ธีรพงศ์ จันศิริ : “ทียู” ฝ่าโควิด สู่ New Normal

ธีรพงศ์ จันศิริ :
สัมภาษณ์พิเศษ

ผู้นำอาณาจักรอาหารครบวงจร “ธีรพงศ์ จันศิริ” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้มาแลกเปลี่ยนมุมมองสไตล์การบริหารธุรกิจยุคโควิด-19 นำมาสู่วิถีชีวิตแบบใหม่ “new normal” เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการขับเคลื่อนรีสตาร์ตธุรกิจในงานเสวนาออนไลน์ “Prachachat Live Forum Week” ซึ่งจัดในโอกาสครบ 44 ปี หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจว่า

ผลโควิดกับโรงงานทียูทั่วโลก

ผมคิดว่าเป็นวิกฤตที่หนักมากที่สุดตั้งแต่เราเคยประสบมา ไม่เคยมีครั้งไหนที่เกิดวิกฤตพร้อมกันทั้งโลก และทั้งโลกหยุดหมดพร้อม ๆ กันเช่นนี้มาก่อน โควิดเริ่มต้นที่ประเทศจีนซึ่งเราค่อย ๆ ติดตาม เพราะมีสำนักงานที่เซี่ยงไฮ้ แล้วก็เป็นประเทศแรกที่ปิดประเทศ จากนั้นไล่ไปที่ยุโรป ประเทศอิตาลี ฝรั่งเศส อังกฤษ ไทย และอเมริกาเป็นที่ที่ตื่นตัวในเรื่องโควิดช้าที่สุด เราเองเมื่อเห็นพัฒนาการปัญหาเรื่องนี้มาตลอดทำให้มีโอกาสที่จะเตรียมตัว และมาตรการต่าง ๆ สำหรับการดำเนินงาน ป้องกันพนักงานเพื่อให้เขาทำงานอย่างปลอดภัยด้วย

ยอดขาย Q1 โต 6%

ธุรกิจไทยยูเนี่ยนฯ แบ่งเป็น 3 กลุ่มหลักคือ กลุ่มอาหารทะเลบรรจุกระป๋อง กลุ่มอาหารทะเลแช่เยือกแข็ง และกลุ่มอาหารสัตว์เลี้ยง โดยกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากสถานการณ์โควิด คือ อาหารทะเลกระป๋องทั้งทูน่า ซาร์ดีน แมกเคอเรล เนื่องจากใช้ง่าย เก็บได้ง่าย และได้นาน ส่วนนี้มียอดขายเติบโตค่อนข้างสูงในช่วงที่เกิดโควิด

ขณะที่ธุรกิจอาหารทะเลแช่เยือกแข็งกุ้งหลัก ๆ เนื่องจากว่าครึ่งหนึ่งของธุรกิจขายผ่านแชนเนลของฟู้ดเซอร์วิสคือ ร้านอาหาร โรงแรมทั้งหลาย ในส่วนนี้ก็จะมีผลกระทบบ้าง แต่ในส่วนที่ขายเข้าซูเปอร์มาร์เก็ต เช่น พวกส่วนประกอบอาหารที่สำคัญที่ใช้ปรุงอาหารที่บ้านเติบโตขึ้นมาชดเชย โดยภาพรวมธุรกิจอาหารทะเลแช่เยือกแข็ง ลดลงประมาณ 20-30% ขณะที่อาหารทะเลกระป๋องเติบโตขึ้น 30-50% ส่วนอาหารสัตว์เลี้ยงเติบโตขึ้น 5-10%

ฉะนั้น ภาพรวมในแง่รายได้เราไม่มีผลกระทบอะไรมากเท่าไร ไตรมาส 1 รายได้เติบโตประมาณ 6% โควิดเพิ่งเริ่มเกิดขึ้นในช่วงปลายกุมภาพันธ์และมีนาคม จะเห็นอิมแพ็กต์มากขึ้นในไตรมาส 2 และ 3

นอกจากรายได้ไตรมาส 1 โต 6% แล้วกำไรโตขึ้นเกือบ 50% แต่กำไรสุทธิลดลง 20% เมื่อเทียบปีต่อปีนั้น สาเหตุหลักจากอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทปรับจากแข็งค่ามาอ่อนค่าอย่างรวดเร็ว ในส่วนนี้จะมีการบันทึกขาดทุนบ้างในไตรมาส 1 แต่เราคิดว่าในไตรมาสถัดมาจะกลับมาสู่สภาวะปกติ และเชื่อว่ารายได้จะเติบโตขึ้นในไตรมาส 2 เมื่อเทียบกับไตรมาส 1

นอกจากนั้น รายได้จากการลงทุนส่วนนี้ลดลงเพราะเป็นการลงทุนในธุรกิจร้านอาหาร และอาหารแช่เยือกแข็งที่อินเดียก็มีการส่งรายได้มาให้เราลดลง และก็มีภาษีที่จ่ายมากขึ้นเนื่องจากบริษัทเราในต่างประเทศมีกำไรที่สูงขึ้น

3 มาตรการปรับตัว “ฝ่าโควิด”

ในช่วงสถานการณ์โควิดสิ่งที่เราต้องจัดการเรื่องที่หนึ่ง คือ พนักงานของเราทำงานจากบ้าน จะทำอย่างไรให้ระบบการสื่อสาร ระบบเอกสารไม่ติดขัดทั้งในเรื่องการขาย การส่งออก การขนส่งซึ่งเราใช้เส้นทางเรือเป็นหลัก อันนี้เป็นความท้าทายอันแรก เรื่องที่สอง จะต้องดูแลโรงงานของเราทั้งหมดให้สามารถดำเนินงานได้ตั้งแต่ต้นน้ำไปจนสุดปลายน้ำไม่มีอะไรสะดุด วัตถุดิบเพียงพอ ผลิตอย่างเต็มที่ การขนส่ง การส่งมอบไปจนถึงปลายทางซึ่งที่ผ่านมาดำเนินการอย่างเคร่งครัด ถือว่าทำได้ค่อนข้างดี

เรื่องที่สามคือ การติดต่อสื่อสารกับลูกค้าเพื่อรับคำสั่งซื้อต่าง ๆ อันนี้ก็เป็นอีกส่วนหนึ่งที่เราได้ทำ 3 ส่วนในช่วง 3-4 ที่ผ่านมา นอกเหนือจากนั้นสิ่งที่เราให้ความสำคัญช่วงโควิด คือ “เรื่องดูแลกระแสเงินสด” โดยมีทีมงานดูแลเรื่องการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นการลงทุนทั้งหลายเพื่อรักษาสภาพคล่องอย่างเต็มที่ อีกส่วนหนึ่งต้องดูแลเรื่องบัญชีลูกหนี้ เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีปัญหา

ความพร้อมต่อการรีสตาร์ต

หลาย ๆ ประเทศจะเริ่มเปิดประเทศ โดยเริ่มจากภายในประเทศของเขาก่อนคงจะเห็นตั้งแต่เดือน ก.ค.เป็นต้นไป เช่นในยุโรปวันนี้เปิดหลายประเทศ แต่ผมคิดว่าการเปิดประเทศสำหรับคนภายนอกคงจะเป็นในไตรมาส 4 หรืออาจจะนานกว่านั้น

ในส่วนของเราดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง กำลังการผลิตทุกโรงงานเดินเต็มที่ สิ่งที่อยากเห็นในแง่เศรษฐกิจที่จะรีสตาร์ตน่าจะเป็นในส่วนของกลุ่ม “hospitality” ร้านอาหารโรงแรมทั้งหลาย ซึ่งเป็นส่วนที่เราหยุดธุรกิจไปในช่วงที่ผ่านมา ถ้ามีการเปิดขึ้นมาก็หวังว่าจะมีโอกาสทำธุรกิจในส่วนที่ขาดหายไปมากขึ้นยิ่งขึ้น

ที่ผ่านมากลุ่มร้านอาหารและโรงแรมมีในแง่ของการเลื่อนการชำระเงินบ้างยังอยู่ในระดับที่ไม่น่าเป็นห่วง เราก็ติดตามทำงานกับลูกค้าของเราอย่างใกล้ชิด สิ่งที่เกิดขึ้นแค่ช่วงเวลา 2-3 เดือนเท่านั้นเอง ถ้าเศรษฐกิจของโลกเริ่มค่อย ๆ เปิดกลับมาทำให้ทุกคนสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจต่อไปได้ ทุกอย่างจะดีขึ้น

สำหรับเป้าหมายที่เราวางไว้ 1.5 แสนล้าน ปี 2567 มีความเป็นไปได้ โอกาสของเรายังมีอยู่ก็คงพยายามทำอย่างเต็มที่

โอกาสการลงทุนยุคโควิด

ผมคิดว่าน่าจะเป็นโอกาส เพราะทั้งโลกได้รับผลกระทบเหมือนกันหมด ในช่วงเวลาแบบนี้ก็เป็นช่วงเวลาของการซื้อ ถ้าเรามีโอกาสที่เจอธุรกิจที่น่าสนใจก็อาจจะเป็นไปได้ แต่ ณ ปัจจุบันเรายังไม่เห็นอะไร แล้วก็ในช่วงนี้เราเน้นเรื่องการไม่ลงทุน คงจะเห็นสภาวะผู้ประกอบการมากขึ้นในครึ่งปีหลัง

เทรนด์ผู้บริโภคยุคใหม่

โควิดอาจจะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอาหารไม่มากนัก เมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น เนื่องจากผู้คนยังจำเป็นต้องบริโภค แต่อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้พฤติกรรมผู้บริโภคคงเปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเรื่องออนไลน์และการดีลิเวอรี่เป็นเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นต่อไป การคำนึงถึงสุขภาพมากขึ้น จะเป็นอีกเทรนด์ที่คนให้ความสนใจสินค้าที่ให้ประโยชน์เรื่องสุขภาพมากขึ้น ซึ่งตรงกับแนวทางของบริษัทที่เน้นเรื่อง health and nutrition เรื่องการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เราต้องการส่งมอบให้กับผู้บริโภคของเรา

ผมว่านี่ช่วยให้ผู้บริโภคยอมรับและตัดสินใจทดลองสินค้าใหม่มากขึ้น แม้กระทั่งสินค้าเดิม เช่น ทูน่ากระป๋องทั่วโลก มีการบริโภคสูงขึ้นในช่วงโควิด บางตลาด 2-3 เท่าของการบริโภค ปกติที่ผ่านมา ก็เป็นโอกาสที่เราจะได้เข้าสู่กลุ่มผู้บริโภคใหม่ กลุ่มคนที่ทำงานที่อยู่บ้านซึ่งซื้อสินค้าเพื่อไปบริโภคที่บ้าน ปลาทูน่ากระป๋องเป็นสินค้าที่ค่อนข้างสะดวก ราคาย่อมเยา และมีประโยชน์ต่อสุขภาพ

นี่เป็นโอกาสที่เราจะได้นำเสนอแนวทางการใช้สินค้าแบบใหม่ เราจึงนำ “ออนไลน์มาร์เก็ตติ้ง” มาโปรโมตเรื่องปรุงเมนูต่าง ๆ เช่น ที่ไทยยังบริโภคต่ำถ้าเทียบกับต่างประเทศ ปกติคนจะนึกถึงทูน่าแค่ทำแซนด์วิชหรือสลัดเท่านั้น แต่ทูน่าสามารถนำมาทำอาหารได้ทุกอย่างเราพัฒนาเมนูที่สามารถนำทูน่าไปใช้ได้ทุกมื้อ ผมเชื่อว่าน่าจะเป็นจุดที่ทำให้การบริโภคปลาทูน่ากระป๋องในประเทศไทยเติบโตสูงขึ้น ถ้าไม่มีวิกฤตแบบนี้โอกาสที่เราจะมาเพิ่มฐานผู้บริโภคแบบนี้น่าจะไม่ใช่เป็นเรื่องง่ายและอาจต้องใช้เวลา

โควิดเปลี่ยนนิยามราชาทูน่าโลก

หลังโควิดเรายังนิยามตัวเองว่าเป็นผู้ผลิตอาหารโดยเฉพาะอาหารทะเลที่เน้นเรื่องความปลอดภัย คุณภาพและนวัตกรรม แล้วก็มีความสนใจสนับสนุนเรื่องสิ่งแวดล้อม และความยั่งยืนอย่างต่อเนื่อง ธุรกิจนี้ก็ยังเป็นธุรกิจหลักของเรา

เรื่องเทคโนโลยี-นวัตกรรมหลังจากนี้ยังต้องทำต่อเนื่อง ผู้บริโภคมีความต้องการที่หลากหลาย เราจำเป็นต้องทำความเข้าใจผู้บริโภค และนำเสนอสิ่งใหม่ที่สอดคล้องกับเทรนด์เรื่องของสุขภาพ สุขอนามัย ความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม ความสะดวก ที่จะเห็นเหมือนกันทั่วโลก โดยเฉพาะเทรนด์ออนไลน์ ดีลิเวอรี่การปรุงอาหาร ทำอาหารเองในบ้าน

และเนื่องจากเราเป็นโรงงานผลิตอาหารเรื่องสุขอนามัยและความปลอดภัยถือเป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญดำเนินการอยู่แล้ว ในโรงงานมีการติดระบบปรับอากาศ พนักงานทุกคนใส่หน้ากากอนามัยและถุงมือ มีการล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ทุก ๆ ชั่วโมงอยู่แล้ว สิ่งที่ต่างกันคือ social distancing ในที่สาธารณะ หรือหลังเลิกงานเป็นเรื่องใหม่ที่คนของเราต้องปรับตัวให้คุ้นเคย

ในตอนท้าย “ธีรพงศ์” ให้คำแนะนำผู้ประกอบการไทยที่เตรียมรีสตาร์ตธุรกิจช่วงนี้ว่า ทุกคนคงต้องมีความอดทน มุ่งมั่น อย่าท้อถอย ธุรกิจคงจะกลับมาสู่สภาวะปกติในเวลาไม่ช้า

สิ่งสำคัญ คือ การเตรียมความพร้อม การเตรียมตัวสำหรับการเปิดประเทศ และการเปิดของโลกที่กำลังจะเกิดขึ้นในเวลาอันใกล้นี้ ต้องพยายามเรียนรู้ ปรับตัวให้สอดรับกับแนวทางใหม่ พฤติกรรมของผู้บริโภคใหม่ ความต้องการใหม่เป็นช่วงเวลาที่เราต้องดูกระแสเงินสดและเรื่องของต้นทุนให้ดี

“ที่ผ่านมาสินค้าอาหารไทยเป็นที่ยอมรับของทั่วโลกอยู่แล้ว เรามีโอกาสค่อนข้างมาก ในช่วงโควิดไทยก็ได้พิสูจน์ว่าเป็นแหล่งการผลิตสินค้าอาหารที่สำคัญของโลก ที่ไม่มีผลกระทบเรื่องการซัพพลายสินค้าสู่ทั่วโลก ในเรื่องของความปลอดภัยและคุณภาพ สินค้าของเราได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ฉะนั้นผมเชื่อว่าจากนี้ไปก็ยิ่งทำให้เรามีโอกาสมากยิ่งขึ้น”

และผู้ประกอบการไทยต้องพัฒนาความสามารถแข่งขันผู้ประกอบการเน้นเรื่องต้นทุน คุณภาพ และนวัตกรรม เทคโนโลยี เป็น 3 ส่วนที่สำคัญเพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ จะทำอย่างไรให้สามารถพัฒนาปรับปรุง productivity การนำเอาระบบออโตเมชั่น โรโบติก เข้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เรื่องนวัตกรรม การพัฒนาผลิตภัณฑ์สินค้าใหม่ ๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคก็เป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง

เปลี่ยนแนวคิดสู่ “WFH”

หลังจากโควิด-19 ทำให้การใช้เทคโนโลยีการสื่อสารได้มีการพัฒนาปรับปรุงไปมาก และเป็นอีกหนึ่งนโยบายที่ทียูต้องการจะลงทุนพัฒนาให้ดียิ่งขึ้น โดยเชื่อว่าการติดต่องานออนไลน์ต่อไปจะมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น และอาจมีการพิจารณาทบทวนว่ามีประเทศใดบ้างหรือธุรกิจไหนบ้างที่มีความจำเป็นหรือเหมาะสมที่จะมีพนักงานทำงานจากบ้านบ้างบางส่วน

“การเดินทางเป็นอีกเรื่องที่คิดว่าต้องกลับมาทบทวนว่าจากนี้ต่อไประดับไหนถึงจะเหมาะสม เนื่องจากวิธีการทำงานปรับเปลี่ยนไปมากพอสมควร โดยในส่วนตัวก็งดการเดินทางลงมากจากช่วงก่อนเกิดโควิดเวลาของผมครึ่งหนึ่งอยู่ที่การเดินทาง และในช่วงโควิดเป็นช่วงที่เรากลับมาทบทวน วิเคราะห์ พิจารณา จะเห็นว่าการที่ไม่ต้องเดินทางบ้างทำให้เรามีเวลาทำงานมากขึ้น ได้พบพูดคุยกับพนักงานของเรามากขึ้น ก็เป็นมุมมองใหม่ของเราที่มีต่อการเดินทาง”

และเนื่องจากพนักงานเรายังทำงานอย่างเต็มที่ ส่วนหนึ่งทำงานจากที่บ้านและส่วนที่โรงงานเราไม่อนุญาตให้พนักงานเคลื่อนย้าย ฉะนั้น เราไม่สามารถจะไปเยี่ยมพนักงานเราได้ทุกที่ ทำอย่างไรจะให้มีการสื่อสารให้พนักงานรู้สึกว่าบริษัทยังอยู่ใกล้ชิดและดูแลพวกเขาตลอดเวลา โดยเฉพาะคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัย สุขอนามัยของพวกเขา”

นอกเหนือจากนั้นพนักงานที่ทำงานจากบ้านจำเป็นต้องได้รับการดูแลเรื่องสุขภาพจิตบ้าง เพราะการอยู่ในบ้านเป็นเวลานานเป็นเรื่องไม่ง่ายเราต้องมีกิจกรรมต่าง ๆ โดยใช้ออนไลน์เป็นสิ่งที่สื่อสารให้มากที่สุด