สถานการณ์ e-Commerce ไทย

e-Commerce
คอลัมน์ : Pawoot.com
ผู้เขียน : ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ

จากข้อมูล e-Commerce ประเทศไทย ตอนนี้เรามีตัวเลขคนใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยถึง 50 กว่าล้านคน นั่นหมายถึงประชากร 78% ใช้ออนไลน์ และเชื่อมีคนเกินครึ่งซื้อสินค้าออนไลน์ ฉะนั้นถ้าคุณทำธุรกิจจะเห็นว่าการขายของออนไลน์นั้นมาแล้ว

หากทุกคนขายออนไลน์หมดแล้ว แต่ไม่เข้าใจสภาพตลาดออนไลน์ของประเทศไทยเป็นอย่างไร จุดนี้จะเป็นเรื่องที่ลำบาก ผมจึงอยากเขียนถึงสภาพตลาดอีคอมเมิร์ซประเทศไทยจากการสำรวจโดย สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ ETDA ที่ทำการสำรวจมูลค่าอีคอมเมิร์ซทุกปี

การสำรวจข้อมูลจะทำย้อนหลังไป โดยเริ่มจากปี 2563 อยู่ที่ 3.7 ล้านล้านบาท ซึ่งดูเหมือนว่าเยอะแต่จริง ๆ แล้วตัวเลขก่อนหน้านี้คือ 4 ล้านล้านบาท หลายคนแปลกใจทั้งที่มีโควิด แต่ทำไมตัวเลขถึงตกลงมาได้

สาเหตุที่ตกลงมาเพราะอีคอมเมิร์ซในเมืองไทยที่ใหญ่จริง ๆ ส่วนหนึ่ง คือการท่องเที่ยว ทั้งโรงแรม สายการบิน ฯลฯ ซึ่งแต่ก่อนถือว่าโตมาก

เมื่อมีโควิดภาพรวมอีคอมเมิร์ซอื่น ๆ ถือว่าโตหมดเลย แต่มากระทบกับด้านท่องเที่ยวจึงฉุดให้ภาพรวมอีคอมเมิร์ซของประเทศไทยลดลง -6.68%

เราแบ่งการทำอีคอมเมิร์ซในประเทศไทย เป็น 3 กลุ่มคือ 1.ตลาดค้าปลีกเป็น B2C ในปีก่อนมีมูลค่าประมาณ 2.1 ล้านล้านบาท คิดเป็น 57% คือเกินครึ่งของปริมาณอีคอมเมิร์ซของไทย ขณะที่ตลาดรองลงมาคือ B2B มีมูลค่าการซื้อขายผ่านอีคอมเมิร์ซตกอยู่ประมาณ 7 แสนกว่าล้านบาทซึ่งมีมาร์เก็ตแชร์อยู่ที่ 22%

อีกตลาดที่โตมากเช่นกัน คือ B2G เป็นการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ ตัวเลขตกอยู่ประมาณ 8 แสนกว่าล้านบาท มีมาร์เก็ตแชร์อยู่ที่ 20 กว่าเปอร์เซ็นต์ของภาพรวมอีคอมเมิร์ซทั้งประเทศ

มูลค่ารวมของอีคอมเมิร์ซเมื่อแบ่งตามอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการซื้อขายอีคอมเมิร์ซมากที่สุดคือ ค้าปลีก มีมูลค่าการซื้อขาย ประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท รองลงมาคือที่พักและท่องเที่ยว แม้จะตกลงมาแต่ก็มีมูลค่าประมาณสี่แสนหกหมื่นกว่าล้านบาท

รองลงมาอีกเป็นอุตสาหกรรมการผลิตที่เรียกว่า EDI (electronic data interchange) ถือเป็นอีคอมเมิร์ซแบบ B2B ซื้อขายโดยใช้ช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ ในฝั่งการผลิตถือว่าโตมาก

ฉะนั้นถ้าธุรกิจของคุณทำเกี่ยวกับด้านการผลิตมีโรงงาน วันนี้มีเครื่องไม้เครื่องมือเยอะแยะไปหมด เช่น ระบบ ERP หลายตัวให้ลองใช้ แทนที่จะมามัวแต่ใช้ซอฟต์แวร์บางตัว

ผมว่าการนำเครื่องมือทางด้านดิจิทัลมาใช้และการพัฒนาระบบการทำงานให้เป็นออนไลน์ทั้งระบบจะช่วยประหยัดคน ประหยัดการทำงาน และลดความผิดพลาดไปได้มาก ส่วนอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่น่าสนใจเป็นอุตสาหกรรมเกี่ยวกับเรื่องข้อมูลและข่าวสาร

3 ช่องทางการขายที่มีมูลค่าอีคอมเมิร์ซมากที่สุด อันดับหนึ่ง คือการขายผ่านร้านค้าออนไลน์ ประมาณ 1.1 ล้านล้านบาท อันดับสอง คือการขายผ่านโซเชียลคอมเมิร์ซ 6 แสนกว่าล้านบาท อันดับสาม คือการค้าขายแบบ B2B เป็น EDI ประมาณ 465,000 ล้านบาท

จะเห็นว่าภาพรวมอีคอมเมิร์ซประเทศไทยดูเหมือนตกลง แต่ข้างในกลับโตมากนั่นเพราะมีบางอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบจากโควิดจึงทำให้ภาพรวมดูตกลงมาก

ปัจจัยสำคัญที่ทำให้อีคอมเมิร์ซเมืองไทยโต คือ 1 ระบบชำระเงินโดยเฉพาะการมีพร้อมเพย์ และ 2 คือขนส่ง โดยเฉพาะการขนส่งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ฟู้ดดีลิเวอรี่มาเปลี่ยนการขนส่งจากเดิมหลายวันมาเป็นวันเดียวกันจนถึงไม่ถึงชั่วโมง

เทรนด์อีคอมเมิร์ซหนึ่งที่น่าสนใจที่ผมเคยพูดถึงคือ D2C แนวโน้มผู้ผลิตสินค้าต่าง ๆ หันมาขายตรงกับผู้บริโภคเองทำให้ต่อไปผู้ที่นำสินค้าจากโรงงานมาขายจะอยู่ยากมากขึ้น หรือ M2C หรือ manufacturing to consumer คือจากโรงงานขายตรงถึงมือผู้บริโภคเลยอันนี้น่ากลัวมาก

เริ่มเห็นชัดหลายแห่ง การเกิด M2C ไม่ได้เกิดเฉพาะประเทศไทย แต่เกิดขึ้นหลายแห่ง ตั้งแต่อาลีบาบามาซื้อลาซาด้า จะเห็นว่าโรงงานจีนมีอยู่ในลาซาด้าหรือช้อปปี้เต็มไปหมดเลย

และบางทีไม่ได้มาจากจีนแต่มาจากแวร์เฮาส์ของจีนที่มาตั้งอยู่ที่ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ ฯลฯ

แนวโน้มการทำธุรกิจในประเทศไทย คุณไม่ได้แข่งขายค้าปลีกกันเองแล้ว แต่โรงงานกำลังมาแข่งกับคุณ เป็นเทรนด์ที่ร้านที่เป็นตัวกลางจะเริ่มร่อยหรอลง ยอดขายจะน้อยลง โดยเฉพาะจะมาพร้อมกับพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่ที่จะซื้อแต่ทางออนไลน์