อาหารแช่เยือกแข็ง กับอีกแนวทางการรับมือ COVID-19

การระบาดของโรค COVID-19 ส่งผลกระทบต่อทั่วโลก และมีแนวโน้มขยายวงกว้างขึ้นเรื่อยๆ เพียงช่วงระยะเวลาไม่ถึงเดือน จำนวนผู้ติดเชื้อไวรัส COVID-19 เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จากจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นและมีการระบาดทั้งในทวีปอเมริกา ยุโรป เอเชีย ออสเตรเลีย ฯลฯ ทำให้เราได้รับทราบข่าวเกี่ยวกับความแตกตื่นของผู้คนที่พยายามกักตุนของใช้ต่างๆ รวมถึงอาหารเป็นจำนวนมาก จนทำให้คนไทยอย่างเราๆ เกิดความตระหนกและเริ่มกักตุนอาหารกันอยู่ไม่น้อย

สถาบันการศึกษาและโรงเรียน มีนโยบายให้เรียนผ่านระบบออนไลน์ หลายองค์กรให้พนักงานทำงานที่บ้าน เพื่อเลี่ยงการเดินทางไปในที่ชุมชน ซึ่งมีโอกาสรับเชื้อ ดังนั้น การซื้ออาหารมาเตรียมสำรองไว้ที่บ้าน จึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ประชาชนทั่วไปเตรียมพร้อมรับมือ

อาหารที่คนส่วนใหญ่เลือกซื้อในช่วงนี้ จึงมักเป็นอาหารที่เก็บได้นาน อาทิ อาหารแห้ง อาหารสำเร็จรูปที่พร้อมรับประทาน เช่น ข้าวสาร อาหารกระป๋อง บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เครื่องดื่มบรรจุขวด นมกล่อง และขนมขบเคี้ยว เป็นต้น

อาหารเหล่านี้มักเป็นอาหารที่เก็บได้ที่อุณหภูมิห้องเป็นเวลานาน เวลาจะรับประทาน ก็ต้องนำมาปรุงสุก หรือให้ความร้อน เพื่อให้สามารถรับประทานได้ แต่ลองสังเกตดูจะเห็นได้ว่า อาหารเหล่านี้ หากต้องการให้มีความสมบูรณ์ในเรื่องของคุณค่าทางโภชนาการ ก็อาจจะต้องหาของสดมาเสริม เติมเข้าไปเพื่อให้คุณค่าทางอาหารครบถ้วน เช่น ต้องเติมเนื้อสัตว์ และผักลงไป ซึ่งของสดเหล่านี้ก็ไม่สามารถเก็บได้นานในอุณหภูมิห้องหรือในอุณหภูมิแช่เย็น


ในสภาวการณ์เช่นนี้ หากสามารถเลือกหาอาหารที่สามารถเก็บได้นาน สะดวก และมีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วนโดยไม่ต้องไปหาอย่างอื่นมาเพิ่มเติม ก็น่าจะเป็นทางเลือกเพิ่มเติมให้กับผู้บริโภคได้

อาหารแช่เยือกแข็ง” เป็นตัวเลือกหนึ่งซึ่งตอบโจทย์ให้กับผู้บริโภคได้ หากวางแผนการเก็บอาหารแช่เยือกแข็งและอาหารแห้งร่วมกัน ก็จะทำให้สามารถเลือกบริโภคอาหารให้ครบหมู่ได้โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาของสดมากมายนัก

อาหารปรุงสำเร็จแช่เยือกแข็ง ถือเป็นอาหารที่ผ่านกระบวนการแปรรูปมาแล้วระดับหนึ่ง จากนั้นผ่านกระบวนการทำให้แข็ง โดยผ่านกระบวนการทำให้แข็งอย่างเร็ว เนื่องจากใช้อุณหภูมิในการแช่เยือกแข็งต่ำมากๆ เพื่อให้เกิดผลึกน้ำแข็งในอาหารที่มีขนาดเล็กและสม่ำเสมอ ผลที่ได้ คือ อาหารยังคงรักษาสภาพ สี รสชาติ และคุณค่าทางอาหารได้ค่อนข้างดี เมื่อนำมาอุ่นเพื่อรับประทาน ก็จะได้ผลิตภัณฑ์ที่คล้ายอาหารปรุงสุกใหม่

ทั้งนี้ การเก็บรักษาอาหารแช่เยือกแข็งให้สามารถเก็บได้นาน ก็จำเป็นต้องมีตู้แช่แข็ง (freezer)ที่มีประสิทธิภาพในการรักษาอุณหภูมิให้ต่ำประมาณ –18 องศาเซลเซียสได้อย่างคงที่ แต่ปัจจุบันจะเห็นได้ว่า ร้านสะดวกซื้อใกล้บ้านซูเปอร์มาร์เก็ต ห้างสรรพสินค้า ที่มีการวางจำหน่ายอาหารแช่เยือกแข็ง ก็เป็นอีกทางเลือกที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริโภคได้ ซึ่งเราอาจไม่จำเป็นต้องเก็บรักษาอาหารแช่เยือกแข็งด้วยตัวเอง เนื่องจากสามารถหาซื้อมาเติมในส่วนที่ขาดได้เรื่อยๆ

ในช่วงที่มีภาวะการระบาดของโรค COVID-19 หากใครจำเป็นที่จะต้องอยู่บ้าน และไม่อยากออกไปไหน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร อาหารแช่เยือกแข็ง จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ ทั้งง่าย สะดวกสบาย และได้รับคุณค่าทางโภชนาการคล้ายกับอาหารปรุงสุกใหม่ๆ แถมปัจจุบันนี้ยังมีตัวเลือกให้เลือกอีกหลากหลาย ทำให้ลดความจำเจในการรับประทานอาหารได้อีกด้วย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อินทาวุธ สรรพวรสถิตย์
อาจารย์ประจำ ภาควิชาเทคโนโลยีทางอาหาร คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
รองคณบดี สำนักวิชาทรัพยากรการเกษตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย