ทรูเร่งเกมควบรวมท้าชน AIS ปรับโครงสร้างรวมพนักงาน 2 บริษัท

ทรูดีแทค

“ทรู-ดีแทค” กดปุ่มควบรวมธุรกิจ เดินหน้าแจ้งผู้ถือหุ้น-จดทะเบียนตั้งบริษัทใหม่ พร้อมปรับโครงสร้างองค์กรลดซ้ำซ้อน เร่งเกมนำร่องชอตแรกโรมมิ่งเครือข่าย “4G-5G” ผสานจุดแข็งอัพสปีดธุรกิจ ย้ำไม่ต้องห่วงค่าบริการจะแพงขึ้น ฝั่งนักวิเคราะห์ชี้ผงาดขึ้นเบอร์ 1 ทันทีทั้งในแง่ฐานลูกค้าและรายได้ แต่กำไรยังเป็นรองคู่แข่ง ทั้งเป็นตัวเร่งให้ “เอไอเอส” ปิดดีลซื้อ 3BB ฟากภาคประชาชนเดินหน้าฟ้อง กสทช.

หลังรอมา 9 เดือน ในที่สุดคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ก็สรุปปิดดีลควบรวมระหว่างทรูและดีแทคได้ ในการประชุมนัดพิเศษตามที่ได้ประกาศไว้ว่า จะให้จบให้ได้ภายในวันที่ 20 ต.ค. 2565 โดยคณะกรรมการ 5 กสทช. มีมติเสียงข้างมากรับทราบการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ด้วยคะแนน 3:2 หลังใช้เวลาประชุมร่วมกันนานกว่า 11 ชั่วโมง

ไฟเขียวควบรวมแบบมีเงื่อนไข

โดยในที่ประชุมได้พิจารณาข้อกังวล (Point of concern) 5 เรื่อง และเห็นชอบเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะ ดังนี้ 1.ข้อกังวลเรื่องอัตราค่าบริการและสัญญาในการให้บริการ โดยมีเงื่อนไขในการกำหนดเพดานราคาค่าบริการเฉลี่ย

โดยระบุว่า ค่าบริการเฉลี่ยต้องลดลงร้อยละ 12 โดยใช้วิธีการเฉลี่ยราคาใหม่ ด้วยการถ่วงน้ำหนักตามจำนวนผู้ใช้บริการในแต่ละรายการส่งเสริมการขาย ภายใน 90 วัน หลังการควบรวม และมีทางเลือกของราคาที่แยกรายบริการ ให้นำส่งข้อมูลต้นทุนและข้อมูลที่จำเป็น โดยมีหน่วยงานตรวจสอบ

ส่วนการกำหนดราคาค่าบริการ ให้ใช้ราคาเฉลี่ยทางเศรษฐศาสตร์ (Average Cost Pricing) และคงทางเลือกของผู้บริโภค โดยให้ทรูและดีแทคยังคงแบรนด์การให้บริการแยกจากกัน เป็นเวลา 3 ปี

ทั้งยังระบุด้วยว่า สัญญาการให้บริการของทั้งทรูและดีแทค จะต้องคงไว้ ซึ่งเงื่อนไขของสัญญาและข้อตกลงระหว่างบริษัทและผู้ใช้บริการ รวมถึงผลประโยชน์ที่ได้รับตามที่ได้มีการทำสัญญาหรือข้อตกลงไว้ตามระยะเวลาที่กำหนดในสัญญา เว้นแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของสัญญาที่เป็นคุณหรือเป็นประโยชน์และได้รับการยินยอมจากผู้ใช้บริการแล้ว

ทรูดีแทค

ต้องเปิดทาง MVNO

2.ข้อกังวลเกี่ยวกับอุปสรรคการเข้าสู่ตลาด ขาดประสิทธิภาพการแข่งขัน และการสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อย มีเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะ โดยระบุให้จัดทำแผนการจัดให้มีผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน (MVNO) โดยจัดให้มีหน่วยธุรกิจ แยกระบบการบริหารจัดการ ระบบบัญชี ออกจากหน่วยธุรกิจหลัก

และจัดให้มีระบบการให้บริการโครงข่ายที่พร้อมรองรับการเข้าใช้บริการของ MVNO ต้องพร้อมให้ผู้รับใบอนุญาต MVNO ขอเข้าใช้โครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ สามารถเริ่มให้บริการได้ภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ขอใช้บริการ ทั้งระบุด้วยว่า ทรูและดีแทคต้องจัดให้มีบริการโครงข่ายโทรคมนาคม โดยมีขนาดความจุ (Capacity) อย่างน้อยร้อยละ 20 ของโครงข่ายทั้งหมดของตนเอง

และกำหนดอัตราค่าตอบแทนการขายส่งบริการสำหรับ MVNO ไม่เกินอัตราค่าบริการที่เสนอขายเฉลี่ยต่อหน่วยของแต่ละบริการตามสิทธิการใช้งานของทุกรายการส่งเสริมการขายหัก ด้วยอัตราไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของอัตราค่าบริการที่เสนอขายเฉลี่ยต่อหน่วยของราคาขายปลีกสำหรับบริการแบบส่งเสริมการขาย (Bundle Package) หรือราคาเฉลี่ยขายต่อหน่วยสำหรับรายบริการ (Unbundle) ที่มีการใช้งานจริง เป็นต้น

เร่งขยาย 5G ทั่วประเทศ

3.ข้อกังวลเรื่องคุณภาพการให้บริการ ได้กำหนดให้ทั้งทรูและดีแทคต้องไม่ลดจำนวนระบบสื่อสัญญาณ (cell sites) เพื่อรักษาคุณภาพและมาตรฐานบริการให้ไม่ต่ำไปกว่าเดิม และต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับจำนวนลูกค้าที่จะเพิ่มขึ้นจากการรวมธุรกิจ มีพนักงานในส่วนของศูนย์บริการและคอลเซ็นเตอร์ รวมถึงขนาดพื้นที่ศูนย์บริการลูกค้าที่รองรับการเข้ามาติดต่อของผู้ใช้บริการ

ทั้งยังระบุด้วยว่า ทั้งคู่ต้องจัดให้มีโครงข่ายโทรคมนาคมเพื่อการประกอบกิจการด้วยเทคโนโลยี 5G ครอบคลุมไม่น้อยกว่า 85% ของประชากรในประเทศ ภายใน 3 ปี และเพิ่มเป็น 90% ภายใน 5 ปี นับจากวันที่รวมธุรกิจ

4.ข้อกังวลการถือครองคลื่นความถี่/การใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน มีเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะ ให้การถือครองคลื่นความถี่ ต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างเคร่งครัด และการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน (Infrastructure Sharing) ต้องให้ผู้รับใบอนุญาตรายอื่นเช่าใช้โครงข่ายโทรคมนาคมของตนเองในการประกอบกิจการโทรคมนาคม และจะต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการใช้โครงข่ายโทรคมนาคมของ กสทช.อย่างเคร่งครัด

และ 5.ด้านเศรษฐกิจของประเทศ นวัตกรรม และความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล (Digital divide) กำหนดให้มีรายการส่งเสริมการขายในราคาต่ำเป็นพิเศษสำหรับผู้มีรายได้น้อยและผู้ด้อยโอกาสในสังคม ทั้งให้เสนอแผนการพัฒนานวัตกรรมที่เป็นรูปธรรมภายใน 60 วัน หลังได้รับแจ้งเงื่อนไข หรือมาตรการเฉพาะ และเริ่มดำเนินการตามแผนภายใน 1 ปี

ตั้งอนุฯติดตามควบรวม

นอกจากนี้ยังระบุว่า บริษัทรายงานผลการประกอบธุรกิจ ภายใต้การดำเนินการตามกำหนดระยะเวลาและเงื่อนไขที่ได้รับจาก กสทช. ทุก 6 เดือน เป็นเวลาอย่างน้อย 5 ปีด้วย และว่า ภายหลังการรวมธุรกิจ หาก กสทช.พิจารณาหรือได้รับการร้องเรียนว่า มีการกระทำ พฤติกรรม หรือเหตุอันเป็นการผูกขาด หรือลด

หรือจำกัดการแข่งขัน มีการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญทำให้เงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะไม่เหมาะสม หรือไม่มีประสิทธิภาพ กสทช.อาจระงับ ยกเลิก เพิ่มเติม หรือปรับปรุงเงื่อนไข หรือมาตรการเฉพาะใหม่ ได้ตามความเหมาะสม และความจำเป็น

ในที่ประชุมยังเห็นชอบในหลักการในการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อติดตามและประเมินผลการรวมธุรกิจตามประกาศปี 2561 และให้สำนักงาน กสทช.และผู้แจ้งการรวมธุรกิจประกาศให้ผู้ใช้บริการรับทราบเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะตามที่มีมติ เพื่อมีการตรวจสอบ และมีบทลงโทษกรณีทำไม่ได้ เช่น ปรับเป็นร้อยละของรายได้ หรือปรับเป็นขั้นบันได และเพิกถอนใบอนุญาต

ทรู-ดีแทค เดินเกมเร็ว

แหล่งข่าวจาก บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มาตรการหรือเงื่อนไขในการควบรวมของ กสทช.ไม่ได้ห้ามการใช้โครงข่ายและความถี่ร่วมกัน แต่ระบุให้คงไว้ซึ่งแบรนด์เป็นระยะเวลา 3 ปี เท่ากับว่าบริษัทสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการกับลูกค้าของทั้งคู่ได้ ด้วยการโรมมิ่งเครือข่ายระหว่างกัน ซึ่งจะทำให้ลูกค้าดีแทคข้ามมาใช้เครือข่ายของทรูได้

เช่นกันกับลูกค้าทรูก็ข้ามไปใช้เครือข่ายของดีแทคได้เช่นกัน ทำให้ได้รับคุณภาพสัญญาณที่ดีและครอบคลุมยิ่งขึ้น ขณะที่ในแง่อัตราค่าบริการก็กำหนดอัตราค่าบริการเฉลี่ยลดลง 12% โดยการถ่วงน้ำหนักตามจำนวนผู้ใช้บริการในแต่ละรายการส่งเสริมการขาย ยังไม่นับข้อกำหนดเกี่ยวกับการขยายเครือข่าย 5G และการดูแลลูกค้าผ่านคอลเซ็นเตอร์และศูนย์บริการ เป็นต้น

“การโรมมิ่งเครือข่ายเป็นสิ่งที่ทำได้ก่อนเลย แต่ในทางเทคนิคจะได้ระดับไหนก็คงต้องคุยกันในรายละเอียดอีกที แต่ที่แน่ ๆ ผู้บริโภคได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นจากบริการที่จะต้องดีขึ้น เป็นความตั้งใจของเราทั้งคู่อยู่แล้ว ว่าลูกค้าเราต้องได้ประโยชน์มากขึ้น

ส่วนเรื่องค่าบริการ เราเองยืนยันมาตลอดว่า ไม่ใช่สิ่งที่น่ากังวล เพราะผู้ให้บริการไม่สามารถตั้งราคาขายได้เองอยู่แล้ว แต่ต้องปฏิบัติตามประกาศ กสทช. ซึ่งเงื่อนไขในการควบรวมธุรกิจ กสทช.ก็มีเงื่อนไขในเรื่องราคาที่ระบุให้ลดเพดานราคาเฉลี่ยลง 12%”

แหล่งข่าวกล่าวต่อว่า ภายในสัปดาห์หน้า กสทช.จะทำหนังสือแจ้งเรื่องการพิจารณาการควบรวมธุรกิจ รวมถึงรายละเอียดเกี่ยวกับเงื่อนไขและมาตรการต่าง ๆ มายังทั้งสองบริษัท จากนั้นบริษัทจะดำเนินการแจ้งผู้ถือหุ้น และนัดประชุมเพื่อขออนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้น เมื่อได้รับความเห็นขอบจากผู้ถือหุ้นก็จะไปดำเนินการแจ้งเรื่องการควบรวมบริษัทกับกระทรวงพาณิชย์เพื่อขอจัดตั้งบริษัทใหม่ต่อไป

จังหวะก้าวบริษัทใหม่

นายพิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากบอร์ด กสทช.ให้ TRUE และ DTAC ควบรวมกิจการพร้อมกำหนดเงื่อนไขปฏิบัติตามเพื่อเยียวยาและรักษาผลประโยชน์ของผู้ใช้บริการนั้น

ขั้นตอนต่อไปทาง TRUE และ DTAC จะแจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เพื่อให้เตรียมตัวประมาณ 1-2 สัปดาห์ ถึงกระบวนการทำคำเสนอซื้อ (Tender Offer) โดยใช้เวลาประมาณ 1 เดือน หรือคาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือน พ.ย.-ธ.ค. ซึ่งระหว่างทางก็จะมีการฟ้องศาลฯ โดยศาลฯน่าจะใช้เวลาประมาณ 2-4 สัปดาห์ จะรู้ว่าคุ้มครองหรือไม่คุ้มครอง ดังนั้นประเด็นของศาลฯจะเสร็จก่อนการเริ่มซื้อหุ้น

ทั้งนี้ หากศาลฯไม่คุ้มครอง การทำเทนเดอร์หุ้นจะเกิดขึ้นและมีจัดประชุมร่วมกันระหว่าง TRUE และ DTAC โดยมีกระบวนการแลกเปลี่ยนหุ้นเป็นบริษัทใหม่ ซึ่งอาจใช้เวลาสักระยะ แต่ดูแนวโน้มแล้วคาดว่าน่าจะเสร็จประมาณต้นปี 2566

โดยคาดว่าราคาเสนอซื้อของ DTAC อยู่ที่ 47.76 บาท และ TRUE อยู่ที่ 5.09 บาท โดยในช่วงกระบวนการควบรวมคาดว่าราคาหุ้นทั้งสองบริษัทจะวิ่งขึ้นเกินราคาเทนเดอร์ ทำให้ราคาเทนเดอร์จะเปลี่ยนจากแนวต้านมาเป็นแนวรับ และหุ้นจะวิ่งขึ้นต่อจากนี้หรือไม่ขึ้นอยู่ที่ 3 ปัจจัยคือ

1.การฟ้องร้องที่จะเกิดขึ้น ใครฟ้อง ถ้าไม่ใช่พรรคเพื่อไทย (มีโอกาสเป็นรัฐบาลสมัยหน้า) หรือเอไอเอส (สะท้อนผ่านกัลฟ์ฯเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่) คงไม่มีนัย 2.ขึ้นอยู่กับคำตัดสินของศาลฯ และ 3.ขึ้นอยู่กับการประกาศมูลค่าของ synergy value

“เราคงมุมมองเชิงบวกต่อการควบรวมของทั้งสองบริษัทจากการสร้างมูลค่าเพิ่มผ่านการลดต้นทุนและเพิ่มรายได้ เนื่องจากการควบรวมทำให้จำนวนผู้เล่นลดลง และมาตรการเยียวยาที่ออกมาไม่ได้เข้มข้นเกินไป อยู่ในวิสัยที่ทำได้ โดยหลัก ๆ คือ ควบคุมเรื่องราคา, คุณภาพโครงข่าย, ผู้ประกอบการรายใหม่ เช่น MVNO เข้ามาในตลาดได้โดยง่าย, บังคับให้มีนวัตกรรม เป็นต้น ถือว่าไม่ได้ทำลายมูลค่าของการควบรวม

โดยประเด็นควบรวมจริง ๆ มองถึง 4 ประเด็นสำคัญคือ 1.รายได้จะเพิ่มเท่าไร 2.ค่าใช้จ่ายจะลดเท่าไร 3.เงินลงทุนจะลดเท่าไร และ 4.ตลาดจะให้มูลค่าของหุ้นกลุ่มนี้เพิ่มขึ้นเท่าไร”

เร่งปฏิกิริยา “AIS-3BB”

ประเมินราคาเป้าหมายหุ้น DTAC ที่รวมมูลค่าเพิ่มแล้วจะอยู่ที่ 58.43 บาท และ TRUE อยู่ที่ 6.28 บาท แนะนำซื้อทั้ง 2 บริษัท แต่ชอบ DTAC มากกว่า จังหวะนี้ถ้าคนไม่มีหุ้นเลยแนะนำซื้อ DTAC จังหวะราคาต่ำกว่าราคาเทนเดอร์ แต่ถ้าราคาทั้ง 2 บริษัทวิ่งทะลุราคาเทนเดอร์ไป 5% ไม่จำเป็นต้องตาม ให้รอ เพราะเชื่อว่ายังมีข่าวร้ายที่รออยู่ข้างหน้า

ส่วนคนที่ถือหุ้น TRUE ตั้งแต่ราคา 4 บาท และ DTAC ราคา 40 บาทตามคำแนะนำ ซึ่งบวกอยู่กว่า 10 บาทนั้น ต้องหาจังหวะขายออกเพื่อรอเก็งกำไรรอบใหม่ คาดการณ์กำไรสุทธิ DTAC ปี’65 จะอยู่ที่ 3,000 ล้านบาท และ TRUE ขาดทุนประมาณ 4,000 ล้านบาท

“เนื่องจากเป็น event play ดังนั้นนักลงทุนควรจะเล่นรอบมากกว่าซื้อและถือ และดีลควบรวม TRUE และ DTAC สำเร็จ จะเป็นตัวปฏิกิริยาเร่งให้ ADVANC ตัดสินใจเข้าซื้อกิจการ 3BB และ JASIF แม้ว่าจะไม่ได้รับส่วนลดค่าเช่า

ดยมี 3 ปัจจัยคือ 1.ตัวมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ของโครงการยังเป็นบวกอยู่ 2.กัลฟ์เป็นเจ้าของไม่ใช่ Singtel 3.เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน ดังนั้นถ้าเป็นไปในแนวทางนี้หุ้น JAS และ JASIF ที่ลงมาก่อนหน้านั้นจะเด้งแรง”

นายพิสุทธิ์กล่าวต่อว่า โดยฐานลูกค้าภายหลังการควบรวมบริษัทใหม่จะมีอยู่จำนวน 50 ล้านคน เดิมฐานลูกค้า TRUE อยู่ที่ 30 ล้านคน และ DTAC มีอยู่ 20 ล้านคน ในขณะที่ฐานลูกค้า ADVANC มีจำนวน 40 ล้านคน ทำให้จะขึ้นเป็นเบอร์ 1 ทันที ทั้งในแง่ของฐานลูกค้าและรายได้

แต่ในเชิงของกำไรยังต่ำกว่าเอไอเอส 3 เท่า ประเมินว่ากำไรของบริษัทใหม่จะอยู่ประมาณปีละ 10,000 ล้านบาท ในขณะที่กำไรเอไอเอสอยู่ที่ 30,000 ล้านบาท ซึ่งกว่าจะบันทึกกำไรในงบการเงินต้องผ่านกระบวนการควบรวมกิจการแล้วเสร็จ ซึ่งคาดว่าน่าจะใช้เวลา 1-2 ปี กว่าจะเริ่มเห็นกำไร

ต้องดูยุทธศาสตร์การควบรวม

นายบวรนันท์ ทองกัลยา นายกสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย (PMAT) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า “ถ้าทั้งทรู-ดีแทคมีพนักงานในตำแหน่งที่มีความซ้ำซ้อนกันค่อนข้างมาก คงต้องมีการปรับย้ายตำแหน่งงานนั้น ๆ อย่างแน่นอน แต่ทั้งนั้นคงต้องมาดูผลการดำเนินการของธุรกิจ (business performance) ด้วยว่าผู้บริหารจะให้ความสำคัญต่อการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ความสำเร็จอย่างไร และเมื่อไหร่”

“ผมจึงมองว่าในระยะสั้น ปรากฏการณ์ของการสับเปลี่ยนกำลังคนยังไม่เกิดขึ้น คงต้องรอให้เกมธุรกิจผ่านไปเสียก่อน แต่ระยะยาวภายใน 1-2 ปี คงเป็นเรื่องของ HR ของทั้ง 2 บริษัทเพื่อจะมาตรวจสอบดูว่า manpower utilization จะไปตอบสนองต่อยุทธศาสตร์ทางธุรกิจในระยะยาวอย่างไร ตรงนี้เป็นเรื่องที่ต้องติดตามต่อไป เพราะทุกครั้งที่เกิดการควบรวมกิจการ การสื่อสารภายในองค์กรเป็นสิ่งสำคัญมาก กรณีนี้ก็เช่นกัน ต้องสื่อสารให้ดี ไม่เช่นนั้นพนักงานจะเกิดความระส่ำในที่สุด”

ปรับโครงสร้างบริษัท

แหล่งข่าวจาก บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ทั้งดีแทคและทรูอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างบริษัท โดยจะมีการรวมทีมงานในด้านต่าง ๆ เข้าด้วยกัน เพื่อให้เข้ามาอยู่ภายใต้บริษัทที่จะตั้งขึ้นใหม่ ซึ่งที่ผ่านมาได้ดำเนินการคืบหน้าไปค่อนข้างมากแล้ว

และต้องยอมรับว่าการรวมกันจะมีบางส่วนงานที่ซ้ำซ้อน หรือมีจำนวนคนมากไปก็จะต้องมีการปรับให้เหมาะสม โดยปัจจุบันดีแทคมีพนักงานราว 4,000 คน ขณะที่กลุ่มทรูมีราว 1.6 หมื่นคน เมื่อรวมกันก็จะเกือบ 20,000 คน ขณะที่จำนวนพนักงานที่เหมาะสมน่าจะลดลง 20-30% แต่โดยนโยบายจะไม่มีการเลย์ออฟ

แหล่งข่าวในธุรกิจโทรคมนาคมกล่าวด้วยว่า เมื่อทรูควบรวมกับดีแทคจะทำให้กลายเป็นผู้ให้บริการที่มีฐานลูกค้ามากเป็นอันดับ 1 ขณะที่เอไอเอสที่เคยเป็นเบอร์ 1 ขยับไปเป็นเบอร์ 2 แต่ทั้งเอไอเอสและทรูดีแทคน่าจะเข้าข่ายการเป็นบริษัทที่มีอำนาจเหนือตลาดทั้งคู่ ซึ่ง กสทช.จะต้องมีการดำเนินการเพื่อกำหนดมาตรการรองรับต่อไป

“ก้าวไกล-สอบ.” เดินหน้าฟ้อง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภาคประชาชน นำโดย “สภาองค์กรของผู้บริโภค” (สอบ.) ได้แสดงจุดยืนในการคัดค้านการควบรวมดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง โดยนางสาวสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการ สอบ. กล่าวว่า จากรายงานทั้งในและนอกประเทศ ชี้ตรงกันว่าจะส่งผลกระทบทางด้านราคา ผู้บริโภคแบกรับภาระ ส่งผลต่อรากหญ้าที่มีรายได้น้อย รวมถึงผลกระทบด้านคุณภาพสัญญาณที่ส่งถึงคนที่อยู่ห่างไกล ทั้งกระทบต่อจีดีพีประเทศ กสทช.จึงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากไม่อนุญาตให้ควบรวม

โดยหลังจากคณะกรรมการ กสทช.อนุญาตการควบรวม ทาง สอบ.ระบุว่าเตรียมขอให้ศาลปกครองไต่สวนฉุกเฉิน และมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษา กรณี กสทช.อนุญาตการควบรวมทรู-ดีแทค พร้อมร้องคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เหตุกรรมการ กสทช. “ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ” ในการพิจารณาการควบรวมกิจการประเภทเดียวกันในครั้งนี้ โดยเฉพาะประธาน กสทช.ที่มาจากด้านการคุ้มครองผู้บริโภค

และว่าเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ว่า กสทช.ไม่มีอำนาจ เนื่องจากประธานได้ส่งไปให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความ และได้รับการยืนยันมาแล้วว่าเป็นอำนาจของ กสทช. เพราะฉะนั้นสภาองค์กรของผู้บริโภคไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากเดินหน้าฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อให้คุ้มครองฉุกเฉิน เพื่อยับยั้งการควบรวมในครั้งนี้ นอกจากนั้นก็จะเดินหน้าร้องต่อ ป.ป.ช. เพื่อดำเนินการกับ กสทช. ที่อนุญาตให้ควบรวมในครั้งนี้ด้วย

ด้านนางสาวศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคก้าวไกล กล่าวว่า รู้สึกผิดหวังเป็นอย่างยิ่ง ต่อผลกระทบที่จะตามมากับประชาชน และเศรษฐกิจในภาพรวม แม้จะมีเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะออกมา แต่ไม่ได้ช่วยกู้คืนสภาพการแข่งขันให้เหมือนกับการมีผู้ให้บริการ 3 รายได้ และมาตรการต่าง ๆ ไม่ได้สร้างแรงจูงใจมากพอที่จะมีผู้เล่นรายใหม่เข้าสู่ตลาด นับว่าเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจและประชาชน

“เมื่อ กสทช.ปฏิเสธอำนาจของตัวเองตามรัฐธรรมนูญ พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียง และ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ที่จะทำหน้าที่ปกป้องคุ้มครองผลประโยชน์ของผู้บริโภค และป้องกันการผูกขาด เราจำเป็นต้องยื่นฟ้อง กสทช. ฐานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบต่อ ป.ป.ช.ต่อไป”