พลิกตำรา Quick Commerce ของชำออนไลน์ จิ๊กซอว์ใหม่ “แกร็บ”

GrabMart

หนึ่งในผู้เล่นหลักในสมรภูมิฟู้ดดีลิเวอรี่ที่แอ็กทีฟเป็นอย่างยิ่ง ต้องมี “แกร็บ” รวมอยู่ด้วย ล่าสุดขยับจาก “อาหาร” มาลุย “quick commerce” (การจัดส่งแบบทันที) โดยโฟกัสสินค้าประเภท “ของสด และของชำ” ออนไลน์ (online grocery) ภายใต้บริการ “แกร็บมาร์ท” เพื่อตอบสนองไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคยุคใหม่ให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น

“จันต์สุดา ธนานิตยะอุดม” ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด-พันธมิตรทางธุรกิจ และธุรกิจแกร็บมาร์ท “แกร็บ ประเทศไทย” กล่าวว่า แนวโน้มการสั่งซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมาก จากรายงานเศรษฐกิจดิจิทัลเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (e-Conomy SEA Report 2021) ระบุว่า ปี 2564 ตลาดอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีมูลค่ารวมสูงถึง 1.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เติบโตขึ้น 62% จากปีก่อนหน้า และกลุ่มสินค้าที่น่าจับตามองคือ สินค้าของสด และของชำออนไลน์ ซึ่งปัจจุบันมีอัตราการเข้าถึง (penetration rate) ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์เพียง 2% เท่านั้นจึงมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก

 

จันต์สุดา ธนานิตยะอุดม

“หากลองเปรียบเทียบจะเห็นว่าอีมาร์เก็ตเพลซหรืออีคอมเมิร์ซจะไม่สามารถซื้อขายของสดได้ และต้องการโกดังเก็บสินค้า เพราะกว่าของจะถึงลูกค้าใช้เวลา 1-3 วัน แต่แกร็บมาร์ทอาจเป็นตึกแถวเล็ก ๆ ก็ได้ไม่ต้องใช้โกดังก็สามารถนำสินค้าไปส่งผู้บริโภคได้ เราเหมาะกับการส่งของสดของชำที่เป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย”

สำหรับแกร็บจึงถือเป็นโอกาสในการเติมเต็มอีโคซิสเต็ม ด้วยการผลักดันให้ “แกร็บมาร์ท” ช่วยตอบสนองไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคใหม่ที่มองหาความสะดวกสบายในการจับจ่ายใช้สอย และความรวดเร็วในการจัดส่งแบบทันที

โดยจะให้ความสำคัญกับ 1.ความหลากหลายของสินค้าด้วยการขยายเครือข่ายร้านค้า เพื่อเพิ่มความหลากหลายให้สินค้าบนแพลตฟอร์ม และสร้างสมดุลให้คนขับมีงานเพิ่มขึ้นนำมาสู่

2.ความรวดเร็วจากจำนวนคนขับ (ไรเดอร์) กว่าแสนราย เพิ่มเติมด้วย 3.การทำ “ราคา” ให้เข้าถึงได้ ด้วยการส่งเสริมโปรโมชั่น ตลอดจนการมีคูปองส่วนลดต่าง ๆ

สแกนตลาดของชำออนไลน์

“ถ้ามองตลาดสินค้าของสดของชำออนไลน์ จะแบ่งเซ็กเมนต์เป็น B2B และ B2C โดย B2B คือ การส่งวัตถุดิบให้ร้านอาหาร ขณะที่ B2C จับผู้บริโภคทั่วไป ซึ่งมักสั่งซื้อสินค้าจากซูเปอร์มาร์เก็ต โดยสั่งล่วงหน้า เช่น สั่งวันนี้ให้ส่งวันถัดไป ขณะที่แกร็บมาร์ท เน้น B2C ที่เป็นควิกคอมเมิร์ซ คือ กดซื้อแล้วได้สินค้าเลย แบบนี้มีคู่แข่งไม่กี่ราย แม้การแข่งขันในตลาดจะมีอยู่บ้าง แต่โอกาสโตมีมาก เพราะยังมีอีก 98% ของคนที่ยังไม่เคยซื้อของสดของชำแบบออนไลน์ เราจึงไม่ได้มองคู่แข่งในตลาดเลย แต่มองตัวเลขสีเขียว 98% ที่มีโอกาสโตนี้มากกว่า หากแข่งก็แข่งกันทำให้สัดส่วนการสั่งสินค้าของสดออนไลน์ขยายขึ้น”

นอกจากนี้ “แกร็บ” ยังมีความได้เปรียบจากการมีบริการที่หลากหลาย และอยู่ในประเทศไทยมาแล้ว 10 ปี (แกร็บฟู้ดเปิดปี 2018) จึงมีฐานลูกค้าค่อนข้างใหญ่ และมีโอกาสดึงมาใช้แกร็บมาร์ทได้จึงโฟกัสที่การเติมเต็มอีโคซิสเต็มทำให้คนที่ใช้บริการ “Food และ Transport มาใช้ Mart” ด้วย

ตอบโจทย์ตั้งแต่ตื่นยันหลับ

“จันต์สุดา” อธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับระบบนิเวศของแกร็บว่า การที่แกร็บตั้งใจจะเป็นแพลตฟอร์มที่อยู่กับคนตั้งแต่ตื่นยันหลับ ดังนั้นในแต่ละช่วงเวลาจึงมีความถี่การใช้งานต่างกันบริการแกร็บคาร์อาจมีการใช้งานหนาแน่นในช่วงเวลาเดินทาง และคนไทยมีพฤติกรรมในการทานอาหารเฉลี่ย 7 มื้อต่อวัน/คน ขณะที่แกร็บมาร์ทมีความถี่ต่างออกไป คือราว 2-3 ครั้งต่อเดือนต่อคน

“แกร็บมาร์ทยังมีหลายอย่างที่ต้องพัฒนาต่อให้เราโตขึ้น เพราะความถี่ของการใช้ ไม่เท่าแกร็บฟู้ด อยากเน้นการเติบโตที่จำนวนผู้ใช้มากกว่าจำนวนการใช้” จันต์สุดาย้ำ

ขยายพาร์ตเนอร์ลุย ตจว.

“จันต์สุดา” กล่าวด้วยว่า ในโควิดที่ผ่านมา ธุรกิจแกร็บมาร์ทในประเทศไทยเติบโตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในเชิงพื้นที่ครอบคลุมการให้บริการใน 68 จังหวัด และมีร้านค้าพันธมิตรรวมกว่า 15,000 ร้าน และในปีนี้ยังเดินหน้าขยายพันธมิตร และการเข้าถึงสินค้าไปยังกลุ่มร้านค้าขนาดเล็กมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นร้านโชห่วย ร้านขายของชำในชุมชนท้องถิ่น โดยเฉพาะในต่างจังหวัด เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายย่อยใช้แพลตฟอร์มของแกร็บในการเข้าถึงลูกค้าในวงกว้างขึ้น ช่วยเพิ่มยอดขาย และขยายโอกาสทางธุรกิจให้กลุ่ม SMEs อย่างเป็นรูปธรรม

“ปัจจุบันสัดส่วนร้านค้าเล็ก ๆ มีเกือบครึ่งของแพลตฟอร์มแกร็บมาร์ท เราจะผลักดันให้ส่วนนี้โตขึ้น แต่ไม่ได้กำหนดว่ากี่ร้านค้า คงให้สอดคล้องไปกับสภาพตลาด เพราะเราเริ่มที่กรุงเทพฯก่อนแล้วไปต่างจังหวัด ซึ่งในต่างจังหวัดร้านค้าเล็ก ๆ แบบนี้เยอะมากจึงมีโอกาสเติบโตอีกมาก”

พลิกตำรา Quick Commerce

“จันต์สุดา” อธิบายความต่างของ “ควิกคอมเมิร์ซ” และ “อีคอมเมิร์ซ” ว่า ควิกคอมเมิร์ซ เกิดจาก on demand delivery ที่เป็นจุดแข็งของ “แกร็บ” หลายคนอาจคุ้นเคยกับการสั่งอาหารที่ได้ทันที คนขับที่ส่งอาหารทันทีนั้นมีอยู่แล้ว จึงคิดต่อว่า ทำไมไม่ให้คนขับที่มีมาซื้อของไปส่งลูกค้า โดยมีความแตกต่างจากการซื้อของจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ คือ

1.อีคอมเมิร์ซใช้เวลาส่ง 2-3 วัน ขณะที่ “ควิกคอมเมิร์ซ” ใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมง

2.แหล่งรับสินค้าบนอีคอมเมิร์ซทั่วไป ของจะส่งไปยังโกดังก่อนแล้วพนักงานส่งของไปรับที่โกดังต่อ ต่างจาก “ไรเดอร์” หรือคนส่งของแกร็บที่ไปรับของที่ร้านและส่งได้ภายใน 25 นาที

“อีคอมเมิร์ซ คนส่งของต้องไปที่โกดัง แต่ควิกคอมเมิร์ซของอยู่ที่ร้านค้าทั่วไปที่มีอยู่ทั่วประเทศ ร้านสะดวกซื้อที่มองเห็น คือ แหล่งสินค้าที่เป็นดาวกระจายตามซอกซอย ผู้ซื้อจะเลือกร้านที่อยู่ใกล้ที่สุด ระบบของเราจะช่วยให้เห็นในรัศมี 3 กิโลเมตร”

ประการที่ 3 ประสบการณ์ของผู้ใช้บริการ ฝั่งอีคอมเมิร์ซเน้นส่วนลด (discount matter) ขณะที่ควิกคอมเมิร์ซเน้นความรวดเร็ว และสะดวกสบาย

4.การส่งของควิกคอมเมิร์ซเน้นการส่งของด้วยรถสองล้อ แม้มีรถสี่ล้อบ้าง แต่สองล้อเป็นที่นิยมมากกว่า เนื่องจากกระเป๋าของ “ไรเดอร์” ใส่ของสด และอาหารได้ดี และมีพื้นที่เพียงพอสำหรับฝากซื้อของ ขณะที่ฝั่งอีคอมเมิร์ซใช้รถบรรทุกเพื่อส่งพัสดุ

สุดท้าย อยู่ที่ “ของ” ที่ขาย อีคอมเมิร์ซมีสินค้าหลากหลายมาก ขณะที่ควิกคอมเมิร์ซมีลักษณะเป็นของใช้ในชีวิตประจำวัน

“เรามีไรเดอร์กว่าแสนคน และการที่เรามีหลายบริการทำให้พี่ ๆ คนขับ ส่งอาหารได้ ส่งของได้ ส่งเอกสารได้ ทำให้เรามีงานเพียงพอ ไม่ต้องแย่งงานกัน ทั้งยังมีการมอนิเตอร์เพื่อให้งานอย่างเหมาะสมกับคนขับ”

“การทำมาร์เก็ตเพลซโมเดล เป็นทั้งศาสตร์ และศิลป์ ที่เราต้องสร้างสมดุลระหว่างดีมานด์กับซัพพลาย ถ้าดีมานด์เยอะ คนขับไม่เพียงพอลูกค้าก็ต่อว่า ถ้าดีมานด์ไม่พอ คนขับมากไป คนขับก็ต่อว่า คำสั่งซื้อ และคนขับจึงเป็นสิ่งสำคัญที่แกร็บต้องสร้างสมดุลให้ได้”