ส่องกระแส ChatGPT

ส่องกระแส ChatGPT

ตั้งแต่ ChatGPT เปิดตัวเมื่อ 30 พ.ย. 2565 ก็มีการพูดถึงแชตบอตตัวนี้อย่างล้นหลามในหลายแวดวง เนื่องจาก ChatGPT มีระบบ AI ที่หาคำตอบให้คู่สนทนาได้อย่างรวดเร็ว ด้วยภาษาที่เป็นธรรมชาติ และตอบคำถามที่ซับซ้อนได้ โดยระบบจะรวบรวมข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตทั่วโลก แล้วประมวลผลเพื่อหาคำตอบให้ผู้ใช้ ทำให้มีการพูดถึงความฉลาด และการนำความสามารถของ ChatGPT มาใช้ประโยชน์ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อหลากหลายอุตสาหกรรมในวงกว้าง

บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้เก็บข้อมูลตั้งแต่ 27 พ.ย. 2565 ถึง 12 มี.ค. 2566 ด้วยเครื่องมือ ZOCIAL EYE พบว่ามีเอ็นเกจเมนต์ทั้งสิ้น 1,811,162 เอ็นเกจเมนต์ และมีข้อความที่พูดถึง ChatGPT 12,452 ข้อความ โดยพบเอ็นเกจเมนต์มากที่สุดในช่องทาง Facebook คิดเป็น 50.82%, Twitter คิดเป็น 28.65% และอื่น ๆ ได้แก่ ช่องทางข่าว (News), Youtube, Instagram, และ Forum ตามลำดับ

หลังเปิดตัว ChatGPT เอ็นเกจเมนต์ที่เกิดขึ้นจะสูงขึ้นอย่างรวดเร็วผ่านช่องทาง TikTok จากนั้นเริ่มมีการพูดถึงความเคลื่อนไหวในแวดวงเทคโนโลยีที่เกี่ยวกับ ChatGPT ผ่าน Facebook มากเป็นอันดับหนึ่ง สอดคล้องกับการเป็นโซเชียลมีเดียที่มีจำนวนผู้ใช้งาน (active user) สูงที่สุด เมื่อเทียบกับช่องทางอื่น ๆ

ส่วน Twitter ข้อความพูดถึงเรื่องของการแชร์ประสบการณ์ที่ได้จากการใช้ ChatGPT โดยผู้ใช้ Twitter ส่วนมากเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ มีความสอดคล้องกันกับช่วงอายุในข้อมูล Demographics คือผู้ที่อายุ 18-34 สูงถึง 78% ทั้งยังพบว่าผู้ที่ให้ความสนใจเทคโนโลยีแชตบอตเป็นผู้ชาย 73% และผู้หญิง 27%

หากพิจารณาเอ็นเกจเมนต์หลังเปิดตัวในช่วงกลางเดือน ม.ค. 2566 มีการพูดถึงความสามารถของ ChatGPT จากสื่อต่างประเทศ แล้วอินฟลูเอนเซอร์ (influencer) ประเทศไทยนำมาขยายต่อ เช่น การที่แชตบอตตัวนี้สอบใบอนุญาตทางการแพทย์ของอเมริกาได้ถูกต้อง 60%

ซึ่งโดยปกติคะแนนเฉลี่ยของผู้สอบผ่านจะอยู่ที่ 60% จึงจัดว่า ChatGPT สอบเป็นหมอได้ อีกทั้งยังสามารถสอบเข้ามหาวิทยาลัย Wharton ของสหรัฐอเมริกาได้ รวมไปถึงข่าว Microsoft เพิ่มทุนซื้อหุ้น ChatGPT จาก 1 พันล้านดอลลาร์ เป็น 1 หมื่นล้านดอลลาร์

จากนั้นช่วงเดือน ก.พ. 2566 มีการพูดถึง ChatGPT ที่อาจส่งผลกระทบอย่างสูงกับการค้นหาข้อมูลผ่าน Google (Google Search) Google จึงออกมาแถลงในบล็อกว่า Google เองก็มี AI แบบเดียวกัน ชื่อ Bard ซึ่งจะเปิดตัวเร็ว ๆ นี้ รวมถึง Baidu ที่มี ‘Ernie Bot’ ที่จะทดสอบเสร็จสิ้นภายใน มี.ค.นี้เช่นกัน

ในช่วงเดียวกันนี้เอง อินฟลูเอนเซอร์ในไทยก็มีการทดลองใช้และแชร์ประสบการณ์ผ่านสื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะใน Twitter ไม่ว่าจะเป็นการให้ ChatGPT แก้แกรมม่า ปรับรูปประโยคใหม่ด้วยอารมณ์ในการเขียนแบบต่าง ๆ เช่น เขียนแบบเป็นทางการ หรือเขียนแบบสุภาพ

แต่ต้องมีความสนิทชิดเชื้อ การแปลงภาษาของมนุษย์เป็นโค้ดโปรแกรมคอมพิวเตอร์ การแต่งเพลง การดูดวงด้วยศาสตร์ดูดวงดังของโลก และการปรึกษาในเชิงจิตวิทยา

และเริ่มมีการกล่าวถึงการใช้ประโยชน์จาก ChatGPT ที่เริ่มพลิกแพลงมากยิ่งขึ้น เช่น การที่นักเขียน 500 คนใช้ ChatGPT เขียนบทความ และวางขายใน Amazon กว่า 200 เล่ม หรือการผนวก ChatGPT เข้ากับแพลตฟอร์มอื่น เพื่อสร้างโครงการที่โต้ตอบ และเห็นจำนวนผู้เสียชีวิตได้ในโลกจักรวาลนิรมิต (metaverse)

จากกระแสการพูดถึง ChatGPT ในไทย พบว่า 73% พูดด้วยความรู้สึกเป็นกลาง แต่ผู้ที่พูดถึงในเชิงบวก (positive) หรือเชิงลบ (negative) ใกล้เคียงกัน คือ 13% และ 14% ตามลำดับ

โดยผู้ที่พูดถึงในเชิงบวกพูดในเชิงประโยชน์และความสามารถของ ChatGPT ไม่ว่าจะเป็นความสะดวกในการหาคำตอบที่ไวกว่า Google Search การช่วยวางแผนงาน และลดเวลาในการทำงาน ช่วยในงานเขียน การเป็นที่ปรึกษาทางด้านธุรกิจ กฎหมาย และจิตใจ การช่วยวิเคราะห์ข้อมูล ช่วยเขียนโค้ด ไปจนถึงสร้างสรรค์สิ่งใหม่ เช่น การแต่งเพลง การแต่งนิยาย การเขียนบทภาพยนตร์

ส่วนผู้ที่พูดถึงในเชิงลบจะเป็นเรื่องของความสามารถที่อาจใช้ทดแทนแรงงานมนุษย์ได้ และการนำ ChatGPT ไปใช้ในทางที่ผิด เช่น ทำการบ้านแทน การที่เด็กใช้ ChatGPT จนขาดการฝึกคิดวิเคราะห์ การที่สแกมเมอร์ ใช้ ChatGPT ช่วยคิดวิธีหลอกลวงผู้อื่น การช่วยแฮกเกอร์ แฮกโปรแกรม เกม หรือการที่ ChatGPT เริ่มตอบแบบมีอารมณ์และความรู้สึกคล้ายมนุษย์ ทำให้ดูน่ากลัว หากทำอะไรให้ไม่พอใจ

ล่าสุด แบรนด์เริ่มเกาะกระแส ChatGPT เพื่อช่วยเรื่องการทำการตลาด โดย McDonald’s เปิดตัวไก่ทอดรสชาติใหม่ตามคำตอบที่ได้จาก ChatGPT ในคำถามที่ว่า ไก่ทอดที่สมบูรณ์แบบต้องเป็นอย่างไร? แล้วแบรนด์ก็ผลิตไก่ทอดที่มีลักษณะเช่นนั้น!

น่าติดตามต่อว่าเทคโนโลยี ChatGPT หรือที่ Microsoft อัพเกรดเป็น GPT-4 ซึ่งทรงพลังยิ่งกว่าเดิมจะเปลี่ยนโลกได้จริงไหม ?