ความเห็น กสทช. ฝั่งไม่มีอำนาจอนุมัติ ควบรวมทรูดีแทค

กสทช. ฝั่งเสียงข้างมาก แจงเหตุผลการลงมติดีล “ทรู-ดีแทค” ชี้ กสทช. ไม่มีอำนาจทางกฎหมายในการอนุญาต-ไม่อนุญาต การควบรวมของเอกชน 

วันที่ 22 ตุลาคม 2565 นายต่อพงษ์ เสลานนท์ กสทช. ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน ได้เผยแพร่เอกสารชี้แจงความเห็นข้อกฎหมาย เป็นบันทึกข้อความต่อสำนักงานเลขานุการ กสทช. รายละเอียดตามภาพที่แนบมา

โดยสรุป นายต่อพงษ์ เสลานนท์ กรรมการ กสทช. (ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน) ได้ชี้แจงการลงมติเพียง “รับทราบ” ว่า ตนมีความเห็นทางกฏหมายว่าไม่เข้าข่ายข้อ 8 ตามประกาศ กทช. ฉบับ พ.ศ. 2549 ที่ระบุห้ามไม่ให้เข้าควบคุมนโยบายหรือเข้าบริหารธุรกิจของผู้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจโทรคมนาคมรายอื่น

ซึ่งตนเห็นว่าการควบรวมดังกล่าวนั้นผู้รับใบอนุญาตทั้งสองรายยังคงดำเนินธุรกิจต่อไปเหมือนเดิม เมื่อไม่เข้าข่ายข้อ 8 กสทช. ย่อมไม่มีอำนาจพิจารณาการอนุญาต

ประกอบกับประกาศ กสทช. ปี 2561 ได้กำหนดแนวทางเพื่อป้องกันการสมรู้ร่วมคิดกันไว้อยู่แล้ว ตามข้อ 12 ของประกาศปี 2561 ที่สามารถออกมาตรการหรือเงื่อนไขเฉพาะได้ตาม ม.27 พรบ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ

อย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุด นายต่อพงษ์ ระบุในหนังสือชี้แจงว่า ภายหลังจากรวมธุรกิจแล้ว หากบริษัทใหม่ไม่ดำเนินการตามที่ กสทช. กำหนดเงื่อนไขเฉพาะตามข้อ 12 ของ ประกาศ กสทช. ปี 2561 ซึ่งส่งผลให้เกิดการผูกขาด ลด หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการโทรคมนาคม กสทช. มีอำนาจสั่งห้ามการควบรวมกิจการ หรือกำหนดมาตรการเฉพาะตามหมวด 4 ของประกาศ กสทช. ปี 2549 ได้

ที่สำคัญ กสทช. มีอำนาจบังคับทางปกครองตามหมวด 4 พรบ. ประกอบกิจการโทรคมนาคม

ม. 64 มีอำนาจสั่งให้ผู้รับใบอนุญาตระงับการกระทำที่ฝ่าฝืน หรือปรับปรุงแก้ไข หรือปฏิบัติให้ถูกในเวลาที่กำหนด

ม. 66 มีอำนาจสั่งปรับ หากไม่ปฏิบัติตาม ไม่ต่ำกว่าสองหมื่นบาทต่อวัน

และหากส่งผลร้ายแรงต่อประโยชน์สาธารณะ มีอำนาจพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาตได้

ความเห็นต่อพงษ์1