ดร.สมเกียรติ: ฟุตบอลโลก กทปส. และประกาศพิลึกของ กสทช.

ดร.สมเกียรติ: ฟุตบอลโลก กทปส. และประกาศพิลึกของ กสทช.
REUTERS/Stringer

“ดร.สมเกียรติ” ประธานทีดีอาร์ไอ โพสต์ ฟุตบอลโลก กทปส. และประกาศพิลึกของ กสทช. ชี้หาก กสทช. ยอมเสี่ยงผิดกฎหมายควรเปลี่ยนชื่อ กองทุน กทปส. เป็น “กองทุนป้อมสั่ง” ให้รู้แล้วรู้รอด 

วันที่ 8 พฤศจิกายน 2565 ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) โพสต์ข้อความผ่านเพจเฟซบุ๊ก Somkiat.Tangkitvanich.page แสดงความเห็นเรื่อง ฟุตบอลโลก กทปส. และประกาศพิลึกของ กสทช. ความว่า

จนบัดนี้ ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าประเทศไทยจะถ่ายทอดฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายที่จะเริ่มในวันที่ 21 พ.ย.นี้อย่างไร และด้วยเงินจากที่ไหน แม้จะมีความเชื่อกันลึก ๆ ว่าคนไทยจะได้ดูฟุตบอลโลกแน่

มีข่าวว่า การกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) ซึ่งมีรองนายกฯ ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธานกรรมการ ได้ยื่นขอเงินทุนสนับสนุนจากกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ประมาณ 1.6 พันล้านบาท เพื่อถ่ายทอดฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย โดย กสทช.จะพิจารณากันในวันพุธที่ 9 พ.ย.นี้

ประเด็นก็คือ กองทุน กทปส. ซึ่งตั้งขึ้นโดยกฎหมาย กสทช. ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่ออุดหนุนการถ่ายทอดฟุตบอลโลกหรือกิจกรรมอะไรแบบนี้ เพราะถูกกำหนดให้ต้องใช้เงินเพื่ออุดหนุนบริการวิทยุ โทรทัศน์และโทรคมนาคมให้ทั่วถึง (เช่นขยายพื้นที่บริการ 5G ไปพื้นที่ห่างไกล หรือช่วยเหลือคนพิการให้เข้าถึงบริการได้) สนับสนุนการพัฒนากิจการวิทยุ โทรทัศน์และโทรคมนาคมในด้านต่าง ๆ

รวมทั้งการคุ้มครองผู้บริโภค การพัฒนาสื่อที่มีเนื้อหาปลอดภัย และการชดเชยผู้ถูกเรียกคืนคลื่นเพื่อให้สามารถจัดระเบียบการใช้คลื่นความถี่ได้ เป็นต้น

ถ้าถามว่า ทำไมจนบัดนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปว่าประเทศไทยจะถ่ายทอดฟุตบอลโลกอย่างไร ก็น่าจะมีสาเหตุ 2 ข้อ ข้อแรกคือ ฝ่ายไทยเองน่าจะเริ่มดำเนินการช้า เพราะหลายประเทศรวมทั้งเพื่อนบ้านของเราก็ได้ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดมาตั้งแต่ต้นปีแล้ว เช่น กัมพูชา ก็ได้สิทธิมาตั้งแต่เดือน ม.ค. ส่วนฟิลิบปินส์และอินโดนีเซียก็ได้มาตั้งแต่เดือน มี.ค. ทั้งนี้ประเทศเพื่อนบ้านของเรามีทั้งประเทศที่จะถ่ายทอดผ่านเพย์ทีวีอย่างเดียว ฟรีทีวีอย่างเดียว และที่ผสมกัน (ข้อมูลจาก Wikipedia และ FIFA)

อีกสาเหตุหนึ่งก็คือ ไม่มีสถานีโทรทัศน์ช่องไหนในไทยที่มีแรงจูงใจไปขอซื้อลิขสิทธิ์ เพราะว่า กสทช.ไปออกกฎที่เรียกว่า กฎ Must Have ที่กำหนดว่า 7 มหกรรมกีฬา เช่น โอลิมปิก เอเชียนเกมส์ ซีเกมส์ และฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ต้องถ่ายทอดทางฟรีทีวี ซึ่งทำให้เพย์ทีวีไม่อยากไปซื้อลิขสิทธิ์ เพราะซื้อมาก็ต้องให้ฟรีทีวีเอาไปถ่ายทอดต่อฟรี ส่วนฟรีทีวีก็ไม่อยากไปซื้อลิขสิทธิ์ เพราะซื้อมาก็ต้องให้เพย์ทีวีเอาไปถ่ายทอดต่อฟรี ตามอีกกฎที่เรียกว่ากฎ Must Carry

ผมเองเคยทักท้วงตั้งแต่ออกกฎทั้งสองนี้ใหม่ ๆ แล้วว่า จะทำให้มีปัญหาในต่างประเทศ เช่น ออสเตรเลียก็มีกฎในการถ่ายทอดกีฬาคล้าย ๆ กฎ Must Have ที่เรียกว่า “กฎต่อต้านไซฟ่อน” (Anti-siphoning law) ซึ่งเป็นบทบัญญัติใน Broadcasting Services Act 1992 แต่ออกแบบมาดีกว่า เลยไม่สร้างปัญหา

กฎดังกล่าวกำหนดให้การถ่ายทอดมหกรรมกีฬาตามบัญชีในกฎหมาย ต้องให้ฟรีทีวีมีสิทธิในการขอลิขสิทธิ์ถ่ายทอดก่อน แต่ถ้า 3 เดือนก่อนการแข่งขัน ฟรีทีวียังไม่ได้สิทธิในการถ่ายทอด เพย์ทีวีก็สามารถติดต่อขอสิทธิได้

รายการมหกรรมกีฬาที่กำหนดไว้ในกฎหมายของออสเตรเลีย แบ่งคร่าว ๆ ออกเป็นกลุ่มได้ดังนี้ กลุ่มแรก มหกรรมกีฬาระดับโลกที่ออสเตรเลียเข้าร่วม เช่น กีฬาโอลิมปิก และกีฬาเครือจักรภพ (Commonwealth Games)

กลุ่มที่สองคือ มหกรรมกีฬาที่ออสเตรเลียจัด เช่น ออสเตรเลียน โอเพ่น หรือมหกรรมกีฬาที่ทีมชาติออสเตรเลียร่วมแข่ง เช่น ฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก และเทนนิสเดวิสคัพ (Davis Cup) เฉพาะในกรณีที่เป็นการแข่งขันของทีมชาติออสเตรเลียเท่านั้น

กลุ่มที่สามคือ กีฬาในประเทศที่คนออสเตรเลียชื่นชอบ เช่น AFL Premiership (ออสเตรเลี่ยน รูลส์ ฟุตบอล) และ NRL Premiership (รักบี้) เป็นต้น

ที่น่าสนใจก็คือ ฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายก็อยู่ในบัญชีตามกฎหมายของออสเตรเลียด้วย ทั้งที่ไม่ชัวร์ว่าทีมชาติออสเตรเลียจะได้แข่งขันทุกครั้งหรือไม่ แต่ถ้าหากดูประวัติที่ผ่านมาก็จะพบว่าทีมชาติออสเตรเลียได้เข้าร่วมแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย 5 ครั้งหลังสุดมาโดยตลอด ไม่เคยตกรอบ

ในกรณีของไทย ไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมีกฎกำหนดให้โอลิมปิก เอเชียนเกมส์ และซีเกมส์ ตลอดจนกีฬาคนพิการที่เกี่ยวข้อง ต้องถ่ายทอดทางฟรีทีวีเพื่อให้คนไทยทุกคนได้ดูฟรี เพราะนักกีฬาทีมชาติไทยเข้าร่วมแข่งขันในกีฬาเหล่านี้มาโดยตลอด

แต่ที่แปลกก็คือ ฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายก็ต้องถ่ายทอดทางฟรีทีวีของไทยด้วย ทั้งที่ทีมชาติไทยไม่เคยไปแข่งขันแม้แต่ครั้งเดียว เพราะตกรอบคัดเลือกไปก่อนเสมอ

ถ้าหน่วยงานรัฐทั้งหลาย เช่น กกท. และ กสทช. มองว่าการถ่ายทอดฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายสำคัญมาก จนต้องให้ถ่ายทอดสดทุกนัด แม้ไม่มีทีมชาติไทยเข้าร่วมแข่งขันด้วย ก็คงต้องถามว่า ครั้งนี้จะเอาเงินจากไหนไปซื้อลิขสิทธิ์ในเวลาที่เหลืออยู่น้อยนิด จะเอาเงิน กทปส. ก็น่าจะไม่ตรงวัตถุประสงค์ (ซึ่งแปลว่าผิดกฎหมาย)

เมื่อเป็นอย่างนี้ ก็คงต้องเอาเงิน “กองทุนกีฬา” ที่ กกท.ดูแลเอง หรือใช้งบประมาณของรัฐบาล ซึ่งจะทำให้ กกท. และรัฐบาลต้องรับรู้ว่านโยบายให้ถ่ายทอดฟุตบอลโลกนี้มี “ต้นทุน” ไม่ใช่ของฟรี ๆ ที่จะไปล้วงเอามาจาก กสทช.ง่าย ๆ

หลังจากนี้ กสทช.เอง ก็ควรต้องเร่งทบทวนกฎพิลึก Must Have และ Must Carry ของตน เพื่อเปิดให้กลไกตลาดทำงานได้ตามปกติ มิฉะนั้นอีก 4 ปีหน้าก็จะเจอปัญหาแบบนี้อีก ถ้าคิดไม่ออกว่าจะแก้แบบไหน ก็ลอกเลียนแนวคิดของออสเตรเลียมาก็ได้

ที่สำคัญ กสทช.ซึ่งเพิ่งมีมติ “รับทราบ” ปล่อยให้ทรู-ทีแทค ควบรวมกันไป โดยไม่ได้ทำหน้าที่ของตน (ซึ่งน่าจะแปลว่าทำผิดกฎหมาย) ก็อย่าไปยอมให้ กกท.มาเอาเงินกองทุน กทปส.ไปใช้อีก เพราะจะไปเบียดบังประชาชนกลุ่มอื่น ๆ ที่ควรได้ผลประโยชน์จากเงินกองทุนนี้ โดย กสทช.ที่ลงมติอนุมัติก็จะเสี่ยงทำผิดกฎหมายอีกรอบ

ถ้าวันพุธนี้ กสทช.ยอมเสี่ยงผิดกฎหมายอีกครั้ง ผมเสนอว่าควรเปลี่ยนชื่อกองทุน กทปส. เป็น “กองทุนป้อมสั่ง” ให้รู้แล้วรู้รอดไปเลย