มัสต์แฮฟเป็นเหตุ ผู้ว่าการ กกท. รับ ไทยโดนโก่งค่าลิขสิทธิ์ถ่ายบอลโลก

world cup 2022 qatar

ผู้ว่าการ กกท. เผย กฎ มัสต์แฮฟ (Must Have) เป็นเหตุ ทำไทยโดนโก่งค่าลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก ยืนยันพยายามต่อรองเพื่อให้ได้ราคาที่เหมาะสม ยินดีหากเอกชนร่วมสนับสนุนซื้อลิขสิทธิ์

วันที่ 5 พฤศจิกายน 2565 จากกรณีการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2022 รอบสุดท้าย ที่เหลือเวลาอีกเพียง 15 วันข้างหน้า ประเทศไทยยังไม่ได้บทสรุปเรื่องการถือครองลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดการแข่งขันดังกล่าว

มติชน สอบถามกับ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทนเลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เปิดเผยว่า ขณะนี้ สำนักงาน กสทช. ได้รับหนังสือชี้แจงการร้องของบประมาณจาก กกท. แล้ว ซึ่งสำนักงานกำลังพิจารณารายละเอียด เพื่อจัดทำวาระการประชุมเสนอให้ คณะกรรมการ กสทช. พิจารณาอนุมัติ หรือ ไม่อนุมัติ ในวันพุธ ที่ 9 พ.ย.นี้

ด้าน ดร.ก้องศักด ยอดมณี ผู้ว่าการการกีฬาแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับมติชนว่า ในเรื่องของความแน่ชัดการซื้อลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก 2022 อาจต้องรอถึงสัปดาห์หน้า ซึ่งเราก็จะทราบว่างบที่มีการทำเอกสารเป็นกรอบวงเงิน 1,600 ล้านบาท จะได้อนุมัติหรือไม่ และจำนวนเท่าไหร่ ซึ่งต้องยอมรับว่าการที่ทางเอเย่นต์ของฟีฟ่ารู้ว่าบ้านเรามีกฎ กติกา เรื่องลิขสิทธิ์แบบนี้ จึงเรียกราคามาค่อนข้างสูง จึงยังมีการเจรจาต่อรองเพื่อให้ได้ราคาที่เหมาะสม และต้องเป็นราคาที่ประเทศไทยไม่ถูกเอาเปรียบจนเกินไป

“ต้องยอมรับว่าค่าลิขสิทธิ์ฟุตบอลโลก ถือเป็นรายการแข่งขันใหญ่ ดังนั้นมูลค่าจึงสูงกว่ารายการกีฬาใด ๆ ซึ่งในการดำเนินการตอนนี้ เรายังมีการเจรจากับทางเอเย่นต์ของฟีฟ่าอย่างต่อเนื่อง ขณะที่วันที่ 9 พฤศจิกายน ก็จะได้ข้อสรุปในเรื่องขอกรอบวงเงินที่เราจะนำไปใช้ซื้อลิขสิทธิ์ว่าจะได้รับอนุมัติเป็นจำนวนเท่าใดจากกรอบที่ตั้งเอาไว้ มากน้อยเพียงพอที่จะใช้ในการดำเนินการหรือไม่อย่างใด

ส่วนภาคเอกชน เรายินดีหากจะเข้ามาร่วมสนับสนุนในการซื้อลิขสิทธิ์ ส่วนระยะเวลาในการดำเนินการ แม้ใกล้การแข่งขันเข้ามาแล้ว แต่เรายังมีเวลา ซึ่งเส้นตายในการดำเนินการเจรจาซื้อขายนั้นสามารถทำได้จนถึงก่อนการแข่งขันนัดเปิดสนามจะเริ่มขึ้นในวันที่ 20 พฤศจิกายน” ดร.ก้องศักด กล่าวทิ้งท้าย

สำหรับกฏ “มัสต์แฮฟ” (Must Have) หรือ ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สําคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2555 กำหนดให้รายการถ่ายทอดสดกีฬา 7 รายการ ทั้งฟุตบอลโลก, โอลิมปิก, ซีเกมส์, เอเชียนเกมส์ และการแข่งขันกีฬาคนพิการ 3 รายการ ต้องถ่ายทอดสดให้รับชมได้ฟรี

กรณีดังกล่าว ทำให้เอกชนผู้ถือลิขสิทธิ์รายการถ่ายทอดสดกีฬา ไม่กล้าลงทุน รวมถึงการแข่งขันฟุตบอลโลก 2022 ที่ยังไม่มีภาคเอกชนมาลงทุนซื้อลิขสิทธิ์ และทำให้ภาครัฐต้องหาทางให้ประชาชนรับชมได้โดยเร็วที่สุด ก่อนเริ่มเปิดสนามแข่งขันในวันที่ 20 พฤศจิกายนที่จะถึงนี้


ขณะเดียวกัน ต้องจับตาดูการประชุมของ กสทช. เพื่ออนุมัติงบฯซื้อลิขสิทธิ์ ในวันที่ 9 พฤศจิกายน โดยมีกรอบวงเงินอยู่ที่ 1,600 ล้านบาท