เปิดใจ “วทันยา อมตานนท์” เบื้องหลัง “เต่าบิน” ที่ไม่ได้บินง่าย ๆ

สัมภาษณ์

เมื่อพูดถึง ตู้ “เต่าบิน” คาเฟ่อัตโนมัติที่ถือได้ว่าประสบความสำเร็จด้วยยอดขายวันละกว่า 7 ล้านบาท หรือราว 2 แสนแก้วต่อวัน เฉลี่ย 40-50 แก้วต่อตู้ จากจุดเริ่มต้นเมื่อ 3 ปีก่อน วันนี้ “เต่าบิน” ในเครือ “ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น” มีแผนแต่งตัวเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เร็ว ๆ นี้ด้วย

“ประชาชาติธุรกิจ” มีโอกาสพูดคุยกับ “คุณตอง-วทันยา อมตานนท์” รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟอร์ท เวนดิ้ง จำกัด เกี่ยวกับเบื้องหลังการทำงานที่ท้าทายรอบด้าน ตั้งแต่การพัฒนาเทคโนโลยี การบริหารจัดการวัตถุดิบ การวางแผนการตลาด ไปจนถึงการปรับจูนการทำงานภายในองค์กร

เธอเป็นบุตรสาวคนโตของ “คุณพงษ์ชัย อมตานนท์” เจ้าของอาณาจักรฟอร์ทฯ มีดีกรีไม่ธรรมดา กับปริญญาตรีด้านวิศวกรรม จากอิมพีเรียล คอลเลจ ปริญญาโทด้านบริหารจาก University College London เคยมีประสบการณ์ในการทำงานกับบริษัทซอฟต์แวร์ยักษ์ใหญ่ระดับโลกไมโครซอฟท์ และเทคสตาร์ตอัพในอเมริกา

“ช่วงโควิดตั้งใจกลับมาเยี่ยมบ้าน แค่รู้สึกเริ่มเบื่อ อยากลองไปทำอะไรใหม่ ๆ เผอิญกลับมาแล้วมีโปรเจ็กต์น่าสนใจ คือตู้เวนดิ้งแมชีน ซึ่งดูแล้วคิดว่ามันไปได้ไกล ก็เลยเริ่มพัฒนา เริ่มโฟกัสว่าจะอยู่ไทยต่อ ทั้งที่ตอนแรกกะว่าจะกลับมาเที่ยวมาเยี่ยมบ้านเฉย ๆ”

เธอยอมรับว่าถ้าไม่กลับมาเยี่ยมบ้านที่เมืองไทย ในตอนนี้ก็คงวนเวียนทำงานอยู่ในบริษัทเทคโนโลยีต่างชาติ

“ไม่กับบริษัทสตาร์ตอัพ ก็เป็นบริษัทเทคใหญ่ ๆ เพราะโดยส่วนตัวชอบทำงานเกี่ยวกับนวัตกรรมใหม่ ๆ และอยู่ใกล้เคิร์ฟใหม่ ๆ”

ADVERTISMENT

ประสบการณ์ต่อยอดธุรกิจเจน 1

แต่เมื่อกลับมารับผิดชอบบุกเบิกธุรกิจใหม่ก็ได้นำความรู้ และประสบการณ์ในการทำงานกับเทคโนโลยีในต่างประเทศมาปรับใช้ โดยกตัวอย่างว่าบริษัทเทคโนโลยีต่างประเทศจะโฟกัส “อินโนเวชั่น”

วทันยา อมตานนท์ วทันยา อมตานนท์

ADVERTISMENT

การออกผลิตภัณฑ์มีหลักคิดที่ว่าจะต้องนำสมัยกว่าคนอื่นเสมอ “ตู้เต่าบิน” จึงไม่หยุดพัฒนาสิ่งใหม่ ไม่เฉพาะตู้ (ฮาร์ดแวร์) แต่ให้ความสำคัญกับการลงทุนพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ ด้วยการมีทีมงานภายในขึ้นมารับผิดชอบด้านการวิจัย และพัฒนา มีการนำระบบ “แมชีนเลิร์นนิ่ง” มาช่วยลดต้นทุน

ควบคู่ไปกับการมองความต้องการของ “ลูกค้า” เป็นตัวตั้ง รับฟังฟีดแบ็ก ลูกค้าเพื่อนำมาปรับปรุงพัฒนาสินค้า และบริการต่อเนื่อง

“บริษัทเราทำด้านเทคโนโลยีแต่แรกอยู่แล้ว แต่ส่วนใหญ่เป็นงานโปรเจ็กต์ เช่น ระบบไฟจราจร ฉะนั้นการสร้างแบรนด์จึงเป็นเรื่องสำคัญ อย่างแรกนอกจากเรารู้จุดแข็งของเราว่า คือนวัตกรรม ก็ต้องมาดูต่อว่าลูกค้าเป็นใคร ถึงมาเริ่มสร้างแบรนด์ ทำโลโก้ ให้โดดเด่น ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายทำให้สื่อสารเข้าใจง่าย และเป็นที่น่าจดจำ”

ที่มาแบรนด์-ลูกค้าเป้าหมาย

ที่มาของแบรนด์เป็นชื่อที่จู่ ๆ ก็นึกขึ้นมาได้เอง ซึ่งเหมาะกับการเป็นตู้ชงเครื่องดื่มที่ต้องใช้เวลาชง แต่เมื่อใครได้ลองก็จะรู้สึกว่า “อร่อยเหาะ” จึงกลายมาเป็น “เต่าบิน”

ความดังของ “เต่าบิน” วันนี้ อาจทำให้หลายคนมองว่า ประสบความสำเร็จแล้ว แต่เธอบอกว่าผ่านอุปสรรคมาไม่ใช่น้อย

“หลายคนอาจเห็นว่า ตู้หน้าตาเดิม ๆ มาตลอด 3 ปี แต่ความจริงแล้วข้างในเปลี่ยนโมดูลมา เกิน 20 โมดูล กว่าจะเริ่มคงที่ และพัฒนามาได้ขนาดนี้ มีปัญหาที่ต้องปรับปรุงหลายอย่าง ยกตัวอย่างหลายคนที่ได้มีโอกาสทานเต่าบินรุ่นแรก ก็จะสังเกตว่าเครื่องดื่มแต่ละแก้ว ใช้เวลานานกว่านี้มากกว่าจะเสร็จ และยังทำเมนูปั่นไม่ได้ด้วย”

ปรับจูนการสื่อสารลดช่องว่าง

วันแรกของ “เต่าบิน” จึงไม่ใช่เกิดมาแล้วบินได้เลย แต่มีการพัฒนามาเรื่อย ๆ

“เราต้องการจับกลุ่มแมส อยากให้ทุกคน ทานเครื่องดื่มจากตู้เราได้ แต่ลูกค้ากลุ่มแรก ๆ จะเป็น first adoption เพราะเป็นเทคโนโลยีก็จะมีความยากระดับหนึ่งสำหรับเด็กที่เล็กมาก ๆ หรือผู้สูงอายุ ทาร์เก็ตจึงเริ่มที่กลุ่มนั้นก่อน

เป็นที่มาว่าทำไมเราถึงสร้างโลโก้ และแบรนด์ที่ฟังแล้วต้องหันมาดูว่า เอ๊ะ เต่าบินอะไรนะ”

ในแง่การทำงานในฐานะที่เป็นผู้บริหารรุ่นใหม่ ทายาทรุ่นที่ 2 ของตระกูลอมตานนท์ แห่งฟอร์ท คอร์ปอเรชั่นในบริษัทเก่าแก่ในวงการเทคโนโลยีเมืองไทย “เธอ” ยอมรับว่าในช่วงแรกก็มีปัญหาบ้างในเรื่องการสื่อสารกับผู้บริหารรุ่นก่อน

“ก็ต้องพยายามอธิบายให้เข้าใจว่ามุมมองของเราเป็นอย่างนี้ ใช้แบ็กอัพข้อมูลต่าง ๆ มาอธิบาย เด็กหลายคนจะคิดว่า ผู้ใหญ่ไม่ยอมรับ แต่โดยส่วนตัวมองว่าความจริงแค่บางทีเขาไม่เข้าใจมากกว่า แต่พออธิบายก็จะเริ่มเห็นภาพและเริ่มเข้าใจ ไม่ใช่ว่าเขาจะฟิกซ์ไมนด์เซตไม่ยอมรับฟังความคิดของเรา”

วิธีที่เธอใช้ คือจะบอกว่า ขอลองทำก่อน ถ้าไม่ได้เดี๋ยวปรับให้เป็นเหมือนเดิม

“วิธีนี้ช่วยได้มาก พูดในแนวของการเป็นเด็กด้วยความนอบน้อม ขอลองแล้วเป็นยังไงก็ว่ากันอีกที”

เต่าบินก่อน-หลังโควิด

ในช่วงโควิด จะเน้นติดตั้งตู้ในย่านที่พักอาศัย เช่น คอนโดฯ แต่ปัจจุบันเริ่มโฟกัสที่สำนักงาน, โรงงานเพิ่มขึ้น เพราะคนเริ่มออกมาทำงานข้างนอก ปัจจุบันมีเกือบ 5,000 ตู้ มียอดขายเฉลี่ย 40-50 แก้ว/ตู้/วัน ตามเป้า ขึ้นอยู่กับพื้นที่ถ้าค่าเช่าไม่แพงวันละ 30 แก้วก็อยู่ได้

“เราลงทุนกับซอฟต์แวร์ และฮาร์ดแวร์ ทำให้บริหารต้นทุนของเราให้ต่ำลงได้ ส่วนรื่องการตั้งราคา ผสมหลายอย่างทั้งเรื่องเทศกาล, โปรโมชั่นต่าง ๆ สำคัญที่สุดคือสามารถคุมต้นทุนในการจัดการได้ ซึ่งไม่เกี่ยวกับวัตถุดิบ ถ้าไม่ไหวจริงก็ต้องปรับ แต่ข้อดีอย่างหนึ่งที่ทำให้เราไม่ต้องขึ้นราคาเครื่องดื่มในขณะที่ทุกคนขึ้น เพราะประสิทธิภาพของตู้เพิ่มมากขึ้น”

กว่าจะเป็น “เมนู” ขายดี

“วทันยา” บอกว่า “เต่าบิน” พัฒนาเมนูเครื่องดื่ม โดยเริ่มจาก “กาแฟ และชา” ก่อน แต่เมนูที่ขายดีที่สุดเป็นกลุ่มโซดา

“ตองว่ามันเป็นเรื่องของการทดลอง บางทีการไปคาดเดาว่าอะไรจะขายดีค่อนข้างยากนิดนึง ดังนั้นเรื่องการทดลอง ถ้าไม่เหลือบ่ากว่าแรง หรือไม่แพงเกินไป ถ้าได้ลองหลายอย่างก็จะดี การทดลองทำให้บางทีเราเจออะไรที่ไม่ได้มองออกตั้งแต่แรก เช่น เมนูโซดาดันขายดี ทั้ง ๆ ที่เราคิดว่ากาแฟกับชาน่าจะขายดีอันดับหนึ่ง เรื่องเงินต่อแก้ว กาแฟกับชาขายได้แพงสุด แต่จากวอลุ่ม โซดาได้เงินมากที่สุด”

สำหรับก้าวต่อไปของ “เต่าบิน” ในแง่การพัฒนาสินค้าและบริการก็จะพยายามทำให้มีความเสถียรมากขึ้น และขยายตลาดไปในต่างประเทศ เริ่มจากไปประเทศเพื่อนบ้านก่อน เพราะดูแลได้ทั่วถึง มีปัญหาอะไร อะไหล่ก็ส่งไปได้ง่าย

“ประเทศแรกน่าจะเริ่มจากมาเลเซียที่มีการเซ็นสัญญาไปเรียบร้อยแล้ว ประเทศถัดไปที่ดูอยู่ คือ สิงคโปร์”

“วทันยา” พูดถึงการขยายไปต่างประเทศด้วยว่า ไม่ใช่แค่การยกตู้“เต่าบิน” ไปตั้งแล้วเปิดเครื่องก็ใช้ได้เลย แต่ยังมีเรื่องการจัดการเซิร์ฟเวอร์ เรื่องระบบชำระเงิน และเรื่องของภาษา รวมไปถึง “เมนู” ต่าง ๆ ที่จะต้องมีความเป็นท้องถิ่นในประเทศนั้น ๆ ด้วย

“ประเทศที่จะไปชอบอะไร รสชาติแบบไหน รวมถึงการบริหารทรัพยากรวัตถุดิบ ก็เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก ๆ”

เพราะข้อดีที่ถือเป็น “จุดขาย” สำคัญของ “เต่าบิน” คือเรื่องรสชาติที่เหมาะกับพื้นที่นั้น ๆ ในราคาที่ต้องเข้าถึงได้

เป้าหมายและสิ่งที่อยากบอก

สำหรับเป้าส่วนตัวที่ตั้งไว้น่าจะเป็นเรื่องของ “สิ่งแวดล้อม” คือจะทำอย่างไรได้บ้างเพื่อลดขยะ ลดพลาสติกทั้งหลายที่สร้างขึ้นมา

“ตอนนี้ยังพยายามหาวิธีการอยู่ เราจะหาพลาสติกที่เป็นเกรดไบโอจากที่ไหนได้บ้างในราคาที่เมกเซนส์ ไม่ต้องขึ้นราคากับผู้บริโภค เพราะตอนนี้สิ่งที่เราหลายคนอาจไม่ทราบ คือ เรื่องคาร์บอนฟุตพรินต์ ในแต่ละแก้วของเราเมื่อเทียบกับคาเฟ่ ต่ำกว่ามากแล้ว เพราะไม่ต้องมีการเดินทาง ไม่ต้องมีขยะที่ต้องทิ้งในการทำแต่ละแก้ว กับน้ำแข็งที่ต้องละลาย หรือการเปิดปิดตู้เย็น ที่เหลืออยู่ คือเรื่องขยะที่เรายังสร้าง ในการซื้อแก้วแต่ละแก้วเลยยังพยายามดูอยู่ เป้าหมายของตองคือพยายามทำให้ดีกว่านี้”

เมื่อถามว่าอะไรคือสิ่งที่อยากบอกคนรุ่นใหม่ที่อยากมีธุรกิจของตนเอง

“มันใช้ความอดทน และความอุตสาหะแบบสูงมาก ๆ สูงสุด ๆ เลยก็ความสำเร็จไม่ได้เกิดขึ้นเพียงข้ามคืน หลายคนจะคิดว่ามันจะเร็วกว่าที่ตัวเองคิดเยอะมาก ทำให้ไม่ได้เตรียมเงินทุน หรือเตรียมตัวไว้อย่างเพียงพอ ทำให้ไปต่อไม่ได้ไกล ต้องมีการวางแผน และเตรียมตัวค่อนข้างมาก แต่ที่สำคัญที่สุดแผน ไม่ควรจะฟิกซ์ ควรปรับตัวไปตามสภาพที่เรียนรู้มา ข้อมูลใหม่ ๆ ที่เข้ามาเสมอ”

สำหรับเธอมองว่า สิ่งที่จะทำขึ้นมา ไม่จำเป็นเสมอไปว่าต้องเป็นไอเดียใหม่ อย่างตู้กาแฟอัตโนมัติเกิดขึ้นมาไม่รู้กี่ปีแล้ว เป็นเทคโนโลยีเก่า แต่หยิบขึ้นมาทำใหม่ โดยไม่ลืมที่จะถามตัวเองว่า “ทำได้ดีที่สุดแล้วหรือยัง” เราดีกว่าคนอื่นแล้วจริงหรือ อันนี้สำคัญที่สุด

“อย่าหลอกตัวเองคิดว่าโปรดักต์ของเราเยี่ยมที่สุด ดีที่สุดแล้ว”