กลัว เงินก็แค่ออกกระเป๋านู้นมาใส่กระเป๋านี้ ก็หลวงกับหลวงด้วยกันทั้งนั้นแหละ เพียงแต่ว่าคนละหลวง หลวงส่วนกลางกับหลวงส่วนท้องถิ่น ถ้าประโยชน์อยู่กับประชาชน เงินเหล่านี้ก็ไม่หายไปไหน” นายธงทองสรุปประเด็น

ส่วนที่ใครบอกว่า การเจรจาให้ระวังจะเสียค่าโง่นั้น ผมไม่รู้หมายถึงอะไร ขอให้สื่อไปถามคนที่พูดละกัน

“ที่ผ่านมาก็ไม่เคยเจอกรรมการชุดเก่านะ เพราะสัญญาทำตั้งแต่สมัยผู้ว่าฯ สุขุมพันธุ์ บริพัตร และมีคดีฟ้องร้องใน ป.ป.ช.อยู่ ผมจึงไม่รู้ตื้นลึกหนาบาง”

“ส่วนที่หลายคนสงสัยว่า การทำสัญญากับรัฐแล้ว ทำไมบอกว่าห้ามเปิดข้อมูล ซึ่งไม่มีกฎหมายห้ามทำ แต่จริง ๆ ไม่ควรทำ เป็นเรื่องหลักธรรมาภิบาลทั่ว ๆ ไป คือไม่ว่าเป็นบริษัทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่ว่าสัญญาที่ทำเป็นบริการสาธารณะ จึงไม่ควรเป็นเรื่องที่จะมีความลี้ความลับอะไร”

“ผมคิดว่าค่าใช้จ่ายที่ กทม.ต้องจ่ายที่เกี่ยวกับการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว น่าจะเป็นตัวเลขที่สะท้อนความเป็นจริงในปัจจุบัน ขณะเดียวกันก็เป็นตัวเลขที่สามารถอธิบายได้ ให้เหตุผลกับประชาชนได้ แค่นี้ก็สมประสงค์ผมแล้วล่ะ ส่วนตัวเลขค่าโดยสารว่า จะปรับลดปรับเพิ่มอย่างไร ผมคิดว่าเป็นตัวเลขที่ กทม.ต้องไปคิดต่อ” นายธงทองกล่าวและว่า

การมารับตำแหน่งที่ท้าทาย ยอมรับว่าเป็นงานเหนื่อย งานหนัก แต่ก็ท้าทาย นอกจากประเด็นปมสัญญารถไฟฟ้าสายสีเขียวแล้ว เรื่องใหญ่ต่อไปคือ โรงงานมูลฝอยชุมชนเพื่อผลิตพลังงานขนาด 800 ตันต่อวัน ภายในศูนย์กำจัดมูลฝอยอ่อนนุช มูลค่าหมื่นล้าน (สัญญา 20 ปี/เริ่มปี 2563) ทบทวนรถเมล์ BRT จะหมดสัญญาเดือนกันยายนนี้ และโครงการสายสื่อสารลงดิน

“จะดูพร้อมทุกโครงการ ผมคงไม่ไหว ปีนี้อายุ 67 ปีแล้ว จบงานพวกนี้แล้วก็ขอพักบ้าง”