กสทช. เตรียมปรับหลักเกณฑ์อนุญาตใช้สิทธิวงโคจรดาวเทียมใหม่

ดาวเทียมไทยคม

มติบอร์ด กสทช. รับรองผลการประมูลสิทธิเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม เตรียมแก้หลักเกณฑ์วิธีการอนุญาตใหม่โดยเร็ว หลังชุดแพ็กเกจดาวเทียม 1 และ 5 ขายไม่ออก หวั่นเสียสิทธิของประเทศ

วันที่ 18 มกราคม 2566 พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกิจการกระจายเสียง เปิดเผยว่า หลังจากจบการประมูลสิทธิการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมจำนวน 5 แพ็กเกจ เมื่อวันอาทิตย์ที่ 15 มกราคมที่ผ่านมา การประชุมบอร์ด กสทช.วันนี้ได้รับรองผลแล้วว่า 1) บริษัท สเปซเทค อินโนเวชั่น จำกัด ชนะการประมูล 2 แพ็กเกจชุด ได้แก่ ชุดที่ 2 และ 3 2) บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) ชนะการประมูลแพ็กเกจชุดที่ 4

พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์ยังเปิดเผยอีกด้วยว่า กสทช.มีความกังวลเกี่ยวกับแพ็กเกจดาวเทียมชุดที่ 1 และ 5 ที่ไม่มีผู้เข้าประมูลสิทธิ ทั้งนี้ แพ็กเกจดาวเทียมชุดที่ 1 กำลังหมดอายุใบอนุญาตในปีนี้ หากไม่มีดาวเทียมทดแทนบนวงโคจรตำแหน่ง 50 และ 50.5 องศาตะวันออก จะถูกสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ยึดสิทธิดังกล่าวจากประเทศไทย จะส่งผลให้ กสทช.ไม่สามารถรักษาสิทธิการเข้าใช้วงโคจร ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ กสทช. ตามมาตรา 60 แห่งรัฐธรรมนูญ ปี 2560

โดย กสทช.ได้มีการหารือและเห็นว่าต้องปรับปรุงแผน หลักเกณฑ์ และวิธีการอนุญาตให้เข้าใช้สิทธิวงโคจรดาวเทียมใหม่ สำหรับชุดแพ็กเกจที่เหลืออยู่โดยเร็วที่สุด ซึ่งมีหลายวิธี แต่ที่ผ่านมาใช้วิธีการประมูล คาดว่ากระบวนการปรับปรุงหลักเกณฑ์ใหม่ทั้งหมดจะเเล้วเสร็จใน 6 เดือน

“แพ็กเกจชุดที่ 1 และ 5 เป็นความหนักใจมาก เพราะไม่ว่าจะแก้ไขหลักเกณฑ์ เช่น ลดราคาประมูลก็โดนต่อว่า เพราะวงโคจรในตำแหน่งเหล่านี้หาผู้สนใจยาก ส่วนตัวเข้าใจว่าเพราะวงโคจรดังกล่าวไม่มี Footprint ในพื้นที่ประเทศไทย ทำให้เอกชนจะต้องไปหาลูกค้าจากต่างประเทศความต้องการจึงต่ำ

แต่หากจะไม่ทำอะไรแล้วปล่อยให้สิทธิวงโคจรทั้งสองนี้ถูกยึดคืนไป ก็จะถือว่า กสทช. ไม่สามารถรักษาสิทธิของประเทศตามรัฐธรรมนูญได้” พลอากาศโท ดร.ธนพันธุ์กล่าว

สำหรับชุดแพ็กเกจดาวเทียมที่บอร์ด กสทช.รับรอง เตรียมให้ใบอนุญาตต่อไป ได้แก่

1.บริษัท สเปซเทค อินโนเวชั่น จำกัด

ชุดที่ 2 ตำแหน่งวงโคจร 78.5E โดยมีเงื่อนไขว่า จะต้องมีการส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรดังกล่าวใน 3 ปี หลังได้รับใบอนุญาต

ชุดที่ 3 ตำแหน่งวงโคจร 119.5E และ 120E โดยมีเงื่อนไขสำคัญคือจะต้องวางแผนดูแลผู้ใช้งานดาวเทียมไทยคม 4 ที่กำลังหมดอายุทางวิศวกรรมราวเดือน ก.ย.นี้ จากนั้นต้องส่งดาวเทียมทดแทนไทยคม 4 ใน 3 ปี

2.บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT

ชุดที่ 4 ตำแหน่งวงโคจร 126E ซึ่งยังไม่สามารถยิงดาวเทียมได้ทันที เนื่องจากอยู่ระหว่างการประสานงานความถี่ จึงไม่ได้กำหนดว่าต้องส่งดาวเทียมในกี่ปี