นักวิชาการสื่อแถลงค้าน กสทช. จ่ายเงินถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก

ค้าน กสทช. เคาะซื้อบอลโลก

นักวิชาการสื่อออกแถลงการณ์ ชี้ กสทช. นำเงินกองทุน กทปส. ซื้อบอลโลก ขัดวัตถุประสงค์กองทุน หวั่นกระทบวิจัยและพัฒนาโทรคมนาคม จี้ชี้แจงสถานะกองทุนและพิจารณาวาระโปร่งใสเป็นธรรม

วันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 รศ.ดร.ปรีดา อัครจันทโชติ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงการณ์คัดค้านการนำเงินกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ไปใช้สนับสนุนบอลโลก จากการขออนุเคราะห์ของการกีฬาแห่งประเทศไทย

โดยให้เหตุผลมุ่งเน้นว่า การใช้เงินดังกล่าวอาจขัดวัตถุประสงค์กองทุน พร้อมจี้ให้คณะกรรมการ กสทช. และ กรรมการ กทปส. เปิดเผยสถานะกองทุนและพิจารณาวาระดังกล่าวอย่างโปร่งใสเป็นธรรม แถลงการณ์ดังกล่าวแบ่งเป็น 6 ประเด็น ได้แก่

1.หากพิจารณาอนุมัติเงินสนับสนุนการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 นั่นหมายถึงการนำเงินจากบัญชีของกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึง ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรสื่อสาร การวิจัย และพัฒนาด้านกิจการกระจาย เสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ การเข้าถึงบริการกระจายเสียง บริการโทรทัศน์ บริการโทรคมนาคมสำหรับผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส ผู้มีความต้องการหลากหลายในสังคม การพัฒนาบุคลากรและองค์กรวิชาชีพ ตลอดจนสนับสนุนกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์

2.แหล่งของเงินที่ กสทช.จะนำมาใช้ในกรณีนี้ได้ คือเงินจากบัญชีที่มีวัตถุประสงค์เกี่ยวข้องกับกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ นั่นคือ บัญชีที่ 1 และบัญชีที่ 2 ของกองทุน กทปส.

3.บัญชีที่ 1 ของกองทุน กทปส. เป็นบัญชีหลักของกองทุน กทปส. ที่ต้องสนองตอบวัตถุประสงค์ของกองทุนทุกข้อ ส่วนบัญชีที่ 2 เป็นเงินสำหรับแผนงาน USO (Universal Service Obligation) มีวัตถุประสงค์หลักคือการสนับสนุนให้ประชาชน โดยเฉพาะผู้พิการ ผู้ด้อยโอกาส และผู้มีความต้องการหลากหลายในสังคมได้เข้าถึงบริการ ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์อย่างทั่วถึงและเสมอภาค

4.ที่ผ่านมา กสทช.เคยให้การสนับสนุนเงินจากกองทุน กทปส. จำนวน 240 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนให้การกีฬาแห่งประเทศไทยซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดรายการกีฬาโอลิมปิก จำนวน 5 รายการ ได้แก่ การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดู ร้อน 2020 ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น การแข่งขันโอลิมปิกเยาวชนฤดูหนาว 2020 ณ เมืองโลซาน สมาพันธ์รัฐสวิส การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว 2022 ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน การแข่งขันโอลิมปิกเยาวชน ณ กรุงดาการ์ สาธารณรัฐเซเนกัล และเอเชี่ยนเกมส์ 2022 ณ เมืองหางโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยให้เหตุผลและหลักการสนับสนุนว่าเป็นรายการที่มีความหลากหลายของชนิดกีฬา และมีหลายชนิดกีฬาที่คนไทยเข้าร่วมแข่งขัน เข้าข่ายตามวัตถุประสงค์ของกองทุน กทปส. บัญชีที่ 1 และ 2 ได้

5.กรณีการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ที่แม้จะมีลักษณะที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมกระจายเสียง และโทรทัศน์ ที่มุ่งหมายให้ประชาชนคนไทยได้รับชมรายการกีฬาฟุตบอล แต่ก็เป็นประเภทกีฬาเฉพาะกลุ่มที่มีคนไทยให้ความสนใจจำนวนกลุ่มหนึ่ง และคนไทยไม่ได้มีส่วนร่วมแข่งขันในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายครั้งนี้ด้วย จึงมิได้มีลักษณะที่เข้าข่ายตามวัตถุประสงค์ของกองทุน กทปส. บัญชีที่ 1 และ 2 ที่จะต้องสร้างและพัฒนาทรัพยากร สื่อสารให้เกิดประโยชน์สาธารณะ สร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์อย่างทั่วถึงของประชาชนคนไทยในทุกกลุ่ม นับเป็นการสูญเสียเงินจำนวนมากที่ควรใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะไปกับการถ่ายทอดสดเฉพาะฟุตบอลโลก 2022 ในระยะเวลา 1 เดือนเท่านั้น

6.ในเว็บไซต์ของกองทุน กทปส. ได้เผยแพร่มติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุน กทปส. ครั้งที่ 4/2555 เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2565 (ซึ่งเป็นการประชุมครั้งแรกหลังมีการแต่งตั้งคณะกรรมการ กสทช.ชุดใหม่ และหลังจากนั้นในเว็บไซต์ไม่ได้มีการเผยแพร่มติที่ประชุมอีก) ได้ระบุสถานะเงินคงเหลือของกองทุน กทปส. บัญชีที่ 1 (รวมเงินประมูลคลื่นทีวีดิจิทัลและเงินทั่วไป) คงเหลือ 3,435.07 ล้านบาท ส่วนบัญชีที่ 2 คงเหลือ 504.27 ล้านบาท

ในขณะที่ข้อมูลการรายงานข่าวของสำนักข่าวอิศรา เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2555 ระบุข้อมูลจากแหล่งข่าวใน กสทช. ว่าปัจจุบันสถานะเงินคงเหลือของกองทุน กทปส.ที่สามารถนำมาใช้กับกรณีนี้ได้คงเหลือประมาณ 2,000 กว่าล้านบาทเท่านั้น ซึ่งเห็นได้ว่างบประมาณในกองทุน กทปส.ในส่วนที่เกี่ยวกับกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ที่คงเหลืออยู่ ไม่ใช่งบประมาณที่มีอยู่มาก ในขณะที่ปัจจุบันยังมีประชาชนจำนวนมาก

โดยเฉพาะเด็ก ผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส และผู้มีความต้องการหลากหลายในสังคมที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการกระจายเสียงและบริการโทรทัศน์ได้ ตลอดจนปัญหาการขาดแคลนจำนวนและคุณภาพของสื่อกระจายเสียงและสื่อโทรทัศน์สำหรับ เด็ก ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องมีการลงทุนเพื่อสร้างความมั่นคงของสังคมอย่างแท้จริง

ดังนั้น การพิจารณานำเงินจากกองทุน กทปส. ซึ่งเป็นเงินส่วนกลางเพื่อประโยชน์สาธารณะไปใช้สนับสนุนการ ถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย จึงขัดต่อวัตถุประสงค์ของกองทุน กทปส. และมีโอกาสอย่างยิ่งที่จะกระทบ ต่อสภาพคล่องของเงินทุน ส่งผลกระทบสำคัญต่อโอกาสในการเข้าถึงบริการของกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมของคนไทยในวงกว้าง เกิดการหยุดชะงักของการวิจัยและพัฒนาทรัพยากรสื่อสารของประเทศ และจะส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องต่อการขาดโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจ-สังคมของคนไทยทั้งประเทศในภาพรวมได้

ดังนั้น คณาจารย์จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตลอดจนนักวิชาการด้านสื่อตามรายชื่อที่ได้ลงนามตามประกาศนี้จึงขอคัดค้านการนำเงินจากกองทุน กทปส.ไปใช้สนับสนุนการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 และเสนอให้การกีฬาแห่งประเทศไทย พิจารณาหาแนวทางความร่วมมืออื่นที่ไม่กระทบต่อผลประโยชน์สาธารณะ

พร้อมทั้งเรียกร้องให้คณะกรรมการ กสทช. และ กทปส.ชี้แจงถึงสถานะทางการเงินล่าสุดของกองทุน กทปส. รวมทั้งพิจารณาวาระนี้อย่างโปร่งใส เป็นธรรม คำนึงถึงการคุ้มครองผลประโยชน์สาธารณะ เพื่อหาทางออกของปัญหานี้โดยไม่กระทบต่อสาธารณะ และเป็นตัวแทนในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการเข้าถึงบริการกระจายเสียงและบริการโทรทัศน์ของภาคประชาชนวงกว้างเป็นสำคัญ

ผู้ร่วมลงนามแถลงการณ์

  • คณาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • คณาจารย์คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • ผศ.ดร.นิษฐา หรุ่นเกษม มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร
  • ผศ.ดร.เสริมศิริ นิลดำ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย
  • ผศ.นันทสิทธิ์ กิตติวรากูล คณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
  • ดร.มานะ ตรีรยาภิวัฒน์ คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
  • รศ.มาลีย์ บุญศิริพันธ์ นักวิชาการสื่อสารมวลชนอิสระ
  • ผศ.จิรภัทร กิตติวรากูล คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ
  • อ.นรากร อมรฉัตร วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
  • วีรวัฒน์ อำพันสุข วิทยาลัยนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
  • วรรณรัตน์ นาที มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
  • ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ นักวิชาการอิสระด้านสื่อและการสื่อสาร
  • รศ.ดร.มนวิภา วงรุจิระ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
  • ศักดิ์ชัย เอี่ยมกระสินธุ์ มหาวิทยาลัยมหิดล
  • ผศ.ดร.ณรงค์ ขำวิจิตร์ อดีตอาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
  • ผศ.ดร.อดิพล เอื้อจรัสพันธุ์ วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • โสภิต หวังวิวัฒนา ไทยพีบีเอส
  • ผศ.คอลิด มิดำ คณะดนตรีและการแสดง มหาวิทยาลัยบูรพา
  • ไพบูลย์ โสภณสุวภาพ คณะดนตรีและการแสดง มหาวิทยาลัยบูรพา
  • พระสมชาย ชวลิตเนตร โรงเรียนมัธยมวัดนายโรง
  • พระพงศ์วรพัฒน์ จันโทศรี วัดไตรภูมิ
  • นราวิชญ์ พรหมณา ช่างภาพอิสระ
  • นางสาวกฤติยา วรศรี โรงเรียนบุญวาทย์วิทยาลัย
  • ดวงแข บัวประโคน บจก.แมวขยันดี
  • โชตะ ฟูจิตะ โรงพยาบาลห้วยเม็ก