ที่สุดของ “เจ้าคุณพระประยูรวงศ์” และพระราชธิดา “พระองค์ใหญ่”

เจ้าคุณพระประยูรวงศ์ (เจ้าคุณจอมมารดาแพ ในรัชกาลที่ 5) ภาพจากเพจศิลปวัฒนธรรม

ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีการกำหนดคำนำหน้าพระนามและลำดับพระอิสริยยศแห่งพระมเหสีเทวีอย่างเป็นทางการ และมีแบบแผนที่แน่นอน ชัดเจน เพื่อกำหนดพระราชโอรส ผู้ที่จะสืบราชสมบัติต่อไป

สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ อยู่ในลำดับสูงสุด

รองลงมาคือ “สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชเทวี” “พระนางเจ้า พระราชเทวี” “พระอรรคชายา” และ “พระราชชายา”

กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์และกรมพระยาดำรงราชานุภาพ นิพนธ์ไว้ว่า “คำว่า พระสนม ซึ่งเป็นคำใช้เรียกสามัญชนที่อยู่ในฐานะพระภรรยาเจ้านั้น เป็นคำที่ไม่นิยมเรียกในสมัยรัชกาลที่ 5 หากเรียกกันว่า เจ้าจอม เจ้าจอมอยู่งาน และเจ้าจอมมารดา แทน”

เจ้าคุณจอมมารดาแพ หรือเจ้าคุณพระประยูรวงศ์ เป็นธิดาเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ และท่านผู้หญิงอิ่ม เมื่ออายุได้ 13 ปี สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ต้นตระกูลบุนนาค) ได้นำท่านไป “รับราชการฝ่ายใน” โดยฝากกับเจ้าจอมมารดาเที่ยงในรัชกาลที่ 4 เจ้าจอมมารดาเที่ยงให้ท่านไปอยู่กับ พระองค์เจ้าโสมาวดี พระราชธิดาเจ้าจอมมารดาเที่ยง

รัชกาลที่ 5 ครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ เกิดเป็นเรื่องราวความรัก เจ้าจอมมารดาเที่ยง จึงกราบทูลรัชกาลที่ 4 ให้ทรงทราบ และตรัสขอ “คุณแพ” จากพระยาพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ “คุณแพ” จึงกลายเป็น “หม่อมแพ”

และได้เลื่อนเป็น “เจ้าจอมมารดาแพ” ในตำแหน่ง “พระสนมเอก” ต่อมาได้สถาปนาเป็น “เจ้าคุณจอมมารดาแพ” เป็นท่านเดียวในรัชกาลที่ 5 ที่ดำรงพระยศสูงสุดในกลุ่มพระภรรยาสามัญชน โปรดเกล้าฯให้เปลี่ยนเครื่องในพานทองเครื่องยศของเจ้าคุณจอมมารดาแพเป็นทองคำลงยาราชาวดี เทียบเท่าพระภรรยาเจ้า ได้รับการยกย่องเหนือกว่าพระสนมเอกท่านอื่นๆ

ให้ใช้ราชาศัพท์ กับเจ้าคุณจอมมารดาแพ เช่น คำว่า “สรง บรรทม เสด็จ” เป็นต้น

มีพระราชธิดา 3 พระองค์ คือ 1.พระองค์เจ้าศรีวิไลยลักษณ์ สุนทรศักดิกัลยาวดี กรมขุนสุพรรณภาควดี 2.พระองค์เจ้าสุวพักตร์วิไลยพรรณ 3.พระองค์เจ้าบัณฑรวรรณวโรภาษ

พระราชธิดาอันประสูติจากเจ้าคุณจอมมารดาแพ ทรงเป็นที่โปรดปรานอย่างยิ่ง โดยเฉพาะพระองค์เจ้าศรีวิไลยลักษณ์ สุนทรศักดิกัลยาวดี กรมขุนสุพรรณภาควดี รัชกาลที่ 5 ทรงออกโอษฐ์ ว่าทรงเป็น “ลูกคู่ทุกข์ คู่ยาก”

สร้อยพระนาม “สุนทรศักดิกัลยาวดี” ซึ่งตามปกติสร้อยพระนามจะมีแต่ในพระนามสมเด็จเจ้าฟ้า และเป็นพระธิดาองค์เดียวที่ได้รับการสถาปนาให้ “ทรงกรม” ระดับ “กรมขุน”

พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีวิไลยลักษณ์ กรมขุนสุพรรณภาควดี ที่มา : สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ ราชพัสตราภรณ์ กรุงเทพฯ สำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ, 2548

ทั้งนี้ ตามธรรมเนียมการสถาปนาทรงกรม ของพระเจ้าลูกเธอนั้น ชั้นพระองค์เจ้าจะเริ่มทรงกรมที่ “กรมหมื่น” ในขณะที่เจ้าฟ้าจะเริ่มทรงกรมที่ “กรมขุน”

เมื่อครั้งที่ พระองค์เจ้าศรีวิไลยลักษณ์ สุนทรศักดิกัลยาวดี กรมขุนสุพรรณภาควดี เข้าพิธีโสกันต์ รัชกาลที่ 5 ทรงโปรดเกล้าฯ ให้สร้าง “เขาไกรลาส” ประกอบพิธี ซึ่งเสมือนชั้น “สมเด็จเจ้าฟ้า” เป็นพระธิดาองค์เดียวที่มีการสร้างเขาไกรลาส

พระองค์เจ้าศรีวิไลยลักษณ์ สุนทรศักดิกัลยาวดี กรมขุนสุพรรณภาควดี พระราชธิดาพระองค์นี้ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ “ขัตติยราชอิสริยาภรณ์อันมีพระเกียรติคุณรุ่งเรืองยิ่งมหาจักรีบรมราชวงศ์” เป็นพระราชธิดาชั้นพระองค์เจ้าเพียงพระองค์เดียว ที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์นี้

ทรงเป็นผู้ปกครองพระขนิษฐา ในฐานะ “ท่านพระองค์ใหญ่” ในบรรดาพระราชธิดาทั้งมวล

งานเขียนบันทึกส่วนตัวของเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี “เจิม แสง-ชูโต” บันทึกไว้ถึง “พระองค์เจ้าศรีวิไลยลักษณ์ สุนทรศักดิกัลยาวดี กรมขุนสุพรรณภาควดี ได้รับความสำคัญถึงขนาดมีพระราชดำริในช่วงก่อนที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ จะพระราชสมภพ ว่าจะยกให้สืบราชสมบัติ ต่อไป” มีความตอนหนึ่งของบันทึกระบุว่า

“…จะโปรดให้กรมขุนสุพรรณ ออกไปเรียนวิชาณะประเทศอังกฤษ ความที่ทรงหวังในเวลานั้น จะโปรดเกล้าฯ ให้กรมขุนสุพรรณเป็นกวีนวิกตอเรีย…”

ทั้งนี้ ในขณะนั้นยังไม่มีพระราชโอรสชั้นสมเด็จเจ้าฟ้า อันประสูติแต่พระภรรยาเจ้า

พระองค์เจ้าศรีวิไลยลักษณ์ สุนทรศักดิกัลยาวดี กรมขุนสุพรรณภาควดี เป็นพระราชธิดาอันประสูติแต่เจ้าคุณจอมมารดาแพ ธิดาเจ้าพระยาสุรวงศ์ไวยวัฒน์ ผู้เป็นบุตรชายของสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ขุนนางที่มีบทบาท-อำนาจสูงสุดในแผ่นดิน

ต่อมาเมื่อสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศพระราชสมภพขึ้น รัชกาลที่ 5 จึงเลือกพระบรมวงศานุวงศ์และข้าราชการที่ไว้วางพระราชหฤทัย เข้าร่วมกระทำสัตย์ ถือน้ำพัฒน์สัตยา ณ พระอุโบสถวันพระศรีรัตนศาสดาราม

อนึ่ง เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2464 พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 มีพระบรมราชโองการดำรัสสั่งให้เลื่อนบรรดาศักดิ์ “เจ้าคุณจอมมารดาแพ” ขึ้นเป็น “เจ้าคุณพระประยุรวงศ์”

โดยมีพระบรมราชโองการความว่า “ความดีความชอบของเจ้าคุณจอมมารดาแพ ซึ่งได้มีมาแล้วเฉภาะในใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาท เริ่มแต่พระบรมราชสมภพ ได้เปนผู้เบิกพระโอษฐปฐมฤกษ์แห่งความเจริญ พระราชศิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคลเปนเบื้องต้นสืบมา แลทั้งเจ้าคุณจอมมารดาแพ มีความจงรักภักดีเฉภาะใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาท ตั้งแต่ทรงพระเยาว์มาเปนอย่างยิ่ง จนได้ทรงคุ้นเคยสนิทแต่ดั้งเดิมมา ครั้นได้เสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ทรงประจักษ์แก่พระราชหฤทัยว่า เจ้าคุณจอมมารดาแพมีความจงรักภักดีต่อใต้ฝ่าลอองธุลีพระบาทยั่งยืนเสมอ มีกระมลจิตรซื่อสัตย์สุจริต นับถือพระบรมราชวงศ์ แลโอบอ้อมอารีแก่ญาติวงศ์ตลอดจนข้าทูลลอองธุลีพระบาททั่วไป ประกอบทั้งมีอัธยาศัยแลมารยาทเรียบร้อยเปนอันดี สมกับที่เปนผู้ได้เนื่องอยู่ในราชนิกุลอันมีศักดิ์ เปนผู้ที่ทรงเคารพนับถือนัก สมควรจะได้เลื่อนยศบรรดาศักดิ์เพิ่มเกียรติยศให้ยิ่งขึ้น”

ม.ร.ว.คึกฤทธ์ ปราโมช เขียนไว้ในนิยายเรื่อง 4 แผ่นดิน ตอนหนึ่ง เมื่อ ช้อย-คุณข้าหลวง ออกไปนอกวัง เพื่อสนทนากับแม่พลอย เธอกล่าวถึงการสถาปนา “คุณพระ” ไว้ว่า “สมัยนี้ท่านโปรดใครก็โปรดจริงๆ ไม่เหมือนแต่ก่อน ท่านก็ต้องยกย่องของท่านให้สูงเป็นพิเศษอย่างเจ้าจอมที่เราเคยรู้จักนั้นมีมากดาษดื่น และฟังดูมันคร่ำครึ ล้าสมัย สมัยนี้จึงต้องตั้งให้เป็นคุณพระ ให้ฟังดูผิดกว่าแต่ก่อนและบางทีเมื่อเริ่มเป็นคุณพระแล้ว จะเป็นอะไรต่อไปก็ได้”

 


ข้อมูลจากหนังสือ การเมืองในราชสำนักฝ่ายใน สมัยรัชกาลที่ 5 สำนักพิมพ์มติชน