แฟลช กรุ๊ป ระดมทุนซีรีส์เอฟ 1.5 หมื่นล้าน

แฟลช เอ็กซ์เพรส

แฟลช กรุ๊ป ชี้บทเรียนปี 2565 เหตุอีคอมเมิร์ซซบเซา พร้อมเผยระดมทุน 1.5 หมื่นล้านบาท เตรียมเสริมแกร่งโครงสร้างพื้นฐานรุกอาเซียน

วันที่ 9 มกราคม 2566 นายคมสันต์ ลี ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจแฟลช กรุ๊ป (Flash Group) ผู้ให้บริการโลจิสติกส์สัญชาติไทยครบวงจร กล่าวถึงภาพรวมของธุรกิจในปี 2565 ที่ผ่านมา ว่าไม่เหมือนที่คิดไว้ เนื่องจากปี 2564 ธุรกิจอีคอมเมิร์ซเติบโตเเรงเกินไป ดังนั้นปีที่ผ่านมาจึงเริ่มชะลอตัว อีกส่วนคือต้นทุนการจัดการสูงขึ้น จากปัจจัยที่โควิดยังไม่หายไป พนักงานยังติดโควิดทำให้ต้องจ้างพนักงานทดแทนกว่า 7,500 คน อีกส่วนคือคลังสินค้าถูกปิดไป ส่วนสำคัญคือราคาน้ำมันพุ่งจาก 20 บาทไป 30-40 บาท ทำให้แฟลชกรุ๊ป ต้องหันมาปรับปรุงนโยบายและแผนภายในองค์กรเพื่อบริหารต้นทุนส่วนนี้

นอกจากนี้ แฟลช กรุ๊ป ได้ขยายกิจการเข้าไปในหลายประเทศ แต่ที่ประสบปัญหาที่สุดก็คือในลาว

“เราขยายไปในลาว ค่อนข้างเหนื่อย เราลงทุนเป็นเงินบาทเพื่อให้บริการเป็นเงินกีบ ปีนี้อัตราแลกเปลี่ยนผันผวนเมื่อแปลงรายได้กลับมาเป็นเงินบาทมันติดลบราว 40% นอกจากนี้ราคาน้ำมันในลาวยังพุ่งสูง 1 เท่าตัว”

คมสันต์ ลี
คมสันต์ ลี

นายคมสันต์กล่าวเสริมด้วยว่า มีการเจรจาหาพาร์ตเนอร์เพื่อช่วยลงทุนและบริหารแล้ว สถานการณืดีขึ้นตามลำดับ ส่วนการลงทุนในประเทศอื่น ๆ อย่าง มาเลเซีย ก็อยู่ในช่วงการจัดหากำลังคนคาดว่าในสิ้นปี 2566 แฟลช เอ็กเพรส จะกลายเป็นแพลตฟอร์ม Top 3 ของมาเลเซีย

ประเทศที่น่าสนใจที่สุดคือฟิลิปปินส์ที่มีอัตราการเติบโตอีคอมเมิร์ซเร็วมากเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน ด้วยปัจจัยบวกทั้งด้านประชากร ความพร้อมด้านโครงสร้างโทรคมนาคม และวัฒนธรรมชอบจับจ่ายออนไลน์คล้ายคนไทย

“ที่ฟิลิปปินส์เรามีพนักงานกว่าหมื่นคน เป็น Top 3 ของประเทศเรียบร้อยเเล้ว และน่าจะได้กำไรด้วย” นายคมสันต์กล่าว

นายคมสันต์เปิดเผยอีกด้วยว่า ปีที่ผ่านมามีแฟลช เอ็กเพรส มีการรับส่งพัสดุกว่า 700 ล้านชิ้น เฉลี่ยวันละ 2.4 ล้านชิ้น แต่รายได้ต่อชิ้นลดลง 15% ทำให้รายได้ในปีที่ผ่านมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปี 2564 หรือราว 1.76 หมื่นล้านบาท แต่ปีนั้นมีกำไร 6 ล้านบาท ในขณะที่ปี 2565 ที่ผ่านมารายได้เท่าเดิม แต่มีการขาดทุนจากต้นทุนสูงขึ้น ซึ่งตัวเลขการขาดทุนยังไม่อาจระบุได้แน่ชัด โดยการบริหารจัดการภายในมีการปรับเปลี่ยนพนักงานระดับผู้บริหารกว่า 20% เพื่อดึงคนที่สามารถช่วยจัดการต้นทุนได้ แต่สิ่งที่ไม่อาจควบคุมได้คือราคาน้ำมันที่สวิงขึ้นลง

นอกจากนี้ นายคมสันต์ยังเปิดเผยอีกด้วยว่าในช่วงเดือนธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา บริษัทได้เปิดระดมทุนรอบ ซีรี่ย์ F เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยได้รับการระดมทุนกว่า 1.5 หมื่นล้านบาท ในขณะที่มูลค่าบริษัทขณะนี้อยู่ที่ 7 หมื่นล้านบาท

นายคมสันต์กล่าวว่า เงินลงทุนนี้เผื่อไว้ 2-3 ปี โดยปีนี้จะเน้นลงทุนปรับปรุงคลังสินค้า ซึ่งทำร่วมกับ SC Asset ให้ได้ 1 ล้าน ตร.ม. และปรับปรุงคลังปัจจุบัน 10 แห่งให้ใช้เครื่องจักรทดแทนคน อีกส่วนคือ การจัดหายานยนต์สำหรับพื้นที่ห่างไกล และที่สำคัญคือการสนับสนุนกิจการที่อยู่ต่างประเทศทั้งหมด

โดยขณะนี้ แฟลช กรุ๊ป เริ่มขยายกิจการอยู่ 8 ประเทศในภูมิภาคอาเซียน ยกเว้นเมียนมาและบรูไน ซึ่งมีทั้งกลุ่มขนส่งโลจิสติกส์ (Flash Express) กลุ่มบริหารคลังสินค้า (Fullfillment) กลุ่มการเงิน (Flash Money, Flash Pay) และที่กำลังเติบโตร้อนแรงคือกลุ่มบริการด้านอีคอมเมิร์ซ (F Commerce) ที่แฟลชเป็นคนกลางให้ผู้ค้า/แบรนด์ และผู้ขาย/พรีเซ็นเตอร์มาพบกัน หรือเรียกว่า Multi Chanel Platform (MCN) บริการพื้นที่ไลฟ์สดขายของ ทำสัญญากับดารา/อินฟลูเอนเซอร์รวมถึงอบรมให้เป็นพรีเซ็นเตอร์และผู้ขายสินค้าให้แยรนด์ต่าง ๆ ทุกแพลตฟอร์ม (Tiktok Shop, Lazada, Shoppe) รวมถึงการบริการยิงโฆษณาออนไลน์บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ

นายคมสันต์กล่าวว่า ธุรกิจ MCN นี้มาแรงและจะโต 5-10 เท่า โดยปีที่ผ่านมารายได้จาก F Commerce ราว 5-6 ร้อยล้านบาท แต่ประเมินว่าปี 2566 รายได้จากธุรกิจกลุ่มนี้จะโตถึง 3-4 พันล้านบาท ซึ่งแฟลช กรุ๊ป ได้เตรียมขยายอาคารสำหรับไลฟ์ (Live Center) ในประเทศอินโดนีเซียให้ได้ 10 แห่งในสิ้นปีนี้ และเตรียมเริ่มทำไลฟ์เซ็นเตอร์ในไทยด้วย

“ธุรกิจเหล่านี้ทำให้เราสามารถเข้าไปได้ทุกแพลตฟอร์ม เราบริการสนับสนุนผู้ค้า แบรนด์ และแพลตฟอร์ม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่สนับสนุนโครงสร้างพื้นฐานอีคอมเมิร์ซที่สุดท้ายสินค้าเหล่านั้นก็จะถูกบีบให้ส่งผ่าน แฟลช เอ็กซ์เพรส ในทางอ้อมที่เราได้ประโยชน์อยู่ดี” นายคมสันต์กล่าว