Tokenine อัพสปีดธุรกิจ จุดพลุ โทเค็นดิจิทัล รับกฎใหม่

โดม เจริญยศ

งวดเข้ามาทุกขณะสำหรับเกณฑ์คุมโทเค็นดิจิทัล ล่าสุด ก.ล.ต.เผยแพร่หลักเกณฑ์การกำกับดูแลโทเค็นดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ที่มีลักษณะพร้อมใช้ หรือ utility token เมื่อวันที่ 26 ม.ค. 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งมีการปรับให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การใช้งาน และความเสี่ยงของ utility token พร้อมใช้

โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ

1.utility token พร้อมใช้ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อการอุปโภคบริโภค เช่น บัตรกำนัลดิจิทัลที่ออกในรูปของโทเค็น, โทเค็นที่ให้สิทธิในการแลกบัตรคอนเสิร์ต และงานศิลปะ, รูปภาพ, เพลง, แสตมป์ หรือวิดีโอในรูปแบบ nonfungible token (NFT) ซึ่งมีการให้สิทธิอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะเจาะจงแก่ผู้ถือ รวมถึงโทเคนที่ใช้แทนใบรับรองหรือแสดงสิทธิ์ต่างๆ เช่น ใบรับรองพลังงานทดแทน ใบกำกับภาษี และโฉนดที่ดิน

2.utility token พร้อมใช้ที่มีวัตถุประสงค์หลักเกี่ยวข้องกับการให้บริการทางการเงิน การลงทุน และการเก็งกำไร คล้ายกับผลิตภัณฑ์ในตลาดเงินตลาดทุน (financial product) ในบ้านเรา บรรดาโทเค็นดิจิทัลที่ออกสู่ตลาดส่วนใหญ่ มีชื่อ “โทเคไนน์” เป็นที่ปรึกษาเบื้องหลัง ในฐานะเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีบล็อกเชนโซลูชั่น

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ “โดม เจริญยศ” ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเคไนน์ จำกัด (Tokenine) หลากหลายแง่มุม ทั้งที่เกี่ยวกับเกณฑ์ใหม่และมุมมองต่อตลาดโทเค็นดิจิทัลในประเทศไทย

ไทย (อาจ) ดีที่สุดในโลก

ผู้ก่อตั้งและซีอีโอ “โทเคไนน์” กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังสำนักงาน ก.ล.ต.จัดทำร่างประกาศหลักเกณฑ์การกำกับดูแลโทเค็นดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ที่มีลักษณะพร้อมใช้ หรือ “utility token” และเผยแพร่เพื่อรับฟังความเห็น (hearing) ตนได้อ่านโดยละเอียดแล้ว

และเกิดความรู้สึกตื่นเต้นจนนอนไม่หลับ เพราะร่างหลักเกณฑ์คุม utility token ที่เสนอมานี้เป็นหลักเกณฑ์กำกับที่ชัดเจนที่สุดและอาจดีที่สุดในโลก ทำให้การนิยาม utility token ชัดเจนขึ้นมาก ตั้งแต่ลักษณะการใช้งาน ไปจนถึงการกำกับดูแล

“ก่อนหน้านี้ ประเทศเรามีความกังวลเกี่ยวกับโทเค็นดิจิทัลอยู่ 2 เรื่อง คือ 1.การเป็น means of payment (ใช้แทนเงิน) เป็นความกังวลของแบงก์ชาติ ซึ่งหลักเกณฑ์ใหม่ระบุชัดว่าการใช้โทเค็นดิจิทัลแบบใดถือว่าไม่เป็น means of payment”

“2.การที่โทเค็นดิจิทัลให้ผลตอบแทน จากการ stake (การฝากเพื่อรับผลตอบแทน) เป็นความกังวลของ ก.ล.ต.เพราะอาจเข้าข่ายหลักทรัพย์ ซึ่งในปี 2021 การ stake เติบโตมาก และ ก.ล.ต.ยอมปล่อยไป แต่วันนี้ไม่ยอมแล้ว”

สำหรับ utility token กลุ่มที่ 2 ที่นิยามชัดเจนว่าเป็นอะไรบ้าง อย่างการเอาไป stake นั้นจะต้องเพื่อยืนยันธุรกรรมบนบล็อกเชนเท่านั้น ส่วนโทเค็นที่ให้ผลตอบแทนอื่น ๆ ถ้าดูจากหมายเหตุในร่างหลักเกณฑ์จะมีการแก้ไข พ.ร.บ.หลักทรัพย์ให้เป็นหลักทรัพย์ภายหลัง

นิยามชัดนวัตกรรมเกิด

นายโดมกล่าวถึงข้อดีของการจำแนกโทเค็นดิจิทัลเป็น 2 ส่วนว่ามีข้อดีอย่างมาก โดยเฉพาะในส่วน utility token พร้อมใช้กลุ่มที่ 1

“ผมเรียกว่าแบ่งเป็น UT1 กับ UT2 โทเค็นแบบพร้อมใช้ที่แยกออกมาชัดเจนคือ UT1 ชัดว่าจะเกิดนวัตกรรมจากส่วนนี้มาก ก.ล.ต.มีความเข้าใจมากขึ้น เห็นได้เลยว่าเขาไม่สนว่าโทเค็นนั้นจะเป็น NFT หรือไม่ อะไรก็ตามที่ให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ถือครอง ไม่ว่าจะเป็นคะแนนบัตรเครดิต แต้มแลกกาแฟ หรือบัตรคอนเสิร์ตมือสอง จัดเป็น UT1″

“ซึ่งหลักเกณฑ์ใหม่บอกชัดว่า ไม่กำกับดูแล ปล่อยให้มีการซื้อขายเอง เพราะถือว่าผู้ซื้อขายรับรู้ถึงสิทธิประโยชน์ของโทเค็นนั้น ๆ อยู่แล้ว”

นอกจากนี้ สินค้าและบริการ หรือการตรวจสอบ ทำได้ทันทีหลังได้รับโทเค็น เช่น ซื้อโทเค็นที่เป็นบัตรคอนเสิร์ต ถ้าคนออกโทเค็นไม่จัดคอนเสิร์ต คุณก็ใช้กฎหมายอื่นฟ้องแพ่งได้อยู่แล้ว ดังนั้นความชัดเจนตรงนี้จะทำให้เกิดตลาดรองเพื่อซื้อขายโทเค็นที่มีสิทธิประโยชน์เหล่านี้

“ก.ล.ต.ยังไม่ต้องกลัวเรื่องปั่นราคา เพราะรายละเอียดของโทเค็นประเภทนี้ชัดเจน เช่น มี 1 โทเค็น แลกกาแฟ 1 แก้ว คุณจะซื้อกาแฟนี้ด้วยการปั่นราคาโทเค็นไปถึง 30,000 บาทไหม ไม่ใช่แค่นี้ นวัตกรรมฝั่ง UT1 ทั้งคูปองส่วนลด ตั๋ว หรือบัตรงานต่าง ๆ ที่เคยกระจัดกระจาย เมื่อขึ้นไปอยู่บนบล็อกเชนจะแลกเปลี่ยนกันได้”

อย่างเดอะวันพอยต์ มีการแลกแต้มมานานแล้ว หลายบริษัทก็มีแต้มของตัวเอง แต่ความยุ่งยาก คือเวลาจะแลกแต้มหรือสลับแต้มกันต้องเข้าแอปนู้นออกแอปนี้ แต่เมื่อแต้มเหล่านั้นเข้าสู่ระบบบล็อกเชน คุณมีแต้ม K Point อยู่ 200 แต้ม แต่อยากได้ส่วนลดจากร้าน The One ก็แค่เอาแต้ม K Point ไปแลกเปลี่ยนบนตลาดรอง หรือแพลตฟอร์มกลาง เพื่อเอามาใช้เป็นส่วนลดของคุณ เป็นต้น

“เรื่องแลกแต้มเห็นได้ง่าย แต่ที่ผมเห็นว่าจะโตที่สุดคือ เรื่องบัตรมือสอง พวกบัตรคอนเสิร์ต บัตรกีฬาที่เอามาซื้อขายกันข้างนอกเป็นตั๋วผีถูกหลอกกันก็มาก เมื่อตั๋วพวกนี้เป็นโทเค็นหรือเป็น NFT มีบล็อกเชนยืนยันว่ามีอยู่ จะเกิดความเชื่อมั่นในการซื้อขายบนตลาดรอง”

“และด้วยหลักเกณฑ์ใหม่ของ ก.ล.ต. ตลาดเหล่านี้ไม่ถูกควบคุม จึงจะมีน้อง ๆ รุ่นใหม่จำนวนมากที่เล็งเห็นและเข้ามาสร้างแพลตฟอร์มหรือนวัตกรรมเพื่อรับโอกาสที่จะเกิดขึ้น”

Tokenine ลุยรับโอกาสใหม่

นายโดมกล่าวด้วยว่า Tokenine กำลังทำโปรเจ็กต์บล็อกเชน และการปรับระบบแต้มหรือลอยัลตี้โปรแกรมให้ร้านค้าในเครือเจมาร์ท ซึ่งเป็นบริษัทแม่ แต่ยังมีพันธมิตรอีกมากที่เคยให้บริษัทออกเหรียญหรือโทเค็นต่าง ๆ ที่ต่อไปจะใช้ระบบหลังบ้านเดียวกันแปลงหลายอย่างเป็น UT1 และแลกเปลี่ยนได้

“ผมตื่นเต้นมากที่เห็นหลักเกณฑ์นี้รีบลุกมาจดโดเมนเนมเว็บไซต์ใหม่ เพื่อทำกระดานเทรดใหม่เป็นตลาดรองสำหรับสินทรัพย์ใหม่ ๆ เหล่านี้ ที่พูดไปมีทั้งเรื่องแต้ม คูปอง ตั๋ว นี่ง่ายที่สุด แต่หลักเกณฑ์เขียนครอบไว้แล้วว่าอนาคตจะมีทั้งโฉนดที่ดิน จนถึงคาร์บอนเครดิต นอกจากจะส่งผลดีต่อโปรเจ็กต์แปลงสินทรัพย์เป็นโทเค็นของเราแล้ว ยังจะสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ได้อีกมาก”

“โฟกัสของ Tokenine เป็นเรื่องนี้เลย ที่จะทำตลาดรองสำหรับโทเค็นประเภท UT1 เราพร้อมทันทีที่หลักเกณฑ์นี้ประกาศใช้เป็นทางการ เพราะแพลตฟอร์มมีหมดแล้ว การแลกเปลี่ยนคือระบบการ swap แบบที่เราใช้กันใน DeFi มาตั้งหลายปีแล้ว พร้อมใช้เลย”

แก้ปัญหาตรงจุด

นายโดมกล่าวถึง utility token พร้อมใช้แบบที่สอง (UT2) ว่า โดยพื้นฐานแล้วโทเค็นเหล่านี้ยังคลุมเครือ แต่ยังมีกระบวนการ ICO Portal ช่วยคัดอยู่ ด้วยยังมีลักษณะการระดมทุนหรือใช้ในโครงการต่าง ๆ ซึ่งร่างหลักเกณฑ์นี้ระบุตัวอย่างชัดขึ้น เช่น

โทเค็นเพื่อค่าธรรมเนียมบล็อกเชน (gas fee) เพื่อเป็นผู้ตรวจสอบธุรกรรมบล็อกเชน (proof of stake) เป็นการใช้เพื่อซื้อหรือเล่น GameFi หรือเพื่อโหวตออกเสียงในโปรเจ็กต์ต่าง ๆ เป็นต้น

“ชัดเจนว่า ก.ล.ต.ปรับปรุงอย่างมาก และศึกษาจนเข้าใจรายละเอียดถึงการใช้งานโทเค็นดิจิทัลอย่างดี เช่น คนในวงการสินทรัพย์ดิจิทัลรู้ดีว่าช่วงที่เสนอขายโทเค็นแบบ UT2 จะมีการ whitelist หรือขายหรือกระจายเหรียญล่วงหน้าให้คนจองก่อน เพื่อนำเงินไปทำโปรเจ็กต์หรืออะไรก็ตาม พวกนี้จะได้โทเค็นในราคาถูก เรียกว่า เหรียญต้นน้ำเมื่อมีการลิสต์โทเค็นเหล่านี้บนกระดานให้คนทั่วไป ราคาจะแพงขึ้น”


“ซึ่งไม่แฟร์อย่างมาก และเป็นการปั่นราคาเกินควร ก.ล.ต.เข้าใจจุดนี้ จึงระบุในหลักเกณฑ์ด้วยว่า ห้ามขายหรือกระจาย utility token พร้อมใช้กลุ่มที่ 2 แก่บุคคลอื่นภายในระยะเวลาที่กำหนด (silent period) 6 เดือน นี่เป็นตัวอย่างรายละเอียดที่ทำการบ้านมาอย่างดี”