ศุภวุฒิ สายเชื้อ : “เศรษฐกิจจะใช้เวลา 2-3 ปีฟื้นตัวแบบทุลักทุเล”

ศุภวุฒิ สายเชื้อ :
สัมภาษณ์พิเศษ

ประชาชาติธุรกิจ” ก้าวสู่ปีที่ 44 รวมพลังฝ่าวิกฤตโควิด-19 จัดงานเสวนาออนไลน์ Prachachat Live Forum Week ทางเฟซบุ๊กประชาชาติธุรกิจ ระหว่าง 25-29 พ.ค.นี้ จัดเต็มตลอด 1 สัปดาห์ “RESTART เศรษฐกิจไทย” สำหรับวิทยากรรับเชิญคนแรกก็คือ “ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ” ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร ในฐานะกูรูเศรษฐกิจมหภาค มาร่วมถอดรหัสสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ที่ทุกคนยอมรับว่าไม่เคยเจอกับสถานการณ์รุนแรงเช่นนี้มาก่อน และ new normal เศรษฐกิจไทยจะเป็นอย่างไร

เศรษฐกิจไทยใช้เวลาฟื้นตัว 2-3 ปี

ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ระบุว่า เนื่องจากตอนนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงการบังคับ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ห้ามทำโน่นทำนี่ ถ้าทำต้องทำด้วยเงื่อนไขต่าง ๆ พูดตรง ๆ ก็คือหลาย ๆ ภาคธุรกิจทำมาหากินไม่ได้เหมือนปกติ และบางคนจนถึงขณะนี้ยังหากินไม่ได้เลย อย่างเช่น ธุรกิจการท่องเที่ยว

เศรษฐกิจไทยก่อนโควิด-19 ก็เริ่มอ่อนแรงต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปี 2561 ซึ่งจีดีพีไตรมาส 4 ปี 2562 โตแค่ 1.9-2% พอมาเจอโควิดก็ทำให้สถานการณ์ย่ำแย่ ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยลดลงต่ำสุดในไตรมาส 2 ปีนี้ โดยอาจติดลบถึง 10% ขณะที่หลายประเทศ รวมถึงไทยคาดการณ์ว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจะกินเวลาอีก 2-3 ปี เพราะครั้งนี้เศรษฐกิจจะลงลึกมาก

“ขณะที่เราจะยังไม่ผ่านพ้นโควิด-19 และจะต้องอยู่กับโควิดไปประมาณ 1 ปี หรือมากกว่านั้น เพราะว่าหากมีการค้นพบวัคซีนที่ทำได้สำเร็จจริง ๆ ภายในต้นปีหน้า กว่าทุกคนจะได้ฉีดวัคซีนคงกลางปีหน้าเป็นอย่างเร็ว และอย่างที่ทราบว่าจะมีไวรัสตัวอื่น ๆ ที่จะมาเยือนเราอีก 4-5 ปีมาสักครั้ง แต่ตอนนี้ทุกคนเริ่มตื่นตัวแล้ว รอบหน้าต้องเตรียมให้ดีกว่านี้”

ปลดล็อกเครื่องยนต์ “ท่องเที่ยว”

ดร.ศุภวุฒิฉายภาพว่า หากรัฐบาลยังไม่เร่งผ่อนคลายการเปิดเศรษฐกิจ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า จะฟื้นแบบพิการ หรือฟื้นตัวอย่างทุลักทุเล ลองคิดดูง่าย ๆ ตามเงื่อนไขมาตรการ social distancing ลิฟต์ที่เราจะขึ้นตึกจะเขียนว่า สามารถจุได้ 24 คน แต่ตอนนี้เหลือ 8 คน รถโดยสาร เครื่องบินต่าง ๆ เช่นเดิมทีบินได้ 300 คน ก็จะเหลือสัก 100 กว่าคน เช่น ที่ซีอีโอสายการบินแควนตัสออกมาบอกว่า ถ้าให้ทำแบบนั้น ค่าโดยสารจะต้องปรับเพิ่มขึ้นเกือบ 10 เท่า เพราะฉะนั้น การฟื้นตัวจะเป็นไปแบบทุลักทุเลแน่นอน

ก่อนโควิด-19 “การท่องเที่ยว” เป็นเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพียงตัวเดียวที่เหลืออยู่ แต่เมื่อเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ส่งผลให้รายได้จากการท่องเที่ยวของไทยหายไป กลุ่มการเงินภัทรประเมินว่า ในปี 2563 จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในไทยเพียง 10 ล้านราย จากปีก่อนมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศเกือบ 40 ล้านราย ไตรมาสละ 10 ล้านคน

แต่ไตรมาส 1 ปีนี้ นักท่องเที่ยวเข้ามา 7 ล้านคน เพราะเริ่มเกิดผลกระทบแล้ว แต่ไตรมาส 2 น่าจะ “ศูนย์” คาดว่าไตรมาสสุดท้ายอาจมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 3 ล้านคน ทั้งปีจะได้ 10 ล้านคน แต่ไทยมีการลงทุนทรัพยากรที่รองรับนักท่องเที่ยวได้ 40 ล้านคน ลองนึกภาพว่าเศรษฐกิจจะแย่แค่ไหน ทรัพยากรส่วนเกินจะทำอย่างไร ปัญหาคนตกงานจะเพิ่มมากขนาดไหน

ดร.ศุภวุฒิให้มุมมองว่า ขณะนี้มีบางประเทศที่สามารถจัดการกับโควิด-19 ได้ดี เช่น ออสเตรเลีย ออสเตรีย อิสราเอล สาธารณรัฐเช็ก เดนมาร์ก กรีซ และนิวซีแลนด์ ผู้นำมีการประชุมทางไกลในช่วงต้นเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อหารือการเปิดประเทศระหว่างกัน เพื่อช่วยเหลือธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งในกรณีของไทยก็อยากเห็นมีการหารือระดับผู้นำในกลุ่มประเทศ เช่น จีน เกาหลีใต้ สิงคโปร์ เวียดนาม หรือญี่ปุ่น จะสามารถทำเพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้เช่นเดียวกัน

ธุรกิจกลั้นหายใจไม่ไหว

ดร.ศุภวุฒิเปรียบเทียบว่า มาตรการล็อกดาวน์เศรษฐกิจเพื่อปราบโควิด เปรียบเสมือนให้ “เศรษฐกิจกลั้นหายใจ” ซึ่งกลั้นนานไม่ได้ ขณะที่ไทยมีจุดแข็งด้านสาธารณสุข ตอนนี้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่วันละ 3-4 คน ซึ่งจริง ๆ ถ้าไม่เกิน 100 คน สาธารณสุขของประเทศยังเอาอยู่ เพราะฉะนั้น รัฐบาลต้องกล้าเปิดเศรษฐกิจให้มาก ๆ เพื่อให้ประชาชนเอาตัวเองรอด ขณะที่ระบบสาธารณสุขประเทศทำได้ดีมานานแล้ว แต่ทำไมยังไม่ให้ธุรกิจสตาร์ต ซึ่งน่าจะให้รีบวิ่งได้เร็ว ๆ ที่สุด โดยรัฐรับความเสี่ยงตรงนี้ไป เพื่อให้ประชาชนและธุรกิจรับความเสี่ยงในการไปฟื้นธุรกิจ เพราะมันไม่ง่ายแม้ว่าช่วงแรกนักธุรกิจอยากขายของ เนื่องจากมีเงื่อนไขต่าง ๆ เช่น ร้านอาหารที่นั่งได้ 50 คน กลายเป็นนั่งได้แค่ 20 คน ทำให้มีโอกาสกำไรน้อยมาก ฉะนั้น นักธุรกิจมีโอกาสล้มหายตายจากอีกเยอะมาก แต่อย่างน้อยต้องรีบให้ธุรกิจลองทำกัน ทำแล้วไม่เวิร์กก็จะได้หยุดไปทำอย่างอื่น

“แต่ตอนนี้รัฐบาลบอกให้คอยอยู่ที่เส้นรอสตาร์ต ซึ่งระหว่างรอนี่เหมือนกลั้นหายใจ และมีความเสี่ยงสูงมาก การกลับมาทำธุรกิจก็ไม่ง่าย ข้อมูลภัทรพบว่า กลุ่มเอสเอ็มอีไทยมีสายป่านอยู่ได้แค่ 2 เดือน เอสเอ็มอีนับล้านแห่งจะมีปัญหามาก แม้กระทั่งบริษัทใหญ่ ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ฯ จากการประเมินก็พบว่ามีสายป่านประมาณ 5 เดือนเท่านั้น” ดร.ศุภวุฒิกล่าว

และหลังจากนั้น ถ้ารายได้ยังไม่มา บริษัทต่าง ๆ จะทำอย่างไร เพราะเมื่อเวลาผ่านไปแล้ว เศรษฐกิจฟื้นไม่ได้ ธุรกิจต่าง ๆ ไม่กล้าเปิด เพราะเปิดมาก็มีต้นทุนดำเนินการที่สูงมาก ไม่คุ้มกับรายได้ ที่สุดก็อาจต้องล้มละลายปิดกิจการ ซึ่งจะต้องมีการปลดพนักงาน ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าจะมีคนตกงานถึง 5-7 ล้านคน ฉะนั้นจึงหนักสำหรับรากหญ้าและคนทำงาน โดยวิกฤตครั้งนี้หนักกว่าวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 อย่างมาก ที่มีคนว่างงานประมาณ 1.4 ล้านคน

“ตอนต้มยำกุ้งเศรษฐกิจไทยมีทางไป เพราะภาคส่งออก ท่องเที่ยว อุตสาหกรรม ขายของได้ ตัวเลขฟ้องว่าการส่งออกสินค้าและบริการก่อนวิกฤตต้มยำกุ้งอยู่ที่ประมาณ 40% ของจีดีพี แต่วันนี้มันใกล้ ๆ 70% ของจีดีพี และรอบนี้มันไม่มีทางไป เพราะทั้งโลกก็เป็นโควิด-19 ฉะนั้นรอบนี้ต้องระมัดระวังมาก ๆ เรื่องเศรษฐกิจ ถ้ามีทางเลือกก็ต้องรีบทำ” ดร.ศุภวุฒิกล่าว

รัฐบาลจะพาเศรษฐกิจไปทางไหน

ดร.ศุภวุฒิกล่าวว่า ขณะที่รัฐบาลบอกมีเงินกู้ 4 แสนล้านบาท ในการที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่สิ่งสำคัญคือรัฐบาลจะพาเศรษฐกิจไปทางไหน ตอนวิกฤตต้มยำกุ้ง เศรษฐกิจประเทศมีทางไปเพราะค่าเงินบาทอ่อน และเศรษฐกิจโลกยังแข็งแรง แต่รอบนี้เศรษฐกิจโลกอาจอ่อนแอกว่าเศรษฐกิจไทย ทำให้ไม่มีทางไป แล้วทิศทางการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศจะทำอย่างไร

ในการเปิดประเทศ สิ่งสำคัญคือรัฐบาลต้องสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนและธุรกิจ หากรัฐบาลยังบอกว่าถ้าเกิดการแพร่ระบาดอีกครั้งจะประกาศล็อกดาวน์ใหม่ เศรษฐกิจก็จะไม่ฟื้น ยกตัวอย่างประเทศเวียดนามที่กระตุ้นให้ประชาชนเริ่มท่องเที่ยวในประเทศได้แล้ว ซึ่งหากคนในประเทศมีความมั่นใจก็จะง่ายต่อการดึงความมั่นใจนักท่องเที่ยวต่างชาติให้กลับมา โดยสามารถใช้ประโยชน์จากความแข็งแกร่งด้านระบบสาธารณสุขได้ เช่น การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (medical tourism) โดยชูจุดขายที่ไทยมีอาหารการกินที่ดี และมีความปลอดภัยด้านสาธารณสุข อย่างในฤดูหนาวของต่างประเทศก็สามารถเสนอให้คนรวยต่างชาติมาอยู่ที่ไทยยาว 3-4 เดือน หรือมาท่องเที่ยวระยะยาว (long stay) พร้อม ๆ กับมาดูแลตรวจสุขภาพได้

“ฉะนั้นเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องยืนอีกขา ไม่ใช่ยืนในขาขู่ว่า ห้ามโน่นอย่าทำนี่ ต้องยืนในขาที่ให้ทำไปเถอะ เราจะปกป้องความเสี่ยงด้านสาธารณสุข เรามีระบบที่ดีมาก และมีผู้ป่วยไม่ถึง 100 คน แต่เรามีเตียงไว้ตั้ง 15,000 เตียง เราสามารถทดสอบโรคนี้ได้วันละ 2 แสนราย เรามีห้องแล็บทั่วประเทศตั้ง 167 ห้อง มีห้องไอซียูคอยไว้ 2,000 ห้อง ยังไม่ได้ใช้เลย ถ้าทำแบบนี้ความรู้สึกมันจะต่างกันมาก สำหรับคนที่ออกมาแล้วจะไม่เกร็งไม่กลัว และมีความมั่นใจในการจับจ่ายใช้สอย ทำงาน หรือทำธุรกิจได้มากขึ้น” ดร.ศุภวุฒิกล่าวและว่า

ตอนนี้น่าจะถึงจุดที่จะบอกว่า ประชาชนคนไทยทำหน้าที่เสร็จแล้ว จากนี้เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องรีบเปิดเศรษฐกิจ เพราะประชาชนและธุรกิจกลั้นหายใจไม่ไหวแล้ว