โดมิโนเอฟเฟ็กต์ LUNA-FTX 2565 ปีแห่งฝันร้ายนักลงทุนคริปโต

สินทรัพย์ดิจิทัล
pixabay

ชัดเจนว่าปีนี้ 2565 ไม่ใช่ปีที่ดีของธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล โดยเฉพาะคริปโตเคอร์เรนซีอย่างแน่นอน จากสารพัดปัจจัยลบที่ถาโถมเข้าใส่ เขย่าขวัญทั้งนักลงทุน และผู้ที่ทำธุรกิจเกี่ยวเนื่องแทบไม่เว้นวายตลอดทั้งปี แม้ว่าหนึ่งในปัจจัยหลักมาจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่ได้รับผลกระทบมาจากวิกฤตโควิด-19 อีกที อาจเรียกได้ว่าเป็นวิกฤตซ้อนวิกฤต ส่งผลให้ยักษ์ใหญ่ในแวดวงคริปโตโลกถึงขั้นล้มกันเป็นโดมิโน ยังไม่นับว่าบางกรณีมีสาเหตุมาจากปัญหา “การฉ้อโกง” ภายในองค์กรเองก็ตาม

สถานการณ์โลกวิกฤตซ้อนวิกฤต

ในช่วงขาขึ้นของตลาดคริปโตเคอร์เรนซีผลักดันให้ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลเติบโตอย่างมาก อุตสาหกรรมต่าง ๆ ต่างกระโดดเข้ามาครีเอตโปรเจ็กต์ใหม่ ๆ เกาะเกี่ยวไปกับเทคโนโลยีแห่งยุคสมัย ทั้งบล็อกเชน, เว็บ 3.0 เมตาเวิร์ส มีตั้งแต่ออกโทเค็นดิจิทัล, NFT, โปรเจ็กต์ DeFi และอีกมากมาย กระทั่งเข้าสู่ปลายปี 2564 มูลค่าตลาดคริปโตเคอร์เรนซีขยับขึ้นไปทำจุดสูงสุดตลอดกาลที่มูลค่า 3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ แต่จากนั้นก็พักตัวลงต่อเนื่องเข้าสู่ช่วงขาลงอย่างแท้จริง แทบจะเรียกได้ว่าตลอดทั้งปี 2565 ก็น่าจะได้

เค้าลางแห่งหายนะเริ่มขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อวิกฤตโควิดเริ่มคลี่คลาย รัฐบาลกลางในหลายประเทศ นำโดยสหรัฐอเมริกาอัดฉีดเงินมหาศาลเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ ทำให้ภาวะเงินเฟ้อก่อตัว รวมเข้ากับสารพัดปัจจัยทั้งสงคราม “รัสเซีย-ยูเครน” ที่ปะทุขึ้นจุดระเบิดวิกฤตพลังงาน ซ้ำเติมค่าเงินเฟ้อให้พุ่งสูงสุดในรอบ 40 ปี เป็น “วิกฤตซ้อนวิกฤต” ผลักดันให้สินทรัพย์เสี่ยงทุกชนิดเริ่มโดนเทขาย ที่หนักที่สุดหนีไม่พ้น “คริปโตเคอร์เรนซี”

LUNA เอฟเฟ็กต์

ตลอดเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน สินทรัพย์ดิจิทัลทุกชนิดโดนเทขายต่อเนื่อง จนเริ่มส่งผลกระทบกับกิจการในอุตสาหกรรมคริปโต โดยเฉพาะกิจการที่เกี่ยวข้องกับการกู้ยืม หรือ leverage เนื่องจากมูลค่าหลักประกันลดลง นำไปสู่การล้างพอร์ต เมื่อบริษัทหนึ่งประสบปัญหา ผิดนัดชำระหนี้ ก็ส่งผลกระทบลามไปทั้งอุตสาหกรรม

เมื่อนักลงทุนตื่นตระหนกและขาดความเชื่อมั่น ผู้ใช้แห่ไปถอนเงิน เดือนพฤษภาคม Terra LUNA ไม่สามารถค้ำประกันเหรียญ Stable Coin สกุล UST ของตนให้มีมูลค่าเท่ากับ 1 ดอลลาร์ได้ ส่งผลให้กลไกของเครือข่ายทำงานอัตโนมัติคือการขายเหรียญ LUNA ออกมามหาศาล ทำให้ราคาเหรียญร่วงตกสวรรค์จาก 1 เหรียญสหรัฐ เหลือไม่ถึง 1 เซนต์ หรือตกลงถึง 99% (ณ 13 พ.ค.) สร้างความสั่นสะเทือนให้ตลาดคริปโตทั่วโลก

นอกจากนี้ยังมีการขุดคุ้ย และพบว่า “โด ควอน” ผู้ก่อตั้ง LUNA ผิดข้อหาละเมิดหลักทรัพย์และฉ้อโกง จากศาลเกาหลีใต้ ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการติดตามจับกุมตัว

ราคาที่ร่วงจนไร้มูลค่าของเหรียญ LUNA ส่งผลกระทบต่อกองทุนใหญ่ ๆ ที่ขนเงินไปลงในระบบนิเวศ LUNA ส่งผลให้กองทุนชื่อดัง 3AC, Voyager Digital ประสบปัญหาสภาพคล่อง และล้มละลายในที่สุด ก่อให้เกิดโดมิโนเอฟเฟ็กต์ลามทั่วตลาด

วิกฤต Zipmex-ดีลบิทคับ-SCB ล่ม

ในเดือนกรกฎาคม แพลตฟอร์มกู้ยืมคริปโต Celsius, BlockFi, Babel และอื่น ๆ เริ่มออกอาการประสบวิกฤตสภาพคล่อง เปิดแผลให้เห็นว่ามีการนำเงินลูกค้าหมุนไปลงทุนในแพลตฟอร์มอื่น ๆ โดยเฉพาะแพลตฟอร์มที่มีเหรียญ LUNA และ UST เพื่อนำกำไรมาจ่ายเป็นดอกเบี้ยให้ลูกค้า

และ 1 ในผู้ที่ฝากเงินกับ Celsius และ Babel คือ บริษัท Zipmex.asia บริษัทแม่ Zipmex ประเทศไทย ที่นำเงินลูกค้าจากผลิตภัณฑ์ ZipUP+ กว่า 2 พันล้านบาท ไปฝากไว้ด้วย เป็นเหตุให้ต้องเผชิญวิกฤตสภาพคล่อง ต้องสั่งระงับการถอนเงินตามไปด้วย ในจำนวนผู้เสียหายจาก Zipmex กว่า 60% เป็นลูกค้าชาวไทย

ล้มดีล SCB-Bitkub

ในเดือนสิงหาคม มีการประกาศ “ล้มดีล” ยักษ์ระหว่าง “บิทคับ และ SCB” โดย SCBS ให้เหตุผลว่า ที่ผ่านมา Bitkub ยังมีประเด็นคงค้างที่ต้องดำเนินการหาข้อสรุปตามคำแนะนำและสั่งการของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งยังมีความไม่แน่นอนในเรื่องระยะเวลาในการหาข้อสรุปดังกล่าว ทั้งคู่จึงตกลงร่วมกันที่จะยกเลิกธุรกรรมการซื้อขายหุ้นในครั้งนี้

กรณีดังกล่าวทำให้หลายฝ่ายมองว่า น่าจะกระทบสถานะการเป็นสตาร์ตอัพ “ยูนิคอร์น” ของบิทคับไปด้วย

อย่างไรก็ตาม “จิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา” ซีอีโอ บิทคับ แคปิตัล โฮลดิ้ง กรุ๊ป กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตัวเลขการเติบโตของธุรกิจของบิทคับมีความชัดเจนในตัวเองอยู่แล้ว จึงไม่ต้องให้คนข้างนอกมาบอกว่าเป็น “ยูนิคอร์น” หรือยัง โดยในปี 2564 มีรายได้ 5,500 ล้านบาท เป็นกำไร 2,600 ล้านบาท เทียบกับปีก่อนหน้า มีการเติบโตถึง 2,000% เฉพาะมูลค่าบริษัท (คูณ P/E 13) ก็มากกว่า 3 หมื่นล้านบาท

FTX ล่มโดมิโนตัวล่าสุด

ในเดือน พ.ย. เว็บไซต์คริปโตชื่อดัง CoinDesk ได้เผยแพร่รายงานระบุว่า สินทรัพย์ในการบริหารของ Alameda Research กว่า 70% เป็นโทเค็น FTT ของ FTX กระดานเทรดคริปโตอันดับ 2 ของโลก ทำให้นักลงทุนเริ่มมีความกังวลเกี่ยวกับมูลค่าเหรียญ เนื่องจาก Alameda Research เป็นบริษัทลูกของ FTX ถือครองเหรียญ FTT มากเกินไป ทั้งบันทึกบัญชีด้วยมูลค่าสูงเกินจริง

และความกังวลทั้งหลายในขณะนั้นได้รับการตอกย้ำอีกรอบ เมื่อ “ฉางเผิง จ้าว” หรือที่รู้จักกันว่า “CZ” ซีอีโอ Binance กระดานเทรดอันดับหนึ่งของโลก ทวีตผ่านบัญชี Twitter ส่วนตัวว่า แพลตฟอร์มของเขากำลังเทขายโทเค็น FTX ทั้งหมดในบัญชีของตน เพื่อไม่ให้เหตุการณ์ซ้ำรอยกับการล่มสลายของ Terra โดยจะมีการทยอยขายทั้งหมดภายในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ส่งผลให้ราคาเหรียญ FTX ดิ่งลงทันทีกว่า 10%

ความกลัวก่อตัว และแพร่กระจายไปทั่วโซเชียลมีเดีย พร้อมข่าวลือว่า FTX อาจล้มละลายตามรอย Celsius ทำให้นักลงทุนแห่ถอนเงินออกจากแพลตฟอร์ม FTX จำนวนมาก ภายใน 72 ชั่วโมงแรกที่ข่าวแพร่สะพัด นักลงทุนแห่ถอนเงินออกจากเว็บเทรดมากถึง 6 พันล้านเหรียญสหรัฐ จนในที่สุด FTX ต้องออกมาประกาศหยุดการถอนเงินในวันที่ 8 พฤศจิกายน

FTX พยายามแก้ไขสถานการณ์โดยเข้าไปเจรจากับ Binance บริษัทคู่แข่ง ในครั้งแรก Binance ได้ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงที่ไม่มีผลผูกพันสำหรับการเข้าซื้อกิจการ FTX แต่ภายในเวลาไม่ถึง 24 ชั่วโมงของขั้นตอนการสอบทานธุรกิจ (due diligence) “Binance” ก็ออกมาปฏิเสธดีลการเข้าซื้อกิจการดังกล่าว ทำให้ FTX ต้องยื่นล้มละลาย

เนื่องจาก FTX มีบริษัทลูกมากมาย และผลิตภัณฑ์ทางการเงินของบริษัทยังมีความเกี่ยวข้องกับตราสารอนุพันธ์ (derivatives) ซึ่งมีความเสี่ยง และใช้ leverage สูง (กู้เงินมาลงทุน) การล้มละลายของ FTX จึงอาจส่งผลกระทบเป็นโดมิโน ทำให้บรรดานักลงทุนแห่ถอนเงินออกจากแพลตฟอร์มซื้อขายอื่น ๆ ด้วย ตั้งแต่ Crypto.com จนต้องปิดการถอนชั่วคราว ต่อมา BlockFi เป็นบริษัทที่ FTX ซื้อกิจการไปก็ยื่นล้มละลายอีกแห่ง

“ปรมินทร์ อินโสม” ผู้ก่อตั้ง บริษัท สตางค์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เว็บเทรด Satang Pro แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการล้มละลายของ FTX ว่า เหตุการณ์นี้จะส่งผลกระทบในวงกว้างยิ่งกว่าการล่มสลายของเครือข่าย Terra อย่างเทียบกันไม่ได้ เนื่องจาก FTX มีความเกี่ยวข้องกับบริษัทคริปโตอื่น ๆ อีกมากมาย ทั้งเว็บเทรดคริปโต และผลิตภัณฑ์การเงินรูปแบบ Derivatives, Futures, Traditional Fund, Market Maker และโทเค็น FTT

อีกไม่กี่วันปี 2565 ก็จะผ่านพ้นไป ฝันร้ายในอุตสาหกรรมคริปโตปีนี้ดูท่าจะไม่หยุดแค่นี้ โปรดติดตาม