รู้จัก Atome แพลตฟอร์ม BNPL ไม่ใช่กับดัก “หนี้” แต่เป็นตัวช่วยจัดการเงิน

ภูมิพงษ์ ตันเจริญผล
สัมภาษณ์

Atome (อาโตมี่) เป็นแพลตฟอร์มบริการ “ซื้อก่อนจ่ายทีหลัง” (Buy Now Pay Later) ที่เปิดตัวในประเทศไทยเมื่อเดือนกันยายน 2564 ปัจจุบันสามารถสร้างยอดขายรวมไปได้แล้วมากกว่า 1 พันล้านบาท ล่าสุดเดินหน้าจับมือกับแบรนด์สินค้าดัง ๆ อีกกว่าพันแบรนด์ เพื่อรุกคืบขยายลูกค้าเจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะ

บริการ Buy Now Pay Later หรือ BNPL เป็นบริการทางการเงินที่ต่างไปจากระบบการเงินแบบเดิม ๆ คือ ลูกค้าจะได้สินค้าหรือบริการมาใช้ได้ก่อน โดยยังไม่ต้องจ่ายค่าสินค้าหรือบริการนั้น ๆ โดยเลือกได้ว่าจะจ่ายทีเดียวทั้งก้อนในภายหลัง หรือแบ่งจ่ายเป็นงวด ๆ ก็ว่ากันไป

รู้จักบริการ BNPL

BNPL แบ่งเป็น 3 แบบ คือ 1.pure pay จะเป็นแพลตฟอร์ม BNPL ที่เป็นเกตเวย์โดยเฉพาะ 2.close ecosystem บริการจ่ายทีหลังที่ใช้ในระบบนิเวศตัวเอง เช่น SPayLater ของ Shopee และ 3.บริการ BNPL โดยธนาคาร

“ภูมิพงษ์ ตันเจริญผล” ผู้จัดการทั่วไป Atome ประจำประเทศไทย บอกว่า ในตลาดโลกมีบริการ BNPL มานานแล้ว แต่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงประเทศไทยยังค่อนข้างใหม่ สำหรับ Atome ถือเป็นผู้ให้บริการเพย์เมนต์เกตเวย์ BNPL และแอปพลิเคชั่นช็อปปิ้งสินค้าไลฟ์สไตล์ ซึ่งที่่ผ่านมาได้รับการตอบรับที่ดีจากตลาด จากมูลค่ายอดขายที่ทำได้มากกว่าพันล้านบาทแล้ว

“เทคโนโลยีการเงิน หรือฟินเทค พัฒนาอย่างมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ประชากรยังสามารถเข้าถึงระบบธนาคารได้ยาก เทคโนโลยีเข้ามาอำนวยความสะดวกตรงนี้ เราเองอยู่ในเส้นทางที่ถูกต้องของฟินเทค ทำให้มีแนวโน้มการเติบโตที่ดี โดยตลาด Buy Now Pay Later ทั่วโลกมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 50% ต่อปี และคาดว่าจะโตได้ถึง 16 เท่าจาก 893 ล้านเหรียญเป็น 1.8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐภายในปี 2028”

ซึ่งแนวโน้มการเติบโตในไทยก็ถือว่าดี เพราะไทยมีอัตราการปรับใช้ฟินเทคเป็นอันดับ 3 ของโลก เป็นรองแค่จีนและอินเดียเท่านั้น ซึ่งกรณีของอินเดียก็จะเห็นว่าประชากรส่วนใหญ่ยังเข้าไม่ถึงระบบธนาคาร

สำหรับประเทศไทย สัดส่วนประชากรที่เข้าไม่ถึงระบบธนาคารมีน้อยมาก และภาคธนาคารเองก็มีความแข็งแกร่งในการพัฒนาบริการ “ฟินเทค” ต่าง ๆ ตัวอย่างระบบคิวอาร์โค้ดและโมบายแบงกิ้ง ที่ทุกธนาคารร่วมมือกันทำให้เกิดขึ้นได้ คนใช้จึงไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียม เรียกว่า ตอนนี้หันไปทางไหนประชาชนก็ใช้จ่ายผ่านคิวอาร์โค้ดกันหมด

“อีกส่วน คือ ความแข็งแกร่งด้านสินทรัพย์สำรอง ธนาคารบ้านเราได้บทเรียนจากปี 2540 จึงมีการเตรียมรับมือทำให้สถานะค่าเงินบาทแข็งแกร่งอย่างมาก”

เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่

“ภูมิพงษ์” กล่าวว่า Atome หลังเปิดมา 1 ปีกับอีก 1 ไตรมาส มีจำนวนผู้ใช้บริการ 7.5 แสนราย มีสัดส่วนเป็นกลุ่มผู้หญิงมากกว่า 78% เนื่องจากสินค้าส่วนใหญ่เป็นไลฟ์สไตล์ แฟชั่น และบิวตี้ เมื่อเจาะลงไป ยังพบอีกว่า กลุ่มผู้ใช้ส่วนใหญ่เป็นกลุ่ม first jobber, กลุ่ม generation Z และ millennial ที่มีอายุราว 20-35 ปี มีสัดส่วนมากถึง 45% จากทั้งหมด 7.5 แสนราย

“พาร์ตเนอร์หรือแบรนด์สินค้าที่วางขายบนแพลตฟอร์มของเราก็ต้องการเจาะลูกค้าเช่นกัน เพื่อสร้าง brand loyalty เพราะหากพวกเขาชื่นชอบก็จะมีเวลาอีกมาก เรียกว่าสามารถเลือกซื้อของจากแบรนด์ที่ชอบไปได้อีกนับเป็น 10 ๆ ปี

นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานที่เห็นชัดตั้งแต่หลังโควิดก็มีส่วนสำคัญ อีกทั้งกลุ่มคนรุ่นใหม่เหล่านี้ การเข้าถึงการเงินแบบเก่า หรือบัตรเครดิตจะยากกว่า เพราะต้องใช้เอกสารทางการเงินจากการทำงานแบบเดิม ๆ ทำให้เขาหันมาสนใจใช้บริการ Buy Now Pay Later มากขึ้น”

BNPL ไม่เกี่ยวหนี้ครัวเรือน

“ภูมิพงษ์” กล่าวถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนในประเทศไทยด้วยว่า จำนวนมากเป็นหนี้สินที่เกิดจากการใช้เพื่อการบริโภคที่ไม่ได้วางแผน หรือได้วงเงินมา แต่ยังไม่รู้ว่าจะทำอะไร จึงจับจ่ายใช้สอยไปเรื่อย ๆ เมื่อทับถมพอกพูนก็เป็นปัญหาขึ้นมา

ขณะที่ BNPL โดยเฉพาะแบบ pure pay แบบ Atome ถือเป็น “หนี้” ที่มี “สิ่งของหรือสินค้า” เป็นหลักประกัน กล่าวคือ ลูกค้าจะรู้อยู่แล้วว่าจะซื้ออะไร และคำนวณแล้วว่ามีกำลังพอจ่ายได้ใน 3 เดือน จึงตัดสินใจใช้บริการ BNPL แบบ pure pay ทำให้คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 0.1% ของหนี้ครัวเรือนทั้งหมด

โดยเฉลี่ยในหนึ่งยอดบิลของ Atome จะอยู่ที่ 2,500 บาท มีการแบ่งจ่าย 3 เดือน โดยยอดบิลสูงสุดจะอยู่ที่ 2-3 หมื่นบาท เป็นการซื้อสินค้าที่ได้ของไปอยู่แล้ว โดยแพลตฟอร์มมีการคำนวณให้ผู้ใช้ดูล่วงหน้าว่าแบ่งจ่ายไหวไหม

“เรามองว่า การผ่อนจ่าย กับการกู้เงินมาซื้อ มีความแตกต่างกัน ดังนั้นความกังวลเรื่องหนี้เสีย จะต้องพิจารณาหนี้ที่เกิดจากการใช้เกินตัว และหนี้นอกระบบมากกว่า”

อย่างไรก็ตาม การแบ่งจ่ายต้องพึ่งพาข้อมูลและการวิเคราะห์ผู้ใช้แล้วว่ามีความพร้อมที่จะชำระเงินมากน้อยเพียงใด ทำให้แม้จะยังมีกลุ่มที่ผิดนัดชำระอยู่บ้าง แต่ไม่ถึง 1% เท่านั้น เนื่องจากมีการใช้เทคโนโลยีวิเคราะห์พฤติกรรมเสี่ยง หรือพฤติกรรมที่ผิดปกติ และไม่มีการซื้อขายสิ่งของที่มีสถานะเทียบได้กับเงิน หรือแปลงเป็นเงินได้ง่าย เช่น ทองคำ เป็นต้น และพยายามที่จะกำหนดเพดานไม่ให้เกิด NPL เกินระดับ early single digit

โฟกัส 4 จุดอัพสปีดธุรกิจ

สำหรับ Atome ประเทศไทยในปีนี้จะโฟกัส 4 ด้าน คือ 1.การเพิ่มยอดผู้ใช้งานและพาร์ตเนอร์ ให้เติบโต 2-3 เท่า ปัจจุบันมีผู้ใช้ 7.5 แสนราย คิดเป็นแค่ 1% ของประชากรในประเทศ ขณะที่ Atome ในบางประเทศมีผู้ใช้คิดเป็นสัดส่วนกว่า 20% ของจำนวนประชากรในประเทศนั้น ๆ จึงมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก 2.โฟกัสการขยายพาร์ตเนอร์เข้าไปยังระบบนิเวศแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ และ “ธนาคาร” ในประเทศ

“ธนาคารไทยถือว่าแข็งแกร่ง และเป็นผู้ที่มีต้นทุนการเงินที่ดีกว่า ขณะที่ Atome มีต้นทุนการบริหารจากเทคโนโลยีที่พัฒนาโดยบริษัทแม่ที่ดีกว่า (บริษัท Advance Intelligence Group หรือ AI Group สตาร์ตอัพด้านฟินเทคระดับยูนิคอร์นรายแรกของสิงคโปร์) ดังนั้นหากนำจุดแข็งมาผสมกันจะทำให้ได้ต้นทุนการเงินที่ต่ำลง”

3.สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนจากการขยายฐานผู้ใช้งานให้เกิดเป็นฐานข้อมูลขนาดใหญ่ เมื่อนำข้อมูลที่มีมารวมกับพาร์ตเนอร์ หรือ third party จะทำให้การวิเคราะห์สินเชื่อทำได้ดียิ่งขึ้น และสุดท้าย 4.การทำงานร่วมกับหน่วยงานกำกับดูแลอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้น

ความเสี่ยงและอุปสรรค

“ภูมิพงษ์” กล่าวถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดได้เนื่องจากภาวะทางเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนว่า มีอุปสรรคและปัญหา 2 ประการ คือ 1.เรื่องดอกเบี้ยขาขึ้น ทำให้ต้นทุนการเงินสูงขึ้น

“เมื่อดอกเบี้ยเป็นขาขึ้น ต้นทุนการปล่อยกู้ก็จะเพิ่มขึ้น ซึ่งการจะไปชาร์จค่าใช้จ่ายเพิ่มจากพาร์ตเนอร์ ตามต้นทุนที่เพิ่มขึ้นทำได้ยาก”

2.ความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ส่งผลกับการทำตลาดสินค้าไลฟ์สไตล์

“แม้โดยส่วนตัวจะคิดว่าเศรษฐกิจไทยจะเติบโต เนื่องจากปัจจัยบวกของการเปิดเมือง และความแข็งแกร่งของระบบธนาคาร ค่าเงิน และสินทรัพย์สำรองที่ได้บทเรียนมาตั้งแต่ปี 2540 แต่จากสถานการณ์โลกและความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ ที่จะส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้าไลฟ์สไตล์ซึ่งเป็นสินค้าหลักบนแอปพลิเคชั่นของเรา

แม่ทัพ Atome ประเทศไทย ทิ้งท้ายว่า บริการใช้ก่อนจ่ายทีหลัง ไม่ใช่การใช้เงินเกินตัว หากสามารถบริหารจัดการได้อย่างถูกวิธีก็จะเป็นตัวช่วยในการจัดการเรื่องการเงินได้