คนซื้อไอโฟนลดลง ? Foxconn ยอดขายร่วง 11.7%

Foxconn ฟ็อกซ์คอน ไอโฟน จีน
(Photo by Sam Yeh / AFP)

โรงประกอบไอโฟน Foxconn รายได้ร่วง 11.7% แม้โรงงานในเจิ้งโจวเปิดปกติ ชี้อุปสงค์ไอโฟนยังไม่แน่นอน เล็งลงทุน 700 ล้านเหรียญสหรัฐ ย้ายฐานไปอินเดีย

วันที่ 6 มีนาคม 2566 บลูมเบิร์ก รายงานว่า Hon Hai Precision Industry Co. บริษัทแม่ของ Foxconn ซัพพลายเออร์ของ Apple Inc. มียอดขายในเดือนกุมภาพันธ์ลดลง 11.7% เมื่อเทียบกับปีก่อน แม้ว่าบริษัทผู้ผลิตและประกอบโทรศัพท์ไอโฟนจะได้แรงหนุนจากการเปิดเมืองและเปิดโรงงานในจีนก็ตาม

Foxconn เปิดเผยว่า รายรับต่อเดือนลดลงเหลือ 4 แสนล้านเหรียญไต้หวัน (ราว 1.3 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ) ในเดือนที่แล้ว ถึงกระนั้น แนวโน้มไตรมาสแรกก็ยังใกล้เคียงกับการคาดการณ์ของตลาด ตามตัวเลขยอดขายในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา

ผลผลิตที่โรงงานประกอบ iPhone ขนาดใหญ่ของบริษัท ในเมืองเจิ้งโจว สาธารณรัฐประชาชนจีน ส่วนใหญ่กลับมาดำเนินการตามปกติตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา หลังจากการหยุดชะงักจากการระบาดของโควิดและการประกาศล็อกดาวน์เมืองใหญ่ของรัฐบาลปักกิ่ง

ความสนใจอยู่ที่แม้ความนิยมของ iPhone ยังมีอยู่ แต่อุปสงค์หรือความต้องการโดยรวมในสินค้าสมาร์ทโฟนทั่วโลกยังมีความไม่แน่นอน

ลงทุน 700 ล้านเหรียญในอินเดีย เพิ่มการผลิต

นอกจากนี้ Hon Hai ยังวางแผนที่จะลงทุนประมาณ 700 ล้านเหรียญสหรัฐ ในโรงงานแห่งใหม่ที่อินเดีย เพื่อเพิ่มการผลิตที่นั่น เนื่องจากผู้ผลิตจำนวนมากย้ายออกจากจีนเพื่อลดผลเสียที่อาจเกิดขึ้นจากความตึงเครียดระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน

ก่อนหน้านี้ Apple Inc. ก็ได้เคลื่อนไหวที่แสดงออกชัดว่าจะถอยห่างจากจีนและมุ่งสู่อินเดียมากขึ้น ตามรายงานของบลูมเบิร์ก ระบุข้อมูลการส่งออกของ Apple ในช่วงเดือนเมษายน-ธันวาคมปีที่แล้ว พบว่าแอปเปิลส่งออกโทรศัพท์ไอโฟนจากอินเดียเป็นมูลค่า 2.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า เป็นการส่งออกโดย 2 ซัพพลายเออร์รายใหญ่ นั่นคือ “Foxconn Technology” และ “Wistron Corp.” ซึ่งเป็นบริษัทไต้หวันทั้งคู่ โดยทั้งสองมีโรงงานผลิตอยู่ในรัฐทมิฬนาฑู ทางใต้ของอินเดีย


การส่งออก iPhone จากอินเดียที่เพิ่มขึ้น ปรากฏชัดหลังจากเกิดเหตุประท้วงครั้งใหญ่ของพนักงานโรงงาน Foxconn เมืองเจิ้งโจวของจีน ที่ได้ชื่อว่าเป็น “เมืองไอโฟน” เนื่องจากเป็นสถานที่ผลิตไอโฟนระดับไฮเอนด์ ผลิตรุ่น 14 โปร และโปรแมกซ์ สาเหตุการประท้วงเกิดจากความไม่พอใจเรื่องค่าจ้างและความเข้มงวดเรื่องมาตรการป้องกันโควิด เนื่องจากในขณะนั้นรัฐบาลจีนยังใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ ในเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว