จับชีพจรอีคอมเมิร์ซไทย สงครามราคาจบแล้ว?

กูรูชี้ภาพธุรกิจอีคอมเมิร์ซเปลี่ยน หลังยักษ์ใหญ่เริ่มทำกำไร หวั่นไทยขาดดุลดิจิทัล แนะรัฐสอดส่อง-เก็บภาษียักษ์แพลตฟอร์ม เตือนสินค้าด้อยคุณภาพทะลัก บริการซื้อก่อนจ่ายทีหลังต้นเหตุก่อหนี้ท่วม

วันที่ 9 ธันวาคม 2565 นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เพย์ โซลูชั่น จำกัด และผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์ม Tarad.com เปิดเผยว่าจากสถานการณ์โควิด-19 ได้เปลี่ยนวิถีของการช็อปปิ้งออนไลน์ในไทย หรือเรียกได้ว่าชาวไทยเข้าสู่การซื้อขายของออนไลน์แบบเต็มรูปแบบแล้ว มีประเด็นสำคัญที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา และอาจส่งผลต่อสถานการณ์ซื้อขายออนไลน์

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัญญาณจากยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซ อย่าง ช้อปปี้ ลาซาด้า และเจดี เซนทรัล ส่งสัญญาณพลิกทำกำไร ส่งผลให้แพลตฟอร์มต่างชาติลดการ “เผาเงิน” นอกจากนี้สถานการณ์สินค้าจีนที่ทะลักเข้ามาในไทยกระทบการแข่งขัน ทั้งเทรนด์ในปีหน้าที่แพลตฟอร์มยักษ์เริ่มปล่อยบริการทางการเงินโดยเฉพาะ Buy now, Pay later แม้กระตุ้นยอดขายแต่เป็นสิ่งที่น่าหวาดกลัว

สงครามราคาจบแล้ว?

นายภาวุธ ระบุว่า มีข้อสังเกตที่ชัดเจนเพราะ e-marketplace ขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น Lazada, Shopee กำลังเริ่มเข้าสู่การเปลี่ยนโหมดตัวเอง จากเน้น Growth โดยการใช้เงินลงทุน หรือ “เผาเงิน” ทำให้ตัวเองเติบโต ด้านผู้ใช้งานและรายได้ ก็เริ่มปรับเปลี่ยนตัวเองสู่ธุรกิจเพื่อทำกำไรอย่างชัดเจน

ตัวอย่าง เช่น Lazada ในปี 2564-2565 สามารถทำกำไรได้แล้ว เเละมีการใช้เงินในการทำการตลาดน้อยลง แล้วเริ่มโฟกัสที่การสร้างรายได้เพิ่มมากขึ้น เห็นได้ชัดจากที่เริ่มมีการเก็บเงินจากลูกค้าเเละร้านค้าเพิ่มมากขึ้น รวมทั้งการปรับเพิ่มค่าบริการมากขึ้น

หากมองภาพรวมธุรกิจ Lazada คงไม่อาจมองแค่บริการ e-marketplace อย่างเดียว เเต่ต้องมองในฝั่ง Lazada Pay เพื่อการชำระเงิน, Lazada Express หรือบริการด้านดิจิทัลอื่น ๆ จะพบว่ารายได้ทั้งหมดของกลุ่ม Lazada ในปี 2565 อยู่ที่ประมาณ 38,000 กว่าล้านบาท มีกำไรประมาณ 3,200 กว่าล้านบาท ซึ่งธุรกิจที่ทำกำไรหลัก ๆ คือ Lazada Express หรือบริการขนส่ง

ในด้านของ Shopee ตัวเลขยังมีการขาดทุนอยู่ เฉพาะในปี 2564 Shopee ขาดทุนประมาณ 4,900 กว่าล้านบาท ซึ่งเป็นขาดทุนสะสมติดต่อกันมา 7 ปี แต่เมื่อดูภาพรวมธุรกิจหลักของ Shopee จะมีธุรกิจ Shopee Express ซึ่งจากเดิมในปี 2563 มีการขาดทุนประมาณ 1,800 กว่าล้านบาท ตัวเลขการขาดทุนลดลงมาเหลือ 280 กว่าล้านบาท เมื่อมองภาพรวมธุรกิจของ Shopee การขาดทุนยังสูงอยู่ แต่รายได้ของทั้งกลุ่มมีมูลค่าเกือบ 43,000 ล้านบาท

จากข้อมูลนี้เห็นได้ชัดว่าปีที่แล้ว Shopee มุ่งเน้นการเติบโตทางธุรกิจ (Growth) มากกว่าการทำกำไร ในขณะที่ข้อมูล Shopee ช่วงครึ่งปี 2565 ที่ผ่านมา จะเห็นว่ามีการปรับโครงสร้าง ลดจำนวนพนักงานลงมาก ปิดบริการในแต่ละประเทศที่ไม่ทำกำไรหรือเพิ่งดำเนินการ เพราะไม่อยากเปิดศึกหลายด้าน จึงกลับมาโฟกัสที่การทำกำไรแทน เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจที่ค่อนข้างถดถอย อัตราเงินเฟ้อ และสถานการณ์ต่าง ๆ ทำให้ Shopee มีปัญหาเรื่องการระดมเงินจากนักลงทุน

นอกจากนั้น Shopee ก็ดำเนินนโยบายเชิงรุกต่อเนื่อง โดยผู้บริการจะไม่มีการรับเงินเดือนจนกว่าสถานการณ์การเงินจะดีขึ้น ซึ่งนี่คือทิศทางที่ชัดเจนว่า Shopee กำลังจะเริ่มทำกำไรแล้ว เเละสิ่งที่เห็นได้ชัดอีกประเด็น คือ งบประมาณในการทำการตลาดของ Shopee ลดลงอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะในช่วง 11.11 ที่ผ่านมา

ส่วน JD Central ยังคงเป็นอันดับ 3 มีงบกำไรขาดทุนอยู่ที่ประมาณ 1,200 กว่าล้านบาท แต่ก็เริ่มมีข่าวไม่เป็นทางการว่ากลุ่มเซ็นทรัลได้มีการถอนตัวออกจาก JD.com และในฟากของ JD ในประเทศไทยก็จะมีการถอนตัวจากตลาดประเทศไทยและอินโดนีเซีย เพราะมีการขาดทุนสูงถึงประมาณห้าหมื่นล้านบาท

สิ่งที่เริ่มสะท้อนอย่างเห็นได้ชัดคือช่วงมหกรรม 11.11 ที่ผ่านมาสถานการณ์ค่อนข้างซบเซา บรรดา e-marketplace ใช้เงินน้อยลง ร้านค้าขายของได้น้อยลงกว่าเดิมมาก เป็นสัญญาณให้เห็นว่าฝั่งของ e-marketplace ที่เคยเป็นสงครามของการใช้เงินมาถล่มกันก็เริ่มลดน้อยลงอย่างชัดเจนแล้ว

นอกจากนี้ นายภาวุธ ย้ำว่า พื้นที่ e-marketplace ที่เปิดในไทย กลายเป็นสมรภูมิการเเข่งขันของต่างชาติเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เรายังมี e-marketplace ของไทยอยู่บ้าง เช่น ShopAt24 ในเครือ CP All ที่ยังทำกำไรได้อย่างต่อเนื่อง โดยรายได้ในปี 2564 มีมูลค่า 11,000 กว่าล้านบาท และมีกำไรอยู่ประมาณ 400 กว่าล้านบาท

นายภาวุธ ยังได้อธิบายถึงความเชื่อมโยงทั้งการแข่งขัน สงครามราคารอบใหม่ในแพลตฟอร์ On demand ที่ต่อไปสินค้าทั่วไปจะเอาตัวเองไปอยู่บนแพลตฟอร์มเดลิเวอรี เช่น แกรบ, โรบินฮู๊ด, ไลน์แมน เป็นต้น จากเดินอีคอมเมิร์ซ ซื้อขายใช้เวลากว่า 2-3 วันถึงได้ของ แต่ On demand สามารถทำได้ภายในไม่กี่นาที

สินค้าจีนบุกไทยเต็มสูบ เตือนสินค้าด้อยคุณภาพ

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ไทยมีผู้ให้บริการนำสินค้าจากจีนเข้ามาเป็นจำนวนมาก บางรายมีการตั้งโกดังจำนวนมากในประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่รอบ ๆ กรุงเทพ และเริ่มขายสินค้าตรงจากสินค้าโกดังในไทยตรงสู่ผู้บริโภค ซึ่งเห็นได้ชัดว่าสินค้ามีราคาถูกลงมาก

อย่างไรก็ตาม สินค้าจีนที่เข้ามาก็มีหลากหลายรูปแบบ ทั้งแบบที่ดำเนินธุรกิจถูกต้องตามกฎหมาย มีการเสียภาษี ผ่านขั้นตอนชัดเจน แต่ก็มีบางส่วนที่ยังผิดกฎหมาย นำเข้ามาค้าขายในโลกออนไลน์ โดยไม่ผ่านขั้นตอนการตรวจสอบหรือขออนุญาตตามมาตรฐานของไทย

ตัวอย่าง เช่น หลอดไฟฟ้า LED ต่าง ๆ จากจีนที่ไม่มี มอก. อุปกรณ์การพนันต่าง ๆ ที่หาซื้อได้ใน e-marketplace หรือเครื่องสำอางที่สามารถหาซื้อได้โดยไม่มี อย. สินค้าเหล่านี้ส่งตรงเข้ามาจากจีน เเละจากที่ไม่ผ่านมาตรการต่าง ๆ ก็ทำให้มีต้นทุนถูกลง ทำให้สามารถนำสินค้าเข้ามาเป็นจำนวนมากๆ ได้ โดยบางครั้งมีขั้นตอนพิเศษที่ทำให้ไม่เสียภาษีอีกด้วย

นายภาวุธ ยังกล่าวอีกด้วยว่า การปกป้องผู้บริโภคไทยจากสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานเป็นสิ่งที่จำเป็นมาก เพราะหลังจากนี้การที่ผู้ประกอบการจีนมีโกดังเก็บสินค้ารอบกรุงเทพ ทำให้สินค้ายิ่งถูกลงไปอีก ยิ่งเอื้อให้เกิดการได้เปรียบทางการแข่งขันและอาจส่งผลเสียต่อผู้บริโภค ส่วนตัวเป็นหนึ่งในคณะทำงานด้านอีคอมเมิร์ซของวุฒิสภาเพื่อหาวิธีป้องกันสินค้าไม่ได้มาตรฐานเหล่านี้ไม่ให้เข้าประเทศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างการแข่งขันที่เท่าเทียมเปิดโอกาสให้มีสินค้าที่มีคุณภาพมาแข่งขันกันได้

ไทยขาดดุลดิจิทัล แนะรัฐสอดส่อง

นายภาวุธ เปิดเผยด้วยว่า กรมสรรพากรได้ออกกฎหมายจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากแพลตฟอร์มผู้ให้บริการต่างประเทศเมื่อ 1 ก.ย. 64 เเละจากข้อมูลล่าสุด มีผู้ให้บริการต่างชาติที่ขึ้นทะเบียนเเล้วจำนวน 127 ราย ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บสะสม 6 เดือน (ต.ค. 64-มี.ค. 65) รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 4,200 กว่าล้านบาท

โดยมีการคาดการณ์ว่าอาจจะเก็บได้ถึงเกือบหมื่นล้านเมื่อครบปี นั่นเป็นสิ่งที่ทำให้มูลค่าการซื้อ-ขายบริการทางอิเล็กทรอนิกส์ของคนไทยอาจจะขึ้นไปสูงถึงเกือบ ๆ สองแสนล้านบาท ซึ่งสองแสนล้านบาทน่าจะเป็นตัวเลขที่สูงกว่าการส่งออกข้าวในปี 2564 รวมถึงสูงกว่าการนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปในปี 2564 เช่นกัน จึงถือว่าเป็นประเด็นสำคัญที่ภาครัฐควรต้องเริ่มเข้ามาดูแลสอดส่องว่าประเทศไทยมีการขาดดุลทางการค้าดิจิทัลอย่างไร และควรนำตัวเลขนี้ไปคำนวณ วิเคราะห์เรื่องของการขาดดุลของระบบประเทศไทยด้วยเช่นกัน

ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง เสี่ยงก่อหนี้ใหญ่

นายภาวุธ ยังกล่าวอีกด้วยว่า ทุกวันนี้แพลตฟอร์มต่าง ๆ เริ่มใช้ข้อมูลทางการเงิน การค้า และพฤติกรรม ของผู้ซื้อและผู้ขายบนระบบนิเวศมาพิจารณาให้บริการทางการเงินได้ ซึ่งเรียกว่าต่อไปจะเจอ การบุกของ DFS (Digital Financial Service)

โดย บริการการเงินทางออนไลน์ ซึ่งในปัจจุบันเริ่มมีความหลากหลายมากขึ้น ผู้ให้บริการเหล่านี้จะไม่ใช่ธนาคาร หรือที่เรียกว่า Non bank เช่น บริการรับชำระเงิน, บริการกู้เงินทางออนไลน์, บริการประกันออนไลน์,บริการดูแลความมั่งคั่ง ดูแลสินทรัพย์ออนไลน์ หรือ การโอนเงินออนไลน์ โอนเงินต่างประเทศ เเละแนวโน้มการใช้บริการ Digital Financing เหล่านี้เริ่มมีการเติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการผลักดันให้ e-Commerce ของประเทศไทยเติบโตมากขึ้น

อีกทั้งจะเห็นได้ว่า ผู้ให้บริการหลายราย อย่าง Grab, Shopee, Food Panda หรือ Lazada เริ่มมีการให้บริการทางการเงินให้กับคู่ค้าของตัวเองมากขึ้นเช่นเดียวกัน หรือแม้แต่การให้บริการ B2B Payment อย่าง PaySoon ก็เป็นอีกหนึ่งบริการที่จะเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการเงินทุนหมุนเวียนให้กับเจ้าของธุรกิจ โดยการดึงวงเงินจากบัตรเครดิตมาเสริมสภาพคล่องทางธุรกิจได้ดีมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นในการเก็บเงินหรือการจ่ายเงิน

นายภาวุธ ระบุว่า ร้านค้าต่างก็ต้องการให้ขายสินค้าได้ ในขณะที่ผู้ซื้อก็อาจจะสามารถใช้บริการทางการเงินได้ อย่างเช่น การซื้อก่อนจ่ายทีหลังอย่าง Buy now, Pay later ก็เป็นบริการที่เติบโตมาก ซึ่งบริการนี้ก็ยังเป็นเรื่องที่น่ากังวลและน่ากลัวอย่างมาก เพราะหากผู้ใช้กู้ซื้อของจากแพลตฟอร์มหนึ่ง แล้วไปกู้ซื้อของแพลตฟอร์มหนึ่งต่ออีกทอดหนึ่ง ได้ง่าย ๆ ก็จะก่อให้เกิดมูลหนี้มหาศาล