เตรียมปลดล็อก มัสต์แฮฟ-มัสต์แครี่ เปิดช่องเอกชนลงทุนลิขสิทธิ์กีฬา

โทรทัศน์ ทีวี ดูทีวี
Photo by Piotr Cichosz on Unsplash

กสทช. เตรียมคลายล็อกกฎ “มัสต์แฮฟ”-“มัสต์แครี่” เปิดทางให้เอกชนลงทุนลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดกีฬาได้เต็มที่ขึ้น ยอมรับกฎ 2 มัสต์ ทำให้เอกชนไม่กล้าลุย

วันที่ 4 พฤศจิกายน 2565 จากกฎระเบียบของ กสทช.ที่กำหนดให้การถ่ายทอดสดกีฬา 7 ชนิดต้องให้คนไทยชมฟรีโดยไม่มีค่าใช้จ่าย (มัสต์แฮฟ-Must Have) และการถ่ายทอดสดต้องรับชมได้ในทุกช่องทาง (มัสต์แครี่-Must Carry) ทำให้กลายเป็นปัญหาของผู้ถือลิขสิทธิ์กีฬา สถานีโทรทัศน์ และบริษัทคอนเทนต์ต่าง ๆ ไม่กล้าลงทุนลิขสิทธิ์กีฬาอย่างเต็มที่

ล่าสุดผู้สื่อข่าวมติชน ได้มีโอกาสสอบถามกับนายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. ว่าอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบดังกล่าวหรือไม่

นายไตรรัตน์กล่าวว่า ด้วยทั้ง 2 กฎ Must Have และ Must Carry ทำให้เกิดปัญหาพอสมควร เพราะอย่าง Must Carry เวลาเจ้าของลิขสิทธิ์ขาย ก็ขายแยกแพลตฟอร์ม ถ้านำไปถ่ายในแพลตฟอร์มอื่นจะโดนปรับได้ ทำให้ภาคเอกชนเองไม่กล้าลงทุน

ดังนั้น คงจะต้องปรับแก้ไขเพื่อให้ทุกฝ่ายได้ทำงานกันง่ายขึ้น ซึ่งคงจะมีการพูดคุยกันหลังจบฟุตบอลโลกครั้งนี้ เพราะจะมาให้ กสทช.เป็นผู้ออกเงินทุกครั้งคงไม่ได้

รักษาการเลขาธิการ กสทช.กล่าวเพิ่มเติมว่า จริง ๆ แล้วก็มองว่าควรทำให้เหมือนต่างประเทศคือ ประชาชนต้องเสียเงินดูบางคู่เองบ้าง แต่ด้วยความที่คนไทยเป็นคนโอบอ้อมอารี หน่วยงานภาครัฐเองก็อยากให้คนไทยได้รับชมกัน จึงอยากทำออกมาให้ดีที่สุด อย่างไรก็ตาม ถ้าระเบียบที่ กสทช.ออกมามีปัญหา ก็คงต้องแก้ให้มันเหมาะสม ให้เอกชนสามารถเข้ามาลงทุน และไปหากำไรด้านอื่น ๆ มาทดแทนได้ จะทำให้มีคนกล้าลงทุน และเชื่อว่ามีคนอยากลงทุนกันเยอะ

“การได้ดูฟรีมันดีที่สุด ก็อยากให้ได้ดูฟรีกัน แต่ก็คงต้องปรับกฎให้เอกชนสามารถเข้ามาลงทุนได้ก่อน ส่วนรัฐจะมาช่วยสนับสนุนให้ประชาชนได้ดูฟรี ก็ค่อยมาว่ากันต่อไป” นายไตรรัตน์กล่าวปิดท้าย

สำหรับกฎทั้ง 2 Must (Must Have และ Must Carry) เริ่มมีการประกาศใช้โดยคณะกรรมการ กสทช. เมื่อปี 2555 ก่อนที่จะมีการเริ่มประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิทัล เมื่อปี 2556

กรณีกฎดังกล่าวเคยสร้างความขัดแย้งให้กับ กสทช. และอาร์เอส (RS) ซึ่งเป็นผู้ได้รับสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุดบอลโลก 2014 ก่อนหน้ากฎ Must Have-Must Carry จะประกาศใช้ และนำไปสู่การฟ้องร้องกับ กสทช.