ร้านกาแฟ 3 หมื่นล้านร้อนฉ่า ค่ายใหญ่เปิดศึกแย่งทำเลทอง

ร้านกาแฟ

ตั้งแต่ 1 ต.ค.ที่ผ่านมาเป็นต้นไป “กาแฟ-เครื่องดื่ม” ของบรรดาผู้ประกอบการร้านกาแฟรายใหญ่แทบทุกค่าย ทั้งคาเฟ่ อเมซอน (ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก หรือ OR) อินทนิล (บางจาก) รวมถึงค่ายเล็กดิโอโร่ (โกลเด้นครีม) ฯลฯ จะปรับขึ้นราคาเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 5 บาททุกเมนู

และจะส่งผลให้บรรดาคอกาแฟต้องควักกระเป๋าจ่ายค่ากาแฟ-เครื่องดื่ม เพิ่มเป็นแก้วละประมาณ 50-60 บาท

ยกเว้น กาแฟพันธุ์ไทย (พีทีจี เอ็นเนอยี) ที่กัดฟัน…ตรึงราคาสินค้าทุกรายการไว้เหมือนเดิม

จากก่อนหน้านี้ ที่ออลล์ คาเฟ่ มุมจำหน่ายเครื่องดื่มกาแฟสดและเครื่องดื่มชงสด ในร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่น ได้นำร่องประกาศขึ้นราคาเครื่องดื่ม 5 บาททุกรายการ

ขึ้นราคากระทบตลาดไม่มาก

แหล่งข่าวผู้คร่ำหวอดในวงการร้านกาแฟ ให้ข้อมูลว่า เหตุผลสำคัญที่ทำให้ร้านกาแฟแทบทุกค่ายต้องตัดสินใจปรับราคาขึ้นดังกล่าว เป็นผลมาจากต้นทุนการดำเนินงานต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้น ทั้งเมล็ดกาแฟ แพ็กเกจจิ้ง นม ฯลฯ รวม ๆ แล้วเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 8-10% โดยเฉพาะราคาเมล็ดกาแฟที่พุ่งขึ้นเกือบเท่าตัว และสูงสุดในรอบหลายปี เช่นเดียวกับเบเกอรี่ก็เจอปัญหาแป้งสาลีราคาแพงขึ้น จากภาวะสงครามรัสเซีย-ยูเครน แต่เนื่องจากตลาดร้านกาแฟมีการแข่งขันสูง

อย่างไรก็ตาม หลังการปรับขึ้นราคาดังกล่าว โดยส่วนตัวประเมินว่า ในแง่ยอดขายอาจจะสะดุดลงบ้างเล็กน้อย จากปัจจัยในเรื่องของภาวะเศรษฐกิจ กำลังซื้อ ที่ยังไม่ฟื้นตัวดีนัก ประกอบกับค่าครองชีพต่าง ๆ ที่เพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งผลกระทบจากเงินเฟ้อที่มีแนวโน้มสูงขึ้น

กลุ่มลูกค้าจำนวนหนึ่งอาจจะต้องประหยัดมากขึ้น กลุ่มนี้อาจจะสัก 20% ที่อาจจะลดการดื่มกาแฟลง เช่น จากเดิมเคยดื่ม 2 แก้ว ก็อาจจะลดลงเหลือแก้วเดียว เป็นการบริหารจัดการเงินในกระเป๋า ส่วนอีก 80% ไม่น่าจะกระทบนัก เพราะส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ ส่วนตลาดกาแฟในช่องทางร้านสะดวกซื้อ เนื่องจากเดิมราคาก็ไม่สูงนัก หรือประมาณ 35-40 บาท การขึ้นราคาอีก 5 บาท ก็ไม่น่าจะส่งผลกระทบอะไรมากนัก

แม้ทุกค่ายจะประกาศขึ้นราคาไปแล้ว แต่อีกด้านหนึ่งแต่ละค่ายก็ยังมีโปรโมชั่นกระตุ้นเป็นระยะ ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะซื้อ 1 แถม 1, ซื้อ 2 แก้ว แถมฟรี 1 แก้ว, ซื้อ 2 แก้ว ในราคาพิเศษ เช่น เพียง 50 บาท จากปกติ 80 บาท รวมทั้งซื้อกาแฟหรือเครื่องดื่ม ควบซื้อเบเกอรี่ ลดราคาพิเศษ 10-25 บาท จากราคาปกติ

“จริง ๆ แล้วต้นทุนการดำเนินงานของร้านกาแฟทุกค่ายเพิ่มสูงขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 2564 ที่ผ่านมาแล้ว โดยเฉพาะเมล็ดกาแฟที่แพงขึ้นเกือบเท่าตัว และตอนนี้ก็ยังแพงและราคาอยู่ในระดับสูง แต่ผู้ประกอบการรายใหญ่อาศัยที่ทุนหนา สายป่านยาว กัดฟันไม่ขึ้นราคา เมื่อรายใหญ่ไม่ปรับราคา รายเล็กรายน้อยก็ไม่กล้าปรับ ผลที่ตามมาก็คือ ขาดทุน เพราะต้นทุนเพิ่มแต่ขึ้นราคาไม่ได้”

แย่งทำเลทอง-ขยายสาขา

แหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัทผู้บริหารร้านกาแฟ-เบเกอรี่อีกรายหนึ่ง เปิดเผยว่า ขณะนี้แม้ว่าภาพรวมของภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้ออาจจะไม่ดีนัก แต่สำหรับตลาดร้านกาแฟในภาพรวมที่มีมูลค่าตลาดรวมประมาณ 3 หมื่นล้านบาท ยังอยู่ในช่วงขาขึ้น แต่ในแง่ของการเติบโตอาจจะไม่หวือหวาเหมือนช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมาที่ตัวเลขการเติบโตเป็นเลข 2 หลักทุกปี โดยปีที่ผ่านมา ผลกระทบจากโควิด-19 และเศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้ตลาดรวมเติบโตเพียง 3-5%

โดยการเติบโตของตลาดประเด็นสำคัญมาจากการที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ ทั้งคาเฟ่ อเมซอน สตาร์บัคส์ (ไทยเบฟ) อินทนิล พันธุ์ไทย รวมถึงธุรกิจค้าปลีกในเครือ ซี.พี. ที่มีร้านกาแฟหลากหลายแบรนด์ อาทิ ออลล์ คาเฟ่, คัดสรร, เบลลินี่, กาแฟมวลชน เป็นต้น ต่างมีการลงทุนขยายสาขาหรือเพิ่มจุดขายเพิ่มอย่างต่อเนื่อง

“ที่สำคัญ ตอนนี้ค่ายใหญ่ทุกค่ายเดินหน้าขยายสาขาต่อเนื่อง และทำให้มีการแข่งขันเพื่อแย่งพื้นที่หรือทำเลดี ๆ เพื่อเปิดสาขาสูงมาก โดยเฉพาะอาคารสำนักงาน โรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลรัฐ มหาวิทยาลัย ฯลฯ ที่ค่ายใหญ่ทุ่มเม็ดเงินไม่อั้นเพื่อให้ชนะการประมูลชนะคู่แข่ง”

จากการตรวจสอบแผนการดำเนินงานและเป้าหมายของร้านกาแฟรายใหญ่ล้วนพบว่า แต่ละรายมีแผนการขยายสาขาปีละหลายร้อยสาขาในทุกช่องทาง อาทิ ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก หรือโออาร์ ในปี 2565 มีแผนจะเปิดร้านคาเฟ่ อเมซอนเพิ่มอีก 400-500 สาขา จากเดิมที่มีประมาณ 3,500 สาขา โดยจะเปิดทั้งในสถานีบริการน้ำมัน ปตท. และนอกสถานบริการน้ำมัน

ขณะที่บางจากตั้งเป้าจะขยายสาขาร้านกาแฟอินทนิลเพิ่มเป็น 1,200 สาขา ภายใน 5 ปี (2564-2568) จากสิ้นปี 2563 มีอยู่ประมาณ 700 สาขา ทั้งในและนอกสถานีบริการน้ำมันบางจาก

เช่นเดียวกับพีทีจี เอ็นเนอยี หรือปั๊มน้ำมัน PT ที่หันมาลุยธุรกิจน็อนออยล์ ด้วยการใช้ร้านกาแฟพันธุ์ไทย-คอฟฟี่เวิลด์เป็นหัวหอก โดยวางโพซิชันนิ่งคอฟฟี่เวิลด์ จัดอยู่ในระดับพรีเมี่ยม เน้นโลเกชั่นในห้างสรรพสินค้า คอมมิวนิตี้มอลล์ ส่วนร้านกาแฟพันธุ์ไทยจัดอยู่ในระดับล่าง เน้นโลเกชั่นในปั๊มน้ำมัน รวมทั้งมีการขายแฟรนไชส์เพื่อให้การขยายสาขารวดเร็วขึ้น โดยตั้งเป้าจะขยายสาขาให้ได้มากกว่า 1,500 สาขา ในปี 2566 โดยไม่ได้จำกัดว่าจะต้องอยู่ในปั๊มน้ำมันอย่างเดียวเท่านั้น

นี่ยังไม่นับรวมถึงธุรกิจร้านกาแฟในเครือ ซี.พี. ที่ต่างก็ทยอยเปิดสาขาเพิ่มอย่างต่อเนื่อง ทั้งการลงทุนเองและการขายแฟรนไชส์ ซึ่งมีให้เห็นเป็นจำนวนมาก อาทิ ออลล์ คาเฟ่, ออลล์ คาเฟ่ โกลด์, คัดสรร, เบลลินี่ ภายใต้การดูแลของซีพี ออลล์, หรือกาแฟมวลชน ภายใต้การบริหารของซีพี รีเทลลิงค์, กาแฟจังเกิล และอราบิเทีย ภายใต้การบริหารของซีพี บีแอนด์เอฟ เป็นต้น

แบรนด์เล็กเน้นประคองตัว

แหล่งข่าวจากผู้ประกอบการร้านกาแฟ แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า “ถึงวันนี้ ชัดเจนว่าตลาดร้านกาแฟเป็นตลาดที่มีการแข่งขันสูงมาก และมีผู้ประกอบการรายใหญ่เงินทุนหนาเข้ามาเล่นเป็นจำนวนมาก โดยส่วนตัวประเมินว่า จากนี้ไปผู้ประกอบการรายกลาง-เล็ก หากจะยังอยู่ในตลาดนี้ก็จะต้องปรับตัวค่อนข้างมาก ซึ่งตลาดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การขยายสาขาของร้านกาแฟรายกลางและรายเล็กมีข้อจำกัดมากขึ้น การไม่มีพื้นที่ของตัวเอง หรือต้องเช่าที่เพื่อเปิดสาขา ทำให้มีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และไม่สามารถจะแข่งขันได้

รายใหญ่เล่นซื้อ 1 แถม 1 ได้ แต่รายเล็กทำไม่ได้ ทำไปก็เข้าเนื้อ หรือการจะเข้าไปเปิดสาขาในโรงพยาบาล หรือสถาบันการศึกษา ก็ทำได้ยากเพราะไม่มีเงินทุนมากพอ”

“ยิ่งช่วงนี้ดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น การจะไปกู้แบงก์มาเปิดสาขาเพิ่มก็คงเป็นภาระ จากนี้ไปคงเน้นการประคับประคองมากกว่า รายใหญ่เขายอมขาดทุนปีหรือสองปีได้เพราะทุนหนาสายป่านยาว สถานการณ์แบบนี้ รายเล็กรายน้อย รายใหม่โอกาสจะแจ้งเกิดยากมาก” แหล่งข่าวรายนี้ย้ำ

วันนี้แม้ตลาดร้านกาแฟจะยังสามารถเติบโตได้ ท่ามกลางปัจจัยลบที่รุมเร้าจากรอบทิศ แต่ด้วยสภาพตลาดที่เปลี่ยนไป สมรภูมินี้อาจจะมีเวทีที่เหมาะกับผู้ประกอบการรายใหญ่ทุนหนาเท่านั้น

รายใหม่ หรือใครที่จะก้าวเข้ามาแย่งเค้กก้อนใหญ่ก้อนนี้ ต้องคิดให้ดี คิดให้รอบคอบ !