ประโยชน์ 7 ข้อของเนื้อไก่ที่สายเฮลท์ตี้ต้องยกนิ้วให้

Baked chicken garnished with asparagus and herbs

โปรตีนเป็นสารอาหารสำคัญและจำเป็นต่อคนทุกช่วงวัยมีความสำคัญต่อร่างกาย ซึ่ง “เนื้อไก่” คือหนึ่งในแหล่งอาหารที่มีโปรตีนสูง มีวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นหลายชนิด มีปริมาณไขมันน้อยจึงทำให้เนื้อไก่ กลายเป็นเมนูหลักของกลุ่มคนที่ดูแลสุขภาพและต้องการสร้างกล้ามเนื้อ

“เนื้อไก่” นอกจากจะมีความโดดเด่นในการเสริมสร้างกล้ามเนื้อแล้วยังมีข้อดีอีกหลายประการ ซึ่งคุณประโยชน์ทั้งหมดนี้ คือเหตุผลที่เนื้อไก่ถูกยกให้เป็นหนึ่งในสุดยอดอาหาร

1) เป็นแหล่งโปรตีนคุณภาพดี มีกรดอะมิโนจำเป็นครบถ้วนช่วยในเรื่องการเจริญเติบโต สร้างกล้ามเนื้อและเสริมสร้างภูมิต้านทาน

2) อุดมด้วยวิตามินบีรวม เช่น วิตามินบี 12 ช่วยบำรุงสมองและระบบประสาท ช่วยสร้างเม็ดเลือดแดง ป้องกันโรคโลหิตจางได้มีไนอะซิน (วิตามินบี 3) วิตามินบี 5 และ 6 ที่ช่วยในกระบวนการเมตาบอลิซึม โปรตีน คาร์โบไฮเดรต และไขมันให้เป็นพลังงาน

3)  มีฟอสฟอรัส ช่วยทำให้กระดูกและฟันแข็งแรง

4)  เป็นแหล่งของธาตุเหล็กที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างเม็ดเลือดแดงป้องกันโรคโลหิตจางและเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน

5) มีสังกะสี ช่วยเสริมสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ป้องกันการติดเชื้อ ต้านอนุมูลอิสระและต้านการอักเสบภายในร่างกาย

6) ยังมี ซิลีเนียม ช่วยเสริมสร้างการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันช่วยต้านอนุมูลอิสระ ช่วยควบคุมการทำงานฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์ช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบสืบพันธุ์ ช่วยชะลอความแก่และป้องกันโรคที่เกิดจากความเสื่อมของร่างกาย

7) มีไขมันน้อย เมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์ประเภทอื่น ในทางโภชนาการจัดเนื้อไก่เป็นกลุ่มเนื้อสัตว์ไขมันต่ำ สามารถเลือกเป็นแหล่งโปรตีนที่ช่วยดูแลน้ำหนักได้ดี

จากข้อมูลคำแนะนำปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย พ.ศ. 2563 ระบุว่า ปริมาณโปรตีนที่ควรได้รับต่อวันสำหรับคนไทยโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 0.8- 1 กรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วันหากจะคำนวณให้เห็นภาพง่ายๆ เป็นปริมาณของเนื้อไก่สุกเพื่อให้ได้ปริมาณโปรตีนที่เพียงพอแต่ละช่วงวัย มีดังนี้ กลุ่มอายุ 1-5 ปีปริมาณเนื้อไก่สุกที่เหมาะสมคือ 65-82 กรัม กลุ่มอายุ 6 – 8 ปี ปริมาณเนื้อไก่สุกที่เหมาะสมคือ 104 กรัม กลุ่มอายุ 9 – 12 ปี ปริมาณเนื้อไก่สุกที่เหมาะสมคือ 172 กรัม กลุ่มอายุ 13 – 18 ปี ปริมาณเนื้อไก่สุกที่เหมาะสมคือ 219 – 262 กรัม กลุ่มอายุ 19 – 16 ปี ปริมาณเนื้อไก่สุกที่เหมาะสมคือ 226 – 263 กรัม และกลุ่มอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ปริมาณเนื้อไก่สุกที่เหมาะสมคือ 214 – 252 กรัม

สำหรับผู้ที่ดูแลสุขภาพ ควรเลี่ยงรับประทานไก่ทอด เพราะจะทำให้ร่างกายได้รับไขมันเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ระดับคอเลสเตอรอลและไขมันที่ไม่ดี (LDL) ในเลือดสูง จากที่ตั้งใจรับประทานเพื่อสุขภาพที่ดี อาจกลับกลายเป็นเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมองอุดตัน จึงแนะนำการปรุงด้วยวิธีนึ่ง อบ ต้ม แทนการทอด หรือปิ้งย่าง เพราะมีงานวิจัยระบุว่า อาหารที่ปิ้งย่างจนไหม้เกรียมจะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคมะเร็ง

ทั้งนี้ การบริโภคเนื้อไก่อย่างปลอดภัย ผู้บริโภคควรเลือกซื้อเนื้อไก่ที่สด สะอาดปลอดภัย ไม่เก่าเก็บนานเกินไป โดยสังเกตสถานที่จำหน่ายมีสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” และต้องปรุงอาหารให้สุกก่อนรับประทานทุกครั้ง เพื่อป้องกันเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรคปนเปื้อน เช่น แซลโมเนลล่า (Salmonella spp.) ซึ่งเป็นแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสียหากได้รับเชื้อรุนแรงอาจก่อให้เกิดภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดได้

 

ดร.วนพร ทองโฉม
นักวิชาการโภชนาการ งานสร้างเสริมสุขภาพ
คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล