Must Have และ Must Carry กฎแสลงของคนทำทีวี-เจ้าของลิขสิทธิ์

Must Have Must Carry กสทช

กฎระเบียบ มัสต์แฮฟ (Must Have) และมัสต์แครี่ (Must Carry) ของ กสทช. เมื่อคนดูถูกใจ ได้ดูกีฬาระดับโลกฟรี แต่เป็นของแสลงสำหรับคนซื้อคอนเทนต์

“รายการกีฬา” อีกหนึ่งความบันเทิงของคนไทยที่หาชมได้ทางโทรทัศน์ และไม่ได้เป็นแค่เพียงความบันเทิงที่ช่วยสร้างความสุข สร้างความผ่อนคลายหลังเจอเรื่องหนัก ๆ ตลอดทั้งวันแล้ว ยังเป็นสิ่งเชื่อมสัมพันธภาพ พาทุก ๆ คนที่ชื่นชอบในกีฬาหรือทีมเดียวกันให้รู้จักกัน

แต่ในทางธุรกิจ การถ่ายทอดสดกีฬา 1 รายการ มีค่าใช้จ่ายเยอะสิ่งที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดกีฬา ที่บางชนิดกีฬามีมูลค่าสูงถึงหลักพันล้านบาท

ย้อนกลับไปเมื่อปี 2555-2556 สำนักงาน กสทช. ได้ออกหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการออกอากาศโทรทัศน์ภาคพื้นดิน 2 ฉบับ คือ หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สําคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะทางฟรีทีวี (Must Have) และหลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป (Must Carry) ซึ่งทั้ง 2 Must ช่วยให้คนไทยสามารถเข้าถึงเนื้อหารายการโทรทัศน์ได้อย่างเท่าเทียม

แต่กฎดังกล่าว ก็กลายเป็น “ของแสลง” สำหรับผู้ค้าคอนเทนต์ และผู้ถือลิขสิทธิ์กีฬาค่อนข้างมาก ทั้งการลงทุนซื้อลิขสิทธิ์กีฬาด้วยเม็ดเงินที่สูงขึ้น เพื่อรองรับการออกอากาศหลากหลายช่องทาง และความเสี่ยงต่อการละเมิดลิขสิทธิ์รายการกีฬาที่อาจเกิดขึ้นได้ด้วย

“ประชาชาติธุรกิจ” ชวนทำความเข้าใจ Must Have และ Must Carry อีกครั้งว่า กฎดังกล่าวคืออะไร ?

Must Have กีฬาสำคัญ ต้องถ่าย

ย้อนไปเมื่อปี 2555 กสทช.ได้ออกประกาศ เรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สําคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2555 หรือที่คนในวงการโทรทัศน์เรียกว่า “Must Have

กฎดังกล่าวมีขึ้นเเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการโทรทัศน์ที่มีคุณภาพอย่างเป็นธรรม และเพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนด้อยโอกาสให้เข้าถึงหรือรับรู้และใช้ประโยชน์จากรายการของกิจการโทรทัศน์ได้อย่างเสมอภาคกับบุคคลทั่วไป

โดยให้ 7 รายการถ่ายทอดสดกีฬาสำคัญ ถือเป็นรายการโทรทัศน์ที่สามารถให้บริการแก่ประชาชนได้ภายใต้การให้บริการฟรีทีวีเท่านั้น ดังนี้

  • การแข่งขันฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย (FIFA World Cup Final)
  • การแข่งขันกีฬาซีเกมส์ (SEA Games)
  • การแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ (Asian Games)
  • การแข่งขันอาเซียนพาราเกมส์ (ASEAN Para Games)
  • การแข่งขันเอเชียนพาราเกมส์ (Asian Para Games)
  • การแข่งขันกีฬาโอลิมปิก (Olympic Games)
  • การแข่งขันกีฬาพาราลิมปิก (Paralympic Games)

Must Carry ทุกช่อง ต้องออนทุกแพลตฟอร์ม

นอกจากกฎ Must Have แล้ว กสทช.ยังได้ออกหลักเกณฑ์การเผยแพร่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป หรือที่เรียกว่า “Must Carry

กฎดังกล่าวเป็นการบังคับให้แพลตฟอร์มบริการโทรทัศน์ทุกรายที่ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช. นำช่องฟรีทีวี ไปออกอากาศในทุกช่องทาง ทั้งทางเสาอากาศ จานดาวเทียม เคเบิลทีวี และช่องทางออนไลน์ โดยต้องออกอากาศต่อเนื่องตามผังรายการของแต่ละสถานี ไม่มีจอดำเกิดขึ้นในบางรายการ

นอกจาก 2 Must ดังกล่าวของ กสทช.แล้ว ยังมีการออก หลักเกณฑ์การแพร่เสียงแพร่ภาพรายการแข่งขันกีฬาที่สําคัญ พ.ศ. 2556 โดยกำหนดให้ผู้ได้รับสิทธิการถ่ายทอดสด 7 กีฬาสำคัญ ดังนี้

  • การแข่งขันกีฬามหาวิทยาลัยโลก
  • การแข่งขันคอนเฟเดอเรชันส์คัพ
  • การแข่งขันเอเชียนคัพรอบสุดท้าย และรอบที่มีทีมชาติไทยเข้าร่วมแข่งขัน
  • การแข่งขันฟุตซอลชิงแชมป์โลก และฟุตซอลชิงแชมป์เอเชีย
  • การแข่งขันเซปักตะกร้อชิงแชมป์โลก
  • การแข่งขันวอลเลย์บอลระดับชิงแชมป์โลก
  • การแข่งขันเทนนิสเดวิสคัพ

ต้องเสนอให้ฟรีทีวีเข้าเจรจาเพื่อออกอากาศด้วย โดยจะต้องไม่มีลักษณะของการผูกขาด หรือจำกัดการแข่งขัน และค่าตอบแทนต้องสมเหตุสมผล ไม่สูงเกินไป และถ่ายทอดการแข่งขันในนัดที่คนไทยแข่งขันด้วย

Must Have-Must Carry ทำงานอย่างไร

กฎ Must Have และ Must Carry มีผลบังคับใช้กับกิจการโทรทัศน์และรายการที่เป็นไปตามเงื่อนไขที่ กสทช. กำหนด

ยกตัวอย่าง การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก รอบสุดท้าย ซึ่งเป็นรายการถ่ายทอดสด ตามกฎ Must Have คือ ต้องมีการถ่ายทอดสดทางฟรีทีวี ไม่สามารถเลือกถ่ายทอดได้เฉพาะทางทีวีดาวเทียม ทีวีบอกรับสมาชิก (Pay TV)

ขณะเดียวกัน การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลกทางฟรีทีวี ต้องถ่ายทอดสดในทุกช่องทางการรับชม ทั้งเสาโทรทัศน์ (หนวดกุ้ง-ก้างปลา) ทีวีดาวเทียม เคเบิลทีวี และช่องทางทีวีออนไลน์ (Over-The-Top) ที่ได้รับใบอนุญาตโครงข่ายจาก กสทช. ตามกฎ Must Carry โดยไม่มีการจอดำ หรือตัดสัญญาณออกอากาศเกิดขึ้น

2 Must ทำเอกชน-คนถือลิขสิทธิ์ หัวจะปวด

แม้กฎ Must Have และ Must Carry จะช่วยให้คนไทยสามารถเข้าถึงบริการฟรีทีวีได้อย่างเท่าเทียมก็จริง แต่เรื่องดังกล่าวก็สร้างความปวดหัวให้ผู้ถือลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดกีฬามาแล้ว

ย้อนไปเมื่อปี 2557 อาร์เอส (RS) ผู้ได้รับสิทธิการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2014 รอบสุดท้าย ยื่นฟ้อง กสทช. เพราะพบความไม่เป็นธรรมในการบังคับให้ผู้ถือลิขสิทธิ์ปฏิบัติตามกฎ Must Have

สุดท้าย เรื่องราวจบด้วยการที่ ศาลมีคำพิพากษา ไม่ต้องถ่ายทอดสดครบทุกนัด เนื่องจากเป็นการได้สิทธิการถ่ายทอดสด ก่อนมีการบังคับใช้กฎ Must Have

หลังจากกรณีบอลโลกที่อาร์เอสถือลิขสิทธิ์แล้ว ฟุตบอลโลกใน 2 ครั้งที่ผ่านมา คือปี 2561 และ 2565 ไม่มีธุรกิจคอนเทนต์เจ้าไหนเข้าไปติดต่อซื้อเลย โดยฟุตบอลโลก 2018 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ติดต่อให้ภาคเอกชน 9 ราย ร่วมลงขันซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด มูลค่าสูงถึง 1,600 ล้านบาท และมีทรูวิชั่นส์ เป็นผู้ถือลิขสิทธิ์หลักในประเทศไทย และออกสิทธิผู้ถือลิขสิทธิ์ย่อยให้กับช่องทีวีดิจิทัลที่ถ่ายทอดสดต่อ

ส่วนฟุตบอลโลก 2022 ซึ่งเหลือเวลาอีกเพียงแค่ประมาณ 16 วัน ก่อนเปิดสนาม (นับจากวันที่ 4 พฤศจิกายน 2565) ยังไม่มีเอกชนเจ้าไหนเข้าไปลงทุนซื้อลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดเลย แม้แต่เจ้าเดียว และอาจกลายเป็นว่า กสทช.จะต้องลงทุนซื้อลิขสิทธิ์มาถ่ายทอดสดเอง

นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. เปิดเผยถึงกฎ Must Have และ Must Carry ไว้ว่า จะต้องทบทวนแก้ไขกฎดังกล่าว เพื่อให้ทุกฝ่ายได้ทำงานง่ายขึ้น ซึ่งคงจะมีการพูดคุยกันหลังจบฟุตบอลโลกครั้งนี้ (ฟุตบอลโลก 2022) เพราะจะมาให้ กสทช. เป็นผู้ออกเงินทุกครั้งคงไม่ได้

นายไตรรัตน์ยังกล่าวอีกว่า การได้ดูฟรีมันดีที่สุด ก็อยากให้ได้ดูฟรีกัน แต่ก็คงต้องปรับกฎให้เอกชนสามารถเข้ามาลงทุนได้ก่อน ส่วนรัฐจะมาช่วยสนับสนุนให้ประชาชนได้ดูฟรี ก็ค่อยมาว่ากันต่อไป

จากนี้ต้องจับตาดูกันต่อว่า กฎ Must Have และ Must Carry ที่เป็นกฎสร้างความปวดหัว ปวดใจให้กับผู้ถือลิขสิทธิ์กีฬา และสถานีโทรทัศน์ จะถูกปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันของธุรกิจโทรทัศน์ไทยอย่างไร และการปรับปรุงกฎดังกล่าว จะช่วยสร้างการแข่งขันในด้านการถือลิขสิทธิ์ของภาคเอกชนให้มากขึ้นได้หรือไม่