รถไฟฟ้าสายสี “ชมพู-เหลือง-ส้ม” คืบหน้าเกินแผน! งัดสารพัดไอเดียทะลวงรถติด

นายสราวุธ​ ทรงศิวิไล ผู้อำนวยการการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะทำงานติดตามผลการบูรณาการ​ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา​จราจร​ในเขตกรุงเทพฯ​และ​ปริมณฑล​ ครั้งที่ 9/2561 มีการติดตามความคืบหน้าในหลายส่วน

ในส่วนของปัญหาจราจรที่มาจากการก่อสร้างรถไฟฟ้า 3 สาย ได้แก่ 1.สายสีส้มตะวันตก ช่วงศูนย์​วัฒนธรรม​ฯ-มีนบุรี ระยะทาง 22.57 กม. 2.สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กม. และ 3.สายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว​-สำโรง ระยะทาง 30.4 กม. การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชน​แห่ง​ประเทศไทย​ (รฟม.)​ รายงานความคืบหน้าในที่ประชุมว่า ณ สิ้นเดือน ต.ค.2561 สายสีส้มมีความคืบหน้าของโครงการอยู่ที่ 20.53% จากแผน 18.92% สายสีชมพู มีความคืบหน้าของโครงการ 9.3% จากแผน 2.5% และสายสีเหลือง มีความคืบหน้าโครงการ 9.76% จากแผน 2.50% ถือว่าเกินกว่าแผนทั้งหมด

ที่ประชุมจึงให้ รฟม.และผู้รับเหมาไปสรุปแผนการก่อสร้างรถไฟฟ้าทั้งหมดในกรุงเทพและปริมณฑล​มาแสดงว่า จะต้องใช้ถนนเส้นใดในการก่อสร้างบ้าง จากนั้นจะต้องแจ้งให้ประชาชนรับทราบอย่างน้อย 3 เดือน เพื่อให้เวลาประชาชนเตรียมความพร้อม เพราะจากปัญหาจราจรติดขัดจากการสร้างรถไฟฟ้าทั้ง 3 สาย บริเวณถ.ลาดพร้าวและรามคำแหง พบว่ามีการแจ้งเตือนให้ประชาชนเตรียมความพร้อมน้อยเกินไป นอกจากนี้ ให้ปรับปรุงป้ายเตือน “ขออภัยในความสะดวก” ใหม่ โดยให้เพิ่มเติมรายละเอียดการก่อสร้างลงไปด้วยว่า กำลังก่อสร้างอะไรในส่วนงานไหน และจะใช้เวลาเท่าไหร่ เพราะบางครั้งประชาชนเห็นว่ามีการกั้นพื้นที่และมีป้ายเตือน แต่ไม่พบว่าบริเวณที่แจ้งเตือนมีการก่อสร้างอะไร ทำให้หลายครั้งเกิดความไม่เข้าใจและต่อว่าเจ้าหน้าที่ได้

นายสราวุธกล่าวต่อว่า ที่ประชุมมีการรายงานความคืบหน้ามาตรการจราจรต่างๆ สำหรับมาตรการปาดทางเท้าเพื่อให้รถเมล์เข้าไปจอดถนนด้านใน บริเวณ ถ.ลาดพร้าวนั้น พบว่ามีการปาดครบทุกจุดแล้ว แต่มีบางจุดที่ปาดออกแล้วแต่รถเมล์ไม่สามารถเข้าได้ จึงให้ไปเพิ่มจากปาดยาว 12 เมตร เป็น 20 เมตร เพื่อให้รถเมล์เข้าไปได้และท้ายรถไม่โผล่ออกมาบริเวณถนนหลัก ขณะเดียวกันก็พบปัญหาพื้นผิวถนนชำรุดบริเวณ ถ.ศรีนครินทร์ และ ถ.รามคำแหงหลายแห่ง ประมาณ 10 จุด เนื่องมาจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าที่ใช้เครื่องจักรและรถขนาดใหญ่เข้าพื้นที่ก่อสร้าง จึงมอบให้ รฟม.ประสานผู้รับเหมาซ่อมแซมพื้นผิวจราจรโดยเร็ว

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้รับทราบการบริหารสัญญาณไฟจราจรและการกั้นเครื่องกั้นรถไฟตามจุดตัดรถไฟ 34 จุดในกรุงเทพฯ โดยมี 14 จุดที่อยู่บริเวณสี่แยกใหญ่ ได้แก่ 1.ยมราช 2.ศรีอยุธยา 3.ราชวิถี 4.นครไชยศรี 5.เศรษฐศิริ 6.ประชานิเวศน์ 7.งามวงศ์วาน 8.แจ้งวัฒนะ 9.พญาไท 10.ราชปรารภ 11.เพชรบุรีตัดใหม่ 12.สุขุมวิท และ 13.พระรามที่ 4

ที่ประชุมให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.), กรุงเทพมหานคร (กทม.) และตำรวจร่วมกันหารือในการบริหารสัญญาณไฟจราจรให้สอดคล้องกับเครื่องกั้นรถไฟ เพราะบางทีกั้นแล้วแต่สัญญาณไฟยังเป็นสีเขียวอยู่ ก็ให้ไปปรับให้ตรงกัน และให้ กทม.ตีเส้นกำหนดเขตกั้นรถไฟให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการเคลียร์รถบริเวณทางรถไฟ เพราะบางครั้งเอาเครื่องกั้นมากั้นไม่ได้ เพราะรถยังผ่านอยู่ ซึ่งเสี่ยงต่ออุบัติเหตุและไม้กั้นอาจไปกระทบกับรถยนต์จนเกิดความเสียหายได้