คมสันต์ ลี นำทัพฝ่าวิกฤต ปรับแผนต่อจิ๊กซอว์ “แฟลชกรุ๊ป”

คมสันต์ ลี
สัมภาษณ์

เมื่อพูดถึง “แฟลช” ย่อมนึกถึงบริษัทสตาร์ตอัพด้านโลจิสติกส์ที่มีโลโก้สายฟ้าสีเหลืองที่เติบโตอย่างรวดเร็ว เป็นยูนิคอร์นตัวแรก ๆ ของไทย หลังระดมทุนในรอบ serie E สำเร็จกลางปี 2564 ในจังหวะเดียวกับที่อุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซเติบโตอย่างรวดเร็ว ทำให้แฟลชตั้งเป้าใหญ่เร่งเกมขยายธุรกิจในต่างประเทศ

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ “คมสันต์ ลี” ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจแฟลช ได้บอกเล่าประสบการณ์ที่ผ่านมาเมื่อบริษัทต้องเผชิญกับหลายสิ่งที่ไม่ได้เป็นไปตามแผนที่วางไว้แต่เดิม ท่ามกลางการแข่งขัน และสถานการณ์เศรษฐกิจและธุรกิจที่ไม่เหมือนเดิม

ถอดบทเรียนฝ่าวิกฤต

“คมสันต์” บอกว่า สถานการณ์ธุรกิจขนส่งในปี 2565 ที่ผ่านมาไม่ได้เป็นเหมือนที่คิดไว้ เนื่องจากธุรกิจอีคอมเมิร์ซปี 2564 เติบโตอย่างมาก ส่งให้แฟลช เอ็กซ์เพรส เติบโตมากด้วยเช่นกัน จึงกล้าวางแผนขยับขยายธุรกิจไปต่างประเทศ แต่พอเข้าสู่ปี 2565 ธุรกิจเข้าสู่ภาวะชะลอตัว ขณะที่ต้นทุนการบริหารจัดการสูงขึ้นมาก เพราะวิกฤตโควิดยังอยู่ บริษัทต้องประสบปัญหาหลายอย่าง ตั้งแต่พนักงานติดโควิด ทำให้ต้องจ้างพนักงานทดแทนกว่า 7,500 คน คลังสินค้าต้องปิด ขณะที่ราคาน้ำมัน ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญพุ่งจาก 20 บาท ไปเป็น 30-40 บาท ทำให้ต้องหันมาปรับปรุงนโยบายและแผนงานในองค์กรเพื่อบริหารต้นทุน

อีกปัญหาสำคัญคือ วิกฤตในตลาดทุน นักลงทุนมีความกังวล และลดเงินลงทุนในธุรกิจอีคอมเมิร์ซอย่างมาก ทำให้แพลตฟอร์มต่าง ๆ ลดการกระตุ้นตลาด ส่งผลให้การแข่งขันลดลง ตลาดอีคอมเมิร์ซจึงอยู่ในภาวะซบเซาตามไปด้วย ขณะที่แฟลชกรุ๊ปยังเดินหน้าขยายกิจการในหลายประเทศ แต่ที่มีปัญหามากที่สุดคือในลาว เพราะลงทุนเป็นเงินบาท เพื่อให้บริการเป็นเงินกีบ แต่อัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวนทำให้การแปลงรายได้กลับมาเป็นเงินบาทติดลบถึง 40%

ยังไม่รวมราคาน้ำมันในลาวที่เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว

ขณะที่การลงทุนในประเทศอื่น ๆ อย่างมาเลเซียก็อยู่ในช่วงการจัดหากำลังคน ซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญ โดยเฉพาะการหาทีมระดับผู้บริหาร เพราะคนมาเลเซียอยากไปทำงานที่สิงคโปร์ที่ให้เงินเดือนมากกว่าอยู่ในประเทศถึง 60% แต่ตนยังคาดว่าในปี 2566 แฟลช เอ็กซ์เพรส จะสามารถขึ้นเป็นแพลตฟอร์ม top 3 ในมาเลเซียได้

“คมสันต์” บอกว่าประเทศที่น่าสนใจที่สุดคือ ฟิลิปปินส์ จากอัตราการเติบโตในอีคอมเมิร์ซที่เร็วเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน ด้วยปัจจัยบวกทั้งด้านประชากร ความพร้อมด้านโครงสร้างโทรคมนาคม และวัฒนธรรมในการช็อปปิ้งออนไลน์ที่มีความคล้ายกับคนไทย ทำให้ “แฟลช” ในฟิลิปปินส์ มีพนักงานมากกว่าหมื่นคน ขึ้นเป็น top 3 ของประเทศเเล้ว และน่าจะทำกำไรได้ด้วย

คมสันต์ ลี

ปรับแผนจัดกำลังคนใหม่

“คมสันต์” ยอมรับว่าต้นทุนในการบริหารจัดการที่ค่อนข้างสูง เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้บริษัทประสบปัญหาในการขยายตลาดไปในต่างประเทศ แต่ส่วนที่สำคัญที่สุด คือ เรื่อง “กำลังคน” โดยปีที่ผ่านมา มีการปรับเปลี่ยนนโยบายการบริหารหลายอย่าง ตั้งแต่เส้นทางเดินรถ การเช่าสถานที่คลังสินค้า การปรับโครงสร้างภายใน รวมถึงผู้บริหารออกไป 20% เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ธุรกิจที่เปลี่ยนไป

“ก่อนหน้านี้เป็นช่วงตลาดเติบโต บริษัทต้องการผู้บริหารที่เป็นผู้สร้าง เพราะเน้นขยายธุรกิจและเปิดตลาดใหม่ ๆ ในต่างประเทศ แต่ในปีที่ย่ำแย่ เราต้องการผู้ซ่อม พัฒนาธุรกิจเดิมให้เสถียร มีประสิทธิภาพ ดูแลคุณภาพ และบริหารจัดการต้นทุนภายในองค์กร อีกส่วนคือ บริษัทลูก ๆ ที่อยู่ต่างประเทศก็ต้องการผู้บริหารที่เติบโตมากับเรา เข้าใจปัญหาแบบแฟลช และลุยมาด้วยกันตั้งแต่แรก ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ เพราะทำให้พวกเขาทนมากกว่าผู้บริหารที่ไปหามาจากที่อื่น หรือที่เรียกว่าทหารอากาศ ที่เราเอาไปหย่อนในพื้นที่ที่ต้องการ”

ดังนั้นในปี 2566 จะต้องเพิ่มกำลังคนในระดับ manager ขึ้นไป เริ่มจากตลาดเก่าคือ ภายในประเทศไทย แล้วส่งออกไปยังบริษัทลูกภายในปี 2567 รวมถึงเพิ่มพนักงานจาก 5 หมื่นคน เป็น 6-7 หมื่นคนภายในปีนี้

ต่อจิ๊กซอว์ “แฟลชกรุ๊ป”

“คมสันต์” กล่าวถึงภาพรวมของ “แฟลชกรุ๊ป” ด้วยว่า มีบริษัทลูกราว 10 แห่ง อยู่ใน 8 ประเทศในภูมิภาคอาเซียน ยกเว้นเมียนมาและบรูไน แบ่งธุรกิจออกเป็น 4 กลุ่ม ประกอบด้วย 1.กลุ่มขนส่งโลจิสติกส์ (Flash Express) โดยในปีที่ผ่านมา แฟลช เอ็กซ์เพรส ประเทศไทย รับส่งพัสดุมากกว่า 700 ล้านชิ้น เฉลี่ยวันละ 2.4 ล้านชิ้น แต่รายได้ต่อชิ้นลดลง 15% ทำให้รายได้ปีที่ผ่านมาใกล้เคียงกับปี 2564 หรืออยู่ที่ราว 1.76 หมื่นล้านบาท ต่างกับปี 2564 ที่มีกำไร 6 ล้านบาท แต่ปี 2565 ขาดทุนจากต้นทุนที่สูงขึ้น

2.กลุ่มบริหารคลังสินค้า (Flash Fulfillment) ขยายไปในเวียดนามและอินโดนีเซียแล้ว การเติบโตเป็นไปในทิศทางเดียวกับโลจิสติกส์ โดยในเวียดนามมีโกดังขนาด 1 หมื่น ตร.ม. ขณะที่ในไทยมีขนาด 1 แสน ตร.ม. จากเดิมให้บริการกับผู้ค้าออนไลน์ ก็ขยับมาให้บริการกับแบรนด์สินค้าต่าง ๆ มากขึ้น และกำลังจับกลุ่มใหม่ คือ live commerce ที่เติบโตมาก

3.กลุ่มการเงิน (Flash Money, Flash Pay) เปิดครั้งแรกในปี 2565 เน้น B2B โดย Flash Pay มีมูลค่าธุรกรรมแล้วพันล้านบาท ส่วน Flash Money จะให้บริการกับกลุ่ม 3PL เช่น กลุ่มรถบรรทุก (third party logistics service provider) ที่ส่งสินค้ากับบริษัท โดยปล่อยเงินกู้ไปแล้ว 500 ล้านบาท

4.กลุ่มธุรกิจ F-commerce เป็นธุรกิจใหม่ที่กำลังเติบโตให้บริการครอบคลุม ตั้งแต่สร้างพื้นที่ไลฟ์สดขายของ, เซ็นสัญญาจ้างดารา อินฟลูเอนเซอร์ มาทำหน้าที่ไลฟ์ขายสินค้า มีบริการยิงโฆษณาโปรโมตสินค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ และส่งสินค้าจากการไลฟ์ขายของ เรียกว่าเป็น multichannel platform (MCN)

“คมสันต์” กล่าวว่า ธุรกิจ MCN มาแรง และจะโต 5-10 เท่า โดยปีที่ผ่านมามีรายได้ 500-600 ล้านบาท แต่ประเมินว่าปี 2566 จะเพิ่มขึ้นเป็น 3-4,000 ล้านบาท โดยบริษัทเตรียมขยายอาคารสำหรับไลฟ์สด (Live Center) ในประเทศอินโดนีเซีย ให้ได้ 10 แห่งภายในสิ้นปี และจะเปิดไลฟ์เซ็นเตอร์ในประเทศไทยด้วย

“ธุรกิจเหล่านี้ทำให้เราเข้าไปได้ทุกแพลตฟอร์ม เราสนับสนุนผู้ค้า แบรนด์ และแพลตฟอร์มต่าง ๆ ถือเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานอีคอมเมิร์ซ ซึ่งสุดท้ายแล้วสินค้าเหล่านั้นก็จะส่งผ่านแฟลช เอ็กซ์เพรส ซึ่งในทางอ้อมเราก็ได้ประโยชน์”

การแข่งขันและแผนลงทุน

“คมสันต์” กล่าวว่า เดิมตั้งใจนำบริษัทเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯให้ได้ในปีนี้ แต่สถานการณ์พลิกผัน ทำให้ผลประกอบการกลับมาขาดทุน จึงต้องยืดออกไปอีก 2-3 ปี และปีนี้จะกลับมาโฟกัสการลงทุนพัฒนาความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น หลังเพิ่งระดมทุนรอบล่าสุดในซีรีส์ F ได้เงินมา 1.5 หมื่นล้านบาท (ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิม เช่น OR, SCB 10X, เดอเบล (กลุ่ม TCP), กรุงศรีฟินโนเวต เป็นต้น ทำให้มูลค่าบริษัทขยับขึ้นไป 70,000 ล้านบาท ซึ่งไม่เป็นไปตามเป้า เพราะตั้งไว้แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตาม เงินที่ได้มารอบล่าสุดจะใช้ลงทุนเผื่อไว้ 2-3 ปี โดยปีนี้จะนำไปลงทุนคลังสินค้าเพิ่ม ปรับปรุงระบบให้เสถียรขึ้น มีการนำเครื่องจักรมาใช้ทดแทนคน ทั้งมีโปรเจ็กต์ร่วมทุนกับ SC Asset พัฒนาพื้นที่คลังสินค้าและศูนย์กระจายพัสดุทั่วประเทศรวม 1 ล้าน ตร.ม. รวมถึงการจัดหายานยนต์สำหรับพื้นที่ห่างไกล และสนับสนุนทรัพยากรให้กิจการที่อยู่ในต่างประเทศทั้งหมด

สำหรับภาพรวมการแข่งขัน มองว่าผู้ประกอบการหันมาโฟกัสเรื่องความเสถียรของระบบคลังสินค้า เพราะเงินที่อัดฉีดลงไปกระตุ้นตลาดอีคอมเมิร์ซลดลง ทั้งปัญหา “ของหาย” ยังส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์แบรนด์โดยตรง ส่วนเรื่องความเร็วในการจัดส่ง ปัจจุบันไทยเป็นอันดับหนึ่งในอาเซียนอยู่แล้ว สามารถจัดส่งได้ภายใน 2 วัน ครอบคลุมทั้งประเทศ


แม่ทัพ “แฟลชกรุ๊ป” ทิ้งท้ายว่า กระแสความนิยมที่เพิ่มขึ้นในแพลตฟอร์ม TikTok ถือเป็นปัจจัยบวก ทำให้เกิดธุรกรรมอีคอมเมิร์ซกว่า 2 ล้านธุรกรรม เฉพาะในไทย 7 แสนธุรกรรม และ “แฟลช” เป็นผู้จัดส่งที่มีส่วนแบ่งตลาดกว่า 50% ซึ่งการใช้ TikTok กำลังเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานอีคอมเมิร์ซ และด้านการขนส่ง โดยเฉพาะในอินโดนีเซีย มีการส่งสินค้าจากการสั่งผ่าน TikTok ถึง 2 ล้านชิ้นต่อวัน และในไทยเองก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง