ชัชชาติ ถก กรุงเทพธนาคม พร้อมคืนหนี้สายสีเขียว คาดสรุปใน 1 เดือน

ชัชชาติ สิทธิพันธุ์

“ชัชชาติ” หารือกรุงเทพธนาคม เหตุผลจ้างเอกชนเดินรถ คาดได้ข้อสรุปใน 1 เดือน เผยอาจต้องเก็บค่าโดยสารสายสีเขียว ทบทวนสัญญาโครงการสายไฟลงดิน 1.9 หมื่นล้าน 

วันที่ 2 มิถุนายน 2565 ที่ศาลาว่าการกทม. นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ร่วมประชุมหารือร่วมกับนายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าฯกทม. นายเกรียงพล พัฒนรัฐ กรรมการผู้อำนวยการบริษัทกรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) และทีมที่ปรึกษา เพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการนำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงใต้ดิน

เคทีให้รายละเอียดถึงเหตุผลในการจ้างเอกชนเดินรถ การจ้างระยะยาว และภาระหนี้ที่เกิดขึ้น ยืนยันทำถูกต้องตามกฎหมายทั้งหมด จากนี้จะนำข้อมูลที่ได้ไปศึกษาต่อ คาดว่าภายใน 1 เดือน จะได้ข้อสรุป เพื่อหารือมหาดไทยโดยเร็วที่สุดก่อนเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

นายชัชชาติกล่าวว่า เรื่องรถไฟฟ้ามีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดย สจส. เกี่ยวเรื่องสัญญาสัมปทาน ส่วนสภากทม.เป็นผู้อนุมัติงบประมาณ ต้องไปดูความสัมพันธ์แต่ละหน่วยงานเป็นอย่างไร โดยเฉพาะการต่อสัญญาจ้างเดินรถระยะยาวทำไมไม่ผ่าน พ.ร.บ.ร่วมทุน

ส่วนภาระหนี้จ้างเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายประมาณ 40,000 ล้านบาท เคที รายงานว่า นำรายได้ส่วนต่อขยายช่วงที่1 อ่อนนุช-แบริ่ง ตากสิน-บางหว้า จ่ายให้เอกชนบางส่วนแล้ว

สำหรับส่วนต่อขยายช่วงที่ 2 หมอชิต-คูคต และแบริ่ง-สมุทรปราการ ยังวิ่งฟรี ทำให้มีหนี้เพิ่มขึ้น ดังนั้น อาจจะต้องเก็บค่าโดยสาร เพราะนั่งฟรีมานานแล้ว ขณะเดียวกันผู้ประกอบการด้านล่าง อาทิ รถจักรยานยนต์รับจ้าง คนใช้บริการลดลง

ทั้งนี้ ตามหลักการใครใช้ก็ต้องจ่าย ปัจจุบันคนกทม.ที่จ่ายค่ารถไฟฟ้า ต้องรับภาระหนี้ให้กับคนที่นั่งฟรีด้วย ดังนั้นอย่าเอาเรื่องหนี้มาเร่งรัดการต่อสัญญาระยะยาว เพราะการเปิดนั่งฟรี เอกชนก็ได้รับผลประโยชน์เป็นการนำผู้โดยสารมาป้อนให้กับเส้นทางไข่แดงตรงกลางด้วยเช่นกัน

“จริง ๆ กทม.อยากคืนหนี้ให้ เพราะหนี้บางส่วนอยู่ที่ปากน้ำ จ.สมุทรปราการ และจ.ปทุมธานี วิ่งให้บริการในเขตปริมณฑลไม่มีปัญหาแต่ต้องดูความยุติธรรม เพราะรถไฟฟ้าสายอื่น เช่น สายสีเหลือง สายสีชมพู รัฐบาลกู้เงินจ่ายคืนค่าโครงสร้างพื้นฐานให้ผู้ประกอบการ ทำให้ต้นทุนไม่แพงมาก” นายชัชชาติกล่าว

สำหรับโครงการนำสายไฟฟ้าและสายสื่อสารลงดิน เคทีให้ข้อมูลว่าโครงการดังกล่าวมีการตั้งงบประมาณกว้างๆ ไว้ วงเงิน 1.9 หมื่นล้านบาท ทำให้มีปัญหาเรื่องการหารายได้ จึงไม่มีความคืบหน้า เพราะเป็นโครงการที่ลงทุนจำนวนมาก ขณะเดียวกันปัจจุบันยังหาผู้เช่าท่อร้อยสายระบบสาธารณูปโภคไม่ได้ ทำให้ไม่มีรายได้ ซึ่งเป็นปัญหาทางเทคนิค จึงต้องดูรายละเอียดในการทำสัญญาอีกครั้ง

เพราะหาก กทม. คิดค่าเช่าท่อร้อยสายแพง ผู้เช่าจะไปคิดค่าบริการกับประชาชน ทำให้ภาระจะตกไปอยู่กับประชาชน ซึ่งเป็นผู้บริโภคโดยตรง

รายงานข่าวแจ้งว่า โครงการดังกล่าว เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่กทม.ต้องจัดระเบียบปรับปรุงทัศนียภาพของเมืองให้แลดูสะอาด ไม่มีสายไฟฟ้า สายโทรศัพท์รกรุงรัง ซึ่งกทม. ต้องลงทุนพัฒนาระบบท่อร้อยสายระบบสาธารณูปโภคใต้ดิน เพื่อสอดคล้องกับมติที่ประชุมคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ครั้งที่ 4 เมื่อวันที่ 11 ต.ค.61 ซึ่งให้กทม.ดำเนินการนำสายสื่อสารลงใต้ดินทั่วเขตพื้นที่กรุงเทพฯ

ปัจจุบันได้ดำเนินการก่อสร้างท่อร้อยสายสื่อสารใต้ดิน นำร่องเสร็จแล้ว เป็นระยะทาง 7.2 กม. วงเงิน 140 ล้านบาท ประกอบด้วย 1. ถนนวิทยุ (ถนนเพชรบุรี – แยกเพลินจิต – หน้าซอยร่มฤดี) 2. ถนนรัชดาภิเษก (MRT ศูนย์วัฒนธรรมประตู 2 – หน้าซอยรัชดาภิเษก 7)

3. ถนนนราธิวาสราชนครินทร์ (ถนนสาทรเหนือ/ใต้ – ซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 10) ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างท่อร้อยสายสื่อสารในแนวถนนพระรามที่ 1 จากแยกปทุมวันถึงแยกราชประสงค์ ระยะทางประมาณ 1 ก.ม. พร้อมกับการปรับปรุงทางเท้า แต่ปัจจุบันยังไม่มีผู้เช่าท่อร้อยสาย ขณะเดียวกันเคที ยังไม่ได้ลงทุนแต่อย่างใด