ควบรวมทรู ดีแทค: เปิด 6 เหตุผล ศุภัช กสทช. โหวตค้านดีลควบรวม

ศุภัช ศุภชลาศัย กรรมการ กสทช. สรุป 6 เหตุผล ไม่อนุญาตควบรวม ทรู และดีแทค ชี้การเหลือผู้ประกอบการ 2 รายในตลาด และเงื่อนไขเฉพาะ ไม่สามารถป้องกันผลกระทบจากการผูกขาดที่เพิ่มขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพได้

วันที่ 21 ตุลาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สื่อมวลชนหลายสำนัก มีการเผยแพร่เอกสารชี้แจงประกอบการลงมติกรณีการควบรวมกิจการทรูและดีแทค ของ รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย กรรมการ กสทช. ด้านเศรษฐศาสตร์ ความยาวรวม 34 หน้า ซึ่งเปิดเผยทั้งข้อวิเคราะห์ทางกฎหมาย ความเห็นทางเศรษฐศาสตร์ และข้อกังวลต่าง ๆ ในการควบรวมกิจการระหว่าง ทรู และ ดีแทค

ขณะที่ มติชนรายงานว่า รศ.ดร.ศุภัช ศุภชลาศัย กรรมการ กสทช. ได้สรุปประเด็นข้อวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ และความเห็นทางเศรษฐศาสตร์ เรื่องการควบรวมกิจการทรูและดีแทค ไว้ 6 ประเด็น ดังนี้

1.ในทางกฎหมาย กสทช.มีอำนาจในการพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตในการรวมธุรกิจ ตามมาตรา 24 ของ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ข้อ 9 ของประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2561 ประกอบกับข้อ 8 ของประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาด หรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน ในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549

2.การรวมธุรกิจระหว่าง 2 บริษัทดังกล่าว ส่งผลให้ตลาดที่เกี่ยวข้องมีค่าดัชนี Herfindahl-Hirschman Index (HHI) มากกว่า 2,500 และเพิ่มขึ้นจากเดิมมากกว่า 100 ไม่ว่าจะคำนวณมาจากส่วนแบ่งตลาด ซึ่งคิดจากจำนวนผู้ใช้บริการของผู้ให้บริการในตลาดแต่ละราย หรือส่วนแบ่งตลาดจากรายได้ของผู้ให้บริการก็ตาม

โดยผลการศึกษาซึ่งคำนวณค่า HHI จากจำนวนผู้ใช้บริการ พบว่าตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศ หลังการรวมธุรกิจ HHI เพิ่มขึ้นจาก 3,612 เป็น 4,725 หรือเพิ่มขึ้น 1,113 และตลาดบริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์เคลื่อนที่ เพิ่มขึ้นจาก 3,511 เป็น 4,745 หรือเพิ่มขึ้น 1,234

นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบต่อตลาดต้นน้ำในระดับ Infrastructure โดยตลาดบริการการใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกันสำหรับโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ หลังการรวมธุรกิจ HHI เพิ่มขึ้นจาก 3,773 เป็น 5,000 หรือเพิ่มขึ้น 1,227 ตลาดบริการขายส่งโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพิ่มขึ้นจาก 2,979 เป็น 3,393 เพิ่มขึ้น 414 และตลาดบริการข้ามโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพิ่มขึ้นจาก 3,356 เป็น 5,024 หรือเพิ่มขึ้น 1,668

3.มีความเป็นไปได้สูงที่การรวมธุรกิจจะก่อให้เกิดการร่วมมือกันทางธุรกิจที่ก่อให้เกิดอำนาจตลาดสูง
(Collusion) ซึ่งจะส่งผลต่อการแข่งขัน เนื่องจากผู้ประกอบการรายใหม่เข้าสู่ตลาดได้ยาก หรือไม่มีทาง
เป็นไปได้เลยที่ผู้ประกอบการรายใหม่จะเข้าสู่ตลาด

4. ผลกระทบจากการรวมธุรกิจที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมมีสูงมาก ซึ่งประกอบด้วย

    1. อัตราค่าบริการ (Price) มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น และทางเลือกในการรับบริการน้อยลง
    2. ประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) มีแนวโน้มลดลง และจะไม่ส่งผ่านไปสู่ผู้บริโภค
    3. ผู้รวมธุรกิจไม่มีแรงจูงใจในการลงทุนพัฒนาเทคโนโลยี หรือถ้ามีก็ล่าช้า
    4. คุณภาพการให้บริการ (Quality of Services) ของผู้ประกอบการในตลาดอาจลดลง
    5. อุปสรรคการเข้าสู่ตลาด (Barriers to Entry) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้ผู้ประกอบการรายใหม่ไม่สามารถเข้ามาแข่งขันได้
    6. ผู้รวมธุรกิจอาจลงทุนต่ำกว่าที่ควรจะเป็น เพื่อให้เกิดบริการทั่วถึง เนื่องจากเมื่อผู้ให้บริการขาดแรงจูงใจในการแข่งขันแล้ว จึงทำให้ไม่เข้าไปลงทุนในพื้นที่ที่ให้ผลตอบแทนการลงทุนต่ำ หรือลงทุนในพื้นที่เหล่านั้นน้อยลง ซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้ย่อมทำให้ “ความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการโทรคมนาคม” เพิ่มสูงขึ้น จนนำไปสู่ความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล (Digital Divide)
    7. ผลกระทบต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และต่อ GDP ที่ทำให้ GDP มีแนวโน้มลดลง และอัตราเงินเฟ้อ (Inflation) เพิ่มสูงขึ้น เมื่อเทียบกับกรณีที่ไม่มีการรวมธุรกิจ

5. ดังนั้น การรวมธุรกิจระหว่างทรู และ ดีแทค เป็นการดำเนินการที่มีความเสี่ยงสูงที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสาธารณชน และสังคมโดยรวม

ทั้งนี้ ประโยชน์จากการรวมธุรกิจยังขาดความชัดเจน ว่าประชาชนจะได้รับประโยชน์มากน้อยเพียงใดจากการรวมธุรกิจในครั้งนี้ ซึ่งในกระบวนการของการพิจารณาก็ได้พยายามประเมินผลดีของการรวมธุรกิจผ่านวิธีการต่าง ๆ แต่ผลยังไม่ปรากฏเป็นที่แน่ชัดที่มาบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดต่อสาธารณชน เศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาประเทศได้

6. จากการศึกษาและประสบการณ์ในอดีตของประเทศต่าง ๆ ที่เกิดการรวมธุรกิจและเหลือผู้ประกอบการ 2 รายในตลาด พบว่าเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะ (Remedies) ไม่สามารถป้องกันหรือลดทอนผลกระทบอันเกิดจากระดับการผูกขาดที่เพิ่มขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพได้

ดังนั้น จากเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น และเพื่อไม่ให้ประเทศต้องเผชิญกับความเสี่ยงดังกล่าว ผมจึงไม่เห็นด้วยในการพิจารณาอนุญาตการรวมธุรกิจ ระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)

ภาพจาก มติชน
ภาพจาก มติชน
ภาพจาก มติชน

ก่อนหน้านี้ ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ ได้เปิดเผยเหตุผลการมีมติ ไม่อนุญาตให้ทั้ง 2 บริษัท รวมกิจการกัน โดยให้เหตุผลว่า การรวมธุรกิจมีโอกาสนำไปสู่การผูกขาดและกีดกันการแข่งขัน และอาจส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่ไม่เท่าเทียมกันกับผู้ประกอบการรายอื่นด้วย