แกร็บย้ำ ค่าตอบแทนไรเดอร์ คำนวณอย่างเหมาะสม

แกร็บแจง ค่าตอบแทนไรเดอร์มีความแตกต่างกันตามพื้นที่และบริบท แต่คำนวณอย่างเหมาะสม ย้ำ “บาลานซ์” ประโยชน์ร่วมกันระหว่างไรเดอร์ ร้านค้า ผู้ใช้ และแพลตฟอร์ม ชูขับเคลื่อน 4 ธุรกิจหลัก ปี 2566

วันที่ 9 มีนาคม 2566 นายวรฉัตร ลักขณาโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ แกร็บ ประเทศไทย เปิดเผยถึงภาพรวมความสำเร็จในปี 2565 พร้อมตั้งกลยุทธ์หลักขับเคลื่อนธุรกิจในปี 2566 ทั้ง 4 ธุรกิจหลัก อันได้แก่ บริการการเดินทาง (Mobility) บริการเดลิเวอรี่ (Deliveries) บริการทางการเงิน (Financial Services) และบริการสำหรับองค์กร (Enterprise)

ในการเปิดเผยกลยุทธ์ปี 2566 นายวรฉัตรยังได้กล่าวถึงการส่งเสริมและพัฒนามาตรการสำหรับไรเดอร์ ทั้งการทำประกันภัย หรือบริการด้านการเงินให้เข้าถึงสินเชื่อซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ จนถึงรถยนต์ไฟฟ้า ในปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ให้ทำงานอย่างมีความสุขขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในปีที่ผ่านมามีการประท้วงของพาร์ตเนอร์คนขับหรือไรเดอร์ ในเรื่องค่าตอบแทนและระบบการแจกจ่ายงานที่กระทบกับคนขับ ล่าสุด คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เปิดเผยว่า มีการร้องเรียนจากตัวแทนของไรเดอร์ทุกแพลตฟอร์มแห่ร้องเรียนเรื่องเก็บค่าส่วนแบ่งรายได้ กำหนดราคาร่วมกันอย่างไม่เป็นธรรม

นายวรฉัตรกล่าวว่า เรื่องรายได้หรือค่าตอบแทนนั้น โดยธรรมชาติไม่เท่ากันตามบริบทของพื้นที่และค่าแรงขั้นต่ำ ในหลายประเทศก็มีความต่างกัน อย่างเช่นไทยก็เทียบกับสิงคโปร์ไม่ได้ ไทยเองจะอยู่ในค่าแรงเทียร์กลาง ต่างจังหวัดก็ต้องต่างจากกรุงเทพฯ แม้กระทั่งในกรุงเทพฯเองก็มีการคำนวณค่าแรงที่ต่างกัน ประเภทงานก็ต้องเป็นปัจจัยในการคำนวณค่าตอบแทน ตลอดจนช่วงเวลาที่รับงาน ถ้าเป็นช่วงเวลาเร่งด่วนก็อีกราคาหนึ่ง เป็นต้น ซึ่งแกร็บมีตารางแรงตอบแทนส่งถึงไรเดอร์แต่ละพื้นที่อยู่แล้ว

การประท้วงหรือการเรียกร้องของไรเดอร์ โดยเฉพาะเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา เป็นความเข้าใจผิดว่าเขาเรียกร้องค่าแรง แต่เขาเรียกร้องเรื่อง “ระบบงาน” มากกว่า เนื่องจากระบบที่เราเรียกว่า Shift ทำให้หลายคนรู้สึกไม่พอใจ เพราะระบบนี้คือการ “แนะนำ” คนขับให้เลือกทำงานในพื้นที่และเวลาที่มีโอกาสได้รับงานมากกว่า ตามข้อเท็จจริงว่าถ้าพี่คนขับอยู่ในพื้นที่พระราม 3 จะมีงานหนาแน่นเท่าย่านสีลม สาทร ก็เป็นไปไม่ได้ แต่ระบบดังกล่าวนี้บางคนไม่ชอบ แต่ถ้าไม่อยากทำก็ย่อมได้ เพราะเป็นเพียงแค่การแนะนำ

นายวรฉัตรกล่าวอีกด้วยว่า เรื่องค่าแรงหรือค่าตอบแทน ต้องคำนวณตามความเหมาะสม และต้อง “บาลานซ์” 4 เสาหลักของแพลตฟอร์ม คือ 1.ผู้ใช้งาน 2.พาร์ตเนอร์คนขับ 3.พาร์ตเนอร์ร้านค้า และ 4. ตัวแพลตฟอร์มเอง ถ้าขึ้นค่าตอบแทนก็ย่อมกระทบกับร้านค้า ร้านค้าขึ้นราคาก็กระทบผู้ใช้งาน ดังนั้นสิ่งที่แกร็บต้องทำคือบาลานซ์ให้เกิดประโยชน์เหมาะสม ทั้งพาร์ตเนอร์คนขับก็ต้องได้รับงานและค่าตอบแทนที่เหมาะสม ร้านค้าก็ต้องมียอดขายเติบโต ไม่อย่างนั้นก็ไม่มีแพลตฟอร์มและต้องออกจากตลาดไป

นอกจากนี้ การส่งเสริมพาร์ตเนอร์คนขับและพาร์ตเนอร์ร้านค้า ยังเป็นส่วนสำคัญของแผนระยะ 3 ปีของแกร็บ แบ่งเป็น 3 ส่วน คือ

1) Profit ที่มุ่งเน้นการเติบโตอย่างยั่งยืนจากการทำกำไรจากโมเดลธุรกิจต่าง ๆ ไม่ว่าการเรียกรถ ดีลิเวอรี่ ไฟแนนซ์ และกลุ่มธุรกิจใหม่คือธุรกิจองค์กร ซึ่งไม่ใช่เพียงการสร้างผลกำไรของบริษัท แต่จะต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกให้กับทั้งพาร์ตเนอร์คนขับ พาร์ตเนอร์ร้านค้า ผู้ใช้บริการ รวมถึงสังคมโดยรวม

2) มุ่งส่งเสริมรูปแบบการทำงานของโลกยุคใหม่ การเข้าถึงและใช้ประโยชน์เทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงการสร้างความยั่งยืนให้กับสิ่งแวดล้อม อย่างเช่น การนำระบบชดเชยคาร์บอนจากการขนส่ง หรือการหาวิธีลดและรีไซเคิลขยะบรรจุภัณฑ์

3) เป็นเรื่องของการสร้างคน สร้างความเชื่อมั่นสู่การเป็นแบรนด์ที่ทุกคนรัก ที่อยู่ในใจทุกคน โดยเริ่มตั้งแต่การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดีให้กับพนักงาน การปลูกฝังเรื่องธรรมาภิบาล พร้อมปั้นทรัพยากรบุคคลให้กลายเป็นผู้นำองค์กรที่มีคุณภาพ เพื่อพัฒนาธุรกิจให้เติบโตยั่งยืน”

“ภายหลังดำเนินธุรกิจในประเทศไทยมาเป็นเวลา 10 ปี แกร็บยังคงเดินหน้าสานต่อพันธกิจ Grab For Good เพื่อมุ่งสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยในปีนี้ เราจะมุ่งเน้นไปที่ 2 กลยุทธ์สำคัญ นั่นคือ “Power of Superapp” ที่มุ่งผสานความร่วมมือและการทำงานของทุกธุรกิจในอีโคซิสเต็มของแกร็บให้เกิด Synergy และเอื้อประโยชน์ต่อกัน  และ “Operational Efficiency” ที่จะดึงนวัตกรรมและเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพสูงสุดในทุกกระบวนการทำงานของแกร็บ เพื่อขับเคลื่อน 4 กลุ่มธุรกิจหลัก อันได้แก่ บริการการเดินทาง บริการดีลิเวอรี่ (รับส่งอาหาร สินค้าและพัสดุ) บริการทางการเงิน และบริการสำหรับองค์กร”

สำหรับในปี 2566 แกร็บ ประเทศไทย มีแผนที่จะขับเคลื่อน 4 กลุ่มธุรกิจ ดังนี้ 

บริการการเดินทาง (Mobility) โดยมุ่งเน้นไปที่ 3 ประเด็นหลัก คือ

  • กระดับมาตรฐานเสริมความเชื่อมั่น โดยยังคงให้ความสำคัญกับมาตรฐานด้านความปลอดภัย ซึ่งถือเป็นจุดเด่นของแกร็บและเป็นปัจจัยหลักที่ผู้ใช้บริการให้ความสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาหรืออัพเกรดเทคโนโลยีใหม่ ๆ รวมไปถึงการกำหนดและควบคุมมาตรฐานการให้บริการของพาร์ตเนอร์คนขับอย่างเข้มงวด เป็นต้น
  • รุกตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเน้นยกระดับบริการเพื่อรองรับการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คาดว่าจะเดินทางเข้ามาประเทศไทยถึง 28 ล้านคน ด้วยการจับมือกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อสร้างประสบการณ์การเดินทางที่ดีอย่างไร้รอยต่อ ตั้งแต่สนามบิน รวมไปถึงการพัฒนาแอปพลิเคชั่นให้ตอบรับการใช้งานของชาวต่างชาติ
  • เจาะตลาดพรีเมี่ยม ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งเซ็กเมนต์ที่มีพฤติกรรมการใช้จ่ายสูง โดยเราเตรียมส่งแคมเปญพิเศษเจาะตลาดกลุ่มนี้ พร้อมเพิ่มจำนวนพาร์ตเนอร์คนขับที่ให้บริการเรียกรถด้วยรถยนต์ไฟฟ้า เพื่อให้สามารถตอบรับความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น

บริการดีลิเวอรี่ (Deliveries) โดยมี 3 ไฮไลต์สำคัญ คือ

  • ตอกย้ำในด้านคุณภาพ (Quality) ของทั้งร้านอาหารบนแพลตฟอร์มและการให้บริการ โดยยังคงชูโรงซับแบรนด์ #GrabThumbsUp ที่คัดสรรและรวบรวมร้านอร่อยชื่อดังจากทั่วประเทศมาสร้างประสบการณ์ความอร่อยให้กับผู้ใช้บริการ พร้อมเตรียมเปิดตัวแคมเปญและกิจกรรมพิเศษเพื่อมัดใจผู้ใช้บริการในเร็ว ๆ นี้
    เพิ่มประสิทธิภาพในการจัดส่งอาหารและสินค้า (Efficiency) ด้วยเทคโนโลยีและระบบบริหารจัดการต่าง ๆ เช่น การพัฒนาระบบแผนที่ และระบบคำนวณเวลารออาหาร เพื่อเพิ่มความแม่นยำ และลดเวลาในการจัดส่งสินค้า
  • เน้นสร้างฐานสมาชิกและความภักดีของผู้ใช้บริการ (Loyalty) ผ่านแพ็กเกจสมาชิก GrabUnlimited ด้วยสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้น พร้อมกับส่วนลดที่ครอบคลุมทุกบริการของแกร็บ
  • บริการทางการเงิน (Financial Services) : โดยยังคงมุ่งส่งเสริมการเข้าถึงโอกาสทางเงินให้กับพาร์ตเนอร์คนขับ-ร้านค้า ไม่ว่าจะเป็นการขยายวงเงินสินเชื่อสำหรับพาร์ตเนอร์ร้านค้าสูงสุดถึง 500,000 บาท เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนให้กับผู้ประกอบการร้านอาหารในการขยายธุรกิจและเสริมสภาพคล่อง หรือการขยายผลิตภัณฑ์ทางการเงินรูปแบบใหม่สำหรับพาร์ตเนอร์คนขับ อาทิ บริการสินเชื่อสำหรับผ่อนชำระสินค้าอื่น ๆ เช่น ทองคำ เครื่องใช้ไฟฟ้า และรถจักรยานยนต์ รวมไปถึงการนำเสนอผลิตภัณฑ์ประกันภัยสำหรับบริการเรียกรถผ่านแอปพลิเคชั่น เพื่อสร้างความอุ่นใจให้กับทั้งพาร์ตเนอร์คนขับและผู้ใช้บริการ
  • บริการสำหรับองค์กร (Enterprise) : โดยผลักดันบริการซูเปอร์แอปสู่ภาคธุรกิจ ผ่าน Grab for Business โซลูชั่นที่จะช่วยบริหารจัดการทุกบริการของแกร็บสำหรับลูกค้าองค์กร ซึ่งทำให้ลูกค้าสามารถบริหารจัดการเวลา และค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น พร้อมบุกตลาดโฆษณาเต็มรูปแบบ โดยชู GrabAds สื่อโฆษณามาแรงบนซูเปอร์แอปอย่าง Grab ที่จะช่วยให้นักการตลาดสามารถเจาะลึกพฤติกรรมผู้บริโภค และเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้อย่างตรงกลุ่มเป้าหมายและแม่นยำ