พลิกปูม 67 ปี “กรุงเทพธนาคม” จากโรงฆ่าสัตว์สู่ธุรกิจอินฟราสตรัคเจอร์แสนล้าน

กรุงเทพธนาคม

นับถอยหลังปฏิบัติการ Mission to the Moon ในการทบทวนสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวหรือรถไฟฟ้าบีทีเอส ของทีมชัชชาติ “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนที่ 17 หลังจากชนะเลือกตั้งแลนด์สไลด์ 1.38 ล้านเสียงชนะใจคนกรุงเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2565

หนึ่งในจิ๊กซอว์ตัวสำคัญของนโยบายทบทวนสัมปทานสายสีเขียวอยู่ที่โซ่ข้อกลางอย่าง “KT-บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด” วิสาหกิจที่ กทม.ถือหุ้น 100% และเป็นคู่สัญญาจัดซื้อจัดจ้างในฐานะตัวแทน กทม.

“ประชาชาติธุรกิจ” ตรวจสอบตำนาน 67 ปีกรุงเทพธนาคม จากจุดเริ่มต้นโรงฆ่าสัตว์ ผ่านร้อนผ่านหนาวจนกระทั่งกลายเป็นคู่สัญญาสัมปทานมูลค่าแสนล้านบาทในปัจจุบัน มีรายละเอียดไทม์ไลน์ ดังนี้

จุดเริ่มต้นปี 2498 เอกชน 8 คนก่อตั้ง “บริษัท สหสามัคคีค้าสัตว์ จำกัด” ทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท

ปี 2502 เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 50 ล้านบาท จำนวน 50,000 หุ้น โดย “เทศบาลนครกรุงเทพ” เข้าถือหุ้นครั้งแรกจำนวน 3,000 หุ้น

ปี 2519 กทม.เพิ่มถือหุ้นเป็น 49,994 หุ้น สัดส่วน 99.98%

ปี 2537 เปลียนชื่อเป็น “กรุงเทพธนาคม” ยกเลิกวัตถุประสงค์โรงฆ่าสัตว์ เพื่อมาทำภารกิจใหม่เป็นผู้ลงทุนอินฟราสตรัคเจอร์ในนาม กทม.

โดยมีข้อสังเกตคือ เปลี่ยนวัตถุประสงค์กิจการ โดยไม่มีการเพิ่มทุนจดทะเบียนแต่อย่างใด และมีผลให้ทุนจดทะเบียนยืนพื้นที่ 50 ล้านบาทจนถึงปัจจุบัน

ปี 2542 เริ่มนับอายุสัญญาสัมปทาน 30 ปีกับบีทีเอส (5 ธันวาคม 2542-4 ธันวาคม 2572)

ปี 2543 โครงการศึกษาผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร

ปี 2545 ทำโครงการแฟลตข้าวโพด

ปี 2552 ส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสีเขียว ช่วงที่ 1 ตากสิน-วงเวียนใหญ่

ปี 2553 สัญญาจ้างเดินรถ BRT

ปี 2554 เปิดเดินรถต่อขยาย อ่อนนุช-แบริ่ง

ปี 2555 มี 3 โครงการหลัก 1.เซ็นสัญญาจ้างบีทีเอสซีเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ส่วนไข่แดง และส่วนต่อขยายที่ 1 ช่วงตากสิน-วงเวียนใหญ่ กับอ่อนนุช-แบริ่ง (อายุสัมปทาน 2555-2585)

ในขณะที่เส้นไข่แดงเดิม (หมอชิต-อ่อนนุช กับสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน) หมดอายุสัมปทานปี 2572 ซึ่งภายหลังหมดสัมปทานในปี 2572 BTSC จะเป็นผู้รับจ้างเดินรถไปจนถึงปี 2585

2.ทำสัญญาจักรยานสาธารณะใน กทม. และ 3.โครงการบริการรถสำหรับผู้พิการ-คนสูงอายุ

ปี 2556 มี 2 โปรเจ็กต์ ได้แก่ 1.เปิดบริการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงตากสิน-บางหว้า กับ 2.เปิดโรงกำจัดขยะติดเชื้อแห่ง 2 ศูนย์หนองแขม

ปี 2558 เดินเรือไฟฟ้าคลองภาษีเจริญ สถานะปัจจุบันขาดทุนเพราะมีรถไฟฟ้าตัดผ่านเส้นทางให้บริการ

ปี 2559 ทำสัญญาจ้างเดินรถ ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-คูคต ตั้งแต่ 2560-2585

ปี 2560 เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวสถานีสำโรง, เดินรถเสมือนจริง แบริ่ง-สมุทรปราการ

ปี 2561 มี 4 โปรเจ็กต์หลัก ประกอบด้วย 1.ริเริ่มโครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน 2.ทดลองเรือไฟฟ้า 1 ลำคลองผดุงกรุงเกษม 3.เริ่มสร้างรถไฟฟ้าสายสีทอง และ 4.สร้างโรงขยะอ่อนนุช คาพาซิตี้กำจัดขยะวันละ 800 ตัน และโรงผลิตไฟฟ้าพลังงานชีวมวลจากขยะ ได้พลังงานไฟฟ้า 3 เมกะวัตต์

ปี 2562 มี 2 เรื่องหลัก คือ 1.เดินรถไฟฟ้าสีเขียวต่อขยายหมอชิต-ม.เกษตร และ 2.รัฐบาลใช้ ม.44 มอบหมายกระทรวงมหาดไทยตั้งคณะกรรมการพิจารณาสัมปทานสายสีเขียว โดยมีผลสรุปเบื้องต้นการเจรจาระหว่าง กทม.กับบีทีเอสซี ในการต่ออายุสัมปทานสายสีเขียวจากปี 2572 ออกไปอีก 30 ปีจนถึงปี 2602 และเป็นการเจรจาต่ออายุล่วงหน้า 10 ปีก่อนที่สัมปทานเดิมจะหมดอายุ

ปี 2563 มี 4 โปรเจ็กต์หลัก ได้แก่ 1.เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนเหนือ ม.เกษตร-วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน 2.เปิดทำการกำจัดขยะโรงอ่อนนุช 3.เพิ่มเรือไฟฟ้าคลองผดุง จาก 1 ลำเป็น 8 ลำ และ 4.เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว วัดพระศรีมหาธาตุ บางเขน-คูคต เป็นที่รู้จักในนามรถไฟฟ้า 3 จังหวัด (ปทุมธานี-กรุงเทพฯ-สมุทรปราการ)

ปี 2564 โครงการกำจัดขยะติดเชื้อโควิด

ล่าสุด หลังจาก “กกต.-คณะกรรมการการเลือกตั้ง” มีมติรองรับผลชนะเลือกตั้ง ปูพรมแดงให้ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ก้าวสู่แคตวอล์กบริหารราชการแผ่นดินกรุงเทพมหานครเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2565

ส่งผลให้คณะกรรมการหรือบอร์ดกรุงเทพธนาคมชุดเก่าลาออกทั้งคณะในช่วงสัปดาห์ที่ 1-2 ของเดือนมิถุนายน 2565 รายชื่อประกอบด้วยกรรมการ 9 คน ดังนี้

1.นายปิยะ พูดคล่อง ประธานกรรมการบริษัท
2.นายอาคม พูนชัย กรรมการ
3.รศ.นพ.อนันต์ มโนมัยพิบูลย์ กรรมการ
4.นายโดม ชโยธิน กรรมการ
5.นายธีรวัจน์ ห้วยหงษ์ทอง กรรมการ
6.นายสมบูรณ์ หอมนาน กรรมการ
7.นายชนะพนธิ์ ศรีรัตนพัฒน์ กรรมการ
8.นายนพดล ฉายปัญญา กรรมการ
9.นายเกรียงพล พัฒนรัฐ กรรมการผู้อำนวยการและเลขานุการคณะกรรมการ

กระชั้นชิดด้วยคำสั่งแต่งตั้งบอร์ดชุดใหม่ เมื่อวันศุกร์ 17 มิถุนายน 2565 ประกอบด้วยกรรมการ 7 คน ซึ่งเป็นบอร์ดชุดที่ผู้ว่าฯ ชัชชาติบอกว่าสรรหาแต่นักบริหารระดับ “เบอร์ใหญ่ของวงการ เบอร์ใหญ่ของประเทศ” ดังนี้

1.ศ.ธงทอง จันทรางศุ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นประธานกรรมการ

2.ดร.ประแสง มงคลศิริ อดีตอาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ,อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดอุทัยธานี สังกัดพรรคไทยรักไทย ปัจจุบันประกอบอาชีพธุรกิจส่วนตัว อาจารย์คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏธนบุรี กรรมการอำนวยการ

3.ดร.กมลชัย รัตนสกาววงศ์ กรรมการผู้ทรวงคุณวุฒิ คณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, กรรมการกฤษฎีกา อาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัย หัวหน้าหมวดกฎหมายมหาชน ปริญญาโท คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นกรรมการ

4.นายชัยวัฒน์ คลังวิจิตร รองกรรมการผู้อำนวยการสายกลยุทธ์และพัฒนาธุรกิจ บริษัทกรุงเทพธนาคม เป็นกรรมการ

5.นางทิพยสุดา ถาวรามร กรรมการอิสระ / กรรมการตรวจสอบ, บริษัท โคลเวอร์ เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) และอดีตรองเลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นกรรมการ

6.นายธรรดร มลิทอง ทนายความและที่ปรึกษากฎหมาย เป็นกรรมการ

7.นายพีระพัฒน์ ศรีสุคนธ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ อินดัสเทรียล รีท แมนเนจเม้นท์ (ประเทศไทย) เป็นกรรมการ

ทั้งนี้ กรุงเทพธนาคมมีแง่มุมให้สังคมได้ถกเถียงอย่างกว้างขวาง รวมทั้งประเด็นสถานะบริษัทจะเป็นรัฐหรือเอกชนกันแน่

เรื่องนี้มีคำตอบจากคณะกรรมการกฤษฎีกาที่ 222/2550 เมื่อเดือน เมษายน 2550 ซึ่งเคยตีความไว้ว่า ถ้ากรุงเทพธนาคมทำสัญญากับ กทม. จะมีสถานะเป็นกิจการที่อยู่ในอำนาจควบคุมหรือกำกับของ กทม. ไม่ต้องผ่านขั้นตอนตาม พรบ.ร่วมทุน

แต่ถ้ากรุงเทพธนาคมทำสัญญาจ้างเดินรถกับเอกชน ไม่ต้องผ่าน พรบ. ร่วมทุน เพราะสัญญาจ้างไม่เข้าองค์ประกอบสัญญาสัมปทาน

จุดไคลแม็กซ์อยู่ที่ต้องไม่ลืมว่าปี 2537 ที่มีการจดทะเบียนเปลี่ยนวัตถุประสงค์จากโรงฆ่าสัตว์มาเป็น Invester ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้เมืองกทม.นั้น ทางกรุงเทพธนาคมไม่ได้แตะเรื่องการเพิ่มทุนจดทะเบียนแต่อย่างใด เท่ากับยังคงมีทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาทเท่าเดิมตามที่ได้เพิ่มทุนในปี 2502

ฟังแค่นี้ เข้าใจว่า “คู่สัญญา” กับกรุงเทพธนาคมบางราย หรืออาจจะหลายราย เริ่มมีอาการครั่นเนื้อครั่นตัวกันบ้างแล้ว เพราะประเด็นทุนจดทะเบียน 50 ล้านบาทดังกล่าว ถือเป็น amazing KT เพราะทุนจดแค่ 50 ล้านบาท แต่เข้าไปเป็นคู่สัญญามูลค่าแสนล้านบาทได้อย่างหน้าตาเฉย

ในขณะที่ความรับผิดทางแพ่งตามกฎหมายจำกัดจำเขี่ยตามทุนจดทะเบียนเท่านั้น

นับถอยหลังปี 2565 จึงเป็นปีแห่งการเปลี่ยนแปลงกรุงเทพธนาคมขนานใหญ่ เป้าหมายปฏิรูปองค์กรในรอบ 67 ปี

สู่การเป็นวิสาหกิจชุมชน “ของ กทม. โดย กทม. และเพื่อ กทม.”